ยื่นภาษีต้นปี 2563 กับ 10 คำถามที่พบบ่อย

ทั่วไป

สำหรับใครที่เพิ่งยื่นภาษี 2562 (ยื่นภาษีต้นปี 2563) เป็นครั้งแรก และยังไม่แน่ใจว่าจะต้องเริ่มต้นจากตรงไหน มีคำถามที่ดังในใจเต็มไปหมด วันนี้ iTAX จึงรวมหลากคำถามที่คนยื่นภาษีครั้งแรกมักจะสงสัย และสอบถามกันเข้ามาบ่อยๆ เพื่อให้คุณสามารถ ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2562 ได้อย่างถูกต้องที่สุด

1. เงินได้ คืออะไร?

กฎหมายบอกว่า เงินได้ คือ อะไรก็ได้ที่มีผลทำให้เรารวยขึ้น หรือหากจะอยากเข้าใจง่ายกว่านั้น ก็ต้องบอกว่า เงินได้ ก็คือ รายได้ที่เราได้รับจากการทำงาน ขายของ ฯลฯ และไม่ว่าคุณมีรายได้ในรูปแบบของเงินสด, ทรัพย์สินที่ตีราคาได้, สิทธิประโยชน์ที่ตีราคาได้, เงินค่าภาษีที่มีคนจ่ายแทนเรา หรือ เครดิตเงินปันผล ฯลฯ ล้วนเป็นถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนดทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่า จะมีกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่า รายได้ของคุณได้รับการยกเว้นภาษี

เพิ่มเติมที่ เงินได้

2. ใบ 50 ทวิ คืออะไร หาได้จากที่ไหน?

ใบ 50 ทวิ หรือ หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย คือ เอกสารที่จะถูกใช้เป็นหลักฐานว่า การรับเงินของคุณนั้นถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบุคคลที่คุณสามารถขอใบ 50 ทวิ หรือ หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายนั้น ก็คือ บริษัท หรือ คนที่จ่ายเงินค่าจ้างให้คุณนั่นแหละ

นั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะมีรายได้จากการทำงานประจำเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือ เป็นฟรีแลนซ์ หรือประกอบอาชีพอิสระ ทุกครั้งที่ได้รับเงินจากบริษัทหรือผู้ว่าจ้าง จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และต้องได้รับใบ 50 ทวิเหมือนกันทั้งหมด เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า

กรณีทำงานประจำ
  • ถ้าทำงานจนถึงสิ้นปี นายจ้างหรือบริษัทจะต้องออกใบ 50 ทวิให้แก่ลูกจ้างภายในวันที่ 15 ก.พ. ปีถัดไป
  • ถ้าออกจากงานระหว่างปี นายจ้างหรือบริษัทจะต้องออกใบ 50 ทวิ ให้แก่ลูกจ้างภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน
กรณีเป็นคนทำงานอิสระ หรือมีรายได้อื่นๆ
  • กรณีที่เป็นฟรีแลนซ์ ประกอบอาชีพอิสระ หรือรายได้อื่นๆ คุณจะต้องได้รับใบ 50 ทวิทุกครั้งที่มีการรับเงิน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินหรือผู้ว่าจ้าง ต้องออกใบ 50 ทวิ ให้ผู้รับเงิน หรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทันที

เราอยากจะย้ำไว้ตรงนี้ว่า ใบ 50 ทวิ หรือ หนังสือหัก ณ ที่จ่าย เป็นเอกสารสำคัญที่จะช่วยให้คุณเตรียมภาษี หรือ ยื่นภาษีได้ง่ายขึ้น เพราะคุณสามารถนำตัวเลขที่ระบุในเอกสาร (ทั้งรายได้ที่ได้รับทั้งปีและภาษี ณ ที่จ่ายที่ถูกหักสะสม) มาใช้ในการคำนวณภาษี หรือ ยื่นภาษีได้ทันที

เพิ่มเติม ใบ 50 ทวิ

3. เลขประจำตัวผู้เสียภาษี คือเลขอะไร หาได้จากไหน?

เลขประจำตัวผู้เสียภาษี คือ เลขที่กรมสรรพากรกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานในการบริหารจัดเก็บภาษี โดยเลขประจำตัวผู้เสียภาษีในปัจจุบัน สามารถแยกออกได้เป็น

ผู้เสียภาษี เลขประจำตัวผู้เสียภาษี คือ
บุคคลธรรมดา
  • เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
  • เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก ที่ออกโดยกรมสรรพากร
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เลขทะเบียนนิติบุคคล ที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ห้างหุ้นส่วน หรือ คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก ที่ออกโดยกรมสรรพากร
กิจการร่วมการค้า (Join Venture) เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก ที่ออกโดยกรมสรรพากร

ส่วนใครที่ไม่แน่ใจว่าจะไปหาเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทหรือบุคคลที่จ่ายเงินค่าจ้างให้เราได้จากไหนก็ไม่ต้องเครียดไป เพราะเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทหรือผู้ว่าจ้างนั้น จะถูกระบุอยู่ในหนังสือหัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ที่คุณได้รับทุกๆ สิ้นปี หรือ เมื่อมีการจ่ายเงินค่าจ้างแก่คุณ โดยคุณสามารถกวาดสายตาหาได้จากส่วนบนของเอกสารหัก ณ ที่จ่าย หรือ จำไว้ให้ขึ้นใจว่า

  • ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย คือ บริษัท, ผู้ว่าจ้าง, ผู้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่เรา
  • ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย คือ บุคคลที่ได้รับเงินค่าจ้าง (ตัวเรา)

เพิ่มเติมที่ : ผู้เสียภาษี , www.rd.go.th

4. หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ต้องยื่นภาษีอีกมั้ย?

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า เมื่อรายได้ของเราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ก็หมายความว่า เราได้ทำการจ่ายภาษีเสร็จสิ้นแล้ว หรือ เข้าใจว่า ผู้ว่าจ้างได้ทำการจ่ายภาษีให้เราเรียบร้อยแล้ว และไม่ต้องทำการยื่นภาษีอีกแล้ว แต่ความเป็นจริงคือ

รายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น เป็นเพียงการจ่ายภาษีล่วงหน้าส่วนหนึ่งเท่านั้น และคุณยังมีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีเหมือนเดิม

และการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ได้เป็นการการันตีว่า คุณจะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หรือ ได้รับเงินคืนภาษี เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่า ตลอดทั้งปีคุณมีรายได้เท่าไหร่? รายได้ของคุณถึงเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดให้จ่ายภาษีหรือไม่? และคุณใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอะไรไปบ้าง เป็นต้น

รู้แบบนี้แล้ว สำหรับการยื่นภาษีประจำปีภาษี 2562 (ยื่นต้นปี 2563) เราแนะนำให้คุณเตรียมเอกสารหลักฐานที่แสดงว่า รายได้ของคุณถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้ครบถ้วน พร้อมกับทำการยื่นภาษีให้เรียบร้อย

เพิ่มเติม : หักภาษี ณ ที่จ่าย , ทำไมถึงถูกหักภาษี

5. ภ.ง.ด. 90 กับ ภ.ง.ด. 91 คืออะไร?

สำหรับการกรอกแบบฟอร์มแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น คุณไม่สามารถเลือกกรอกฟอร์มยื่นภาษีได้ตามความชอบใจ แต่จะต้องกรอกแบบฟอร์มตามแหล่งที่มาของรายได้ที่คุณได้รับในปีนั้น พูดง่ายๆ คือ

  • ภ.ง.ด. 90 คือ แบบฟอร์มแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้เสียภาษีที่มีรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากการทำงานประจำหรือเงินเดือน นั่นหมายความว่า หากในปีที่ผ่านมาคุณมีรายได้จากการทำงานอื่น ที่นอกเหนือจากงานประจำ ภ.ง.ด. 90 คือแบบฟอร์มภาษีที่เหมาะกับคุณ
  • ภ.ง.ด. 91 คือ แบบฟอร์มแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้เสียภาษีที่มีรายได้จากการทำงานประจำหรือเงินเดือนเพียงอย่างเดียว นั่นหมายความว่า หากในปีที่ผ่านมาคุณทำงานประจำอย่างเดียว ไม่ได้รับงานนอก หรือไม่ได้มีรายได้หลายทาง ภ.ง.ด. 91 คือแบบฟอร์มภาษีที่เหมาะกับคุณ

ส่วนผู้เสียภาษีที่กลัวว่าจะสับสนเมื่อถึงเวลาที่จะต้องกรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี กลัวจะจำไม่ได้ว่ารายได้ของเราต้องกรอก ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 หรือกลัวยื่นภาษีผิดพลาด คุณสามารถเลือกเตรียมแบบฟอร์มภาษีกับ app iTAX ได้ เพราะเพียงคุณทำการกรอกรายได้ที่ได้รับทั้งปีตามความจริง ระบบจะทำการจัดเตรียมแบบฟอร์มภาษีที่ถูกต้องให้คุณโดยที่คุณไม่ต้องปวดหัวเองเลย ที่สำคัญ ใช้ฟรี!

6. เป็นเด็กจบใหม่ทำงานไม่ถึงปี ต้องยื่นภาษีมั้ย?

ถือเป็นคำถามสุดฮิตที่มักจะเจอได้บ่อยๆ เราขอบอกตรงนี้เลยว่า การยื่นภาษีและเสียภาษีเป็นสิ่งที่ทุกคนที่มีรายได้จะต้องทำอยู่แล้ว และการยื่นภาษีไม่ได้เกี่ยวกับอายุ หรือ ระยะเวลาการทำงาน นั่นหมายความว่า

ต่อให้คุณเป็นเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน และมีอายุงานยังไม่ครบ 1 ปี เมื่อถึงเวลาก็ต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีเหมือนผู้มีรายได้คนอื่นๆ

ส่วนใครที่กำลังคิดว่า สรรพากรจะรู้ได้อย่างไรว่าตลอดทั้งปีที่ผ่านมาเรามีรายได้เท่าไหร่? iTAX ขอบอกว่า สรรพากรมีข้อมูลรายได้ของคุณอยู่แล้ว เพราะทุกๆ ครั้งที่บริษัททำการหัก ณ ภาษีที่จ่ายไว้ บริษัทที่ว่าจ้างคุณจะต้องส่งข้อมูลการหัก ณ ที่จ่ายให้สรรพากร ตามที่กฎหมายกำหนด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สรรพากรรู้ได้ไม่ยากว่า คุณมีรายได้เท่าไหร่ ได้รับเงินจากบริษัทหรือนายจ้างคนไหนบ้าง

ส่วนใครที่มั่นใจว่า สรรพากรไม่มีทางรู้แน่นอนว่าคุณมีรายได้เท่าไหร่ เพราะเลือกวิธีรับเงินค่าจ้างเป็นเงินสด หรือเลือกรับเงินแบบไม่หัก ณ ที่จ่าย เราอยากจะบอกว่า อย่าประมาทสรรพากรเกินไป เพราะต่อให้ค่าจ้างของคุณไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่บริษัทที่ทำการว่าจ้างคุณจะต้องทำการส่งรายการค่าใช้จ่ายของบริษัทให้สรรพากร (ซึ่งข้อมูลค่าใช้จ่ายบริษัทย่อมระบุถึงเงินค่าจ้างของคุณด้วย) นั่นหมายความว่า ต่อให้เงินที่คุณได้รับจะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สรรพากรก็รู้ได้ไม่ยากว่า คุณได้รับรายได้จากบริษัทไหน เท่าไหร่บ้าง

และสิ่งหนึ่งที่คุณต้องรู้ก็คือ หากคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ทำการยื่นภาษีให้เรียบร้อย คุณจะมีความผิดตามกฎหมาย และต้องเผชิญหน้ากับโทษปรับทางอาญาสูงสุด 200,000 บาท จำคุกสูงสุด 1 ปี และอาจจะต้องเจอกับค่าปรับและเงินเพิ่มด้วย

เพิ่มเติมที่ บทลงโทษ

7. ถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี ต้องยื่นภาษีอยู่มั้ย?

หลายๆ คนมักจะเข้าใจผิดว่า การยื่นภาษีกับการเสียภาษีคือเรื่องเดียวกัน หรือไม่ก็เข้าใจว่า เมื่อเวลาที่ต้องยื่นภาษีมาถึง ก็เท่ากับว่า เราต้องทำการจ่ายภาษีด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การที่คุณต้องยื่นภาษี ไม่ได้แปลว่า คุณจะต้องเสียภาษีแต่อย่างใด เพราะ

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีทุกคน และเป็นสิ่งที่ต้องทำแม้ว่ารายได้ของคุณจะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การยื่นภาษีเป็นเพียงการแสดงรายได้ที่ได้รับมาตลอดทั้งปีเท่านั้น (ปกติการยื่นภาษีจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี)

การเสียภาษี

เป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ซึ่งคุณจะต้องเสียภาษีก็ต่อเมื่อมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท เท่านั้น ซึ่งสามารถคำนวณได้ง่ายๆ โดย

เงินได้ตลอดทั้งปี – ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ฿100,000 – ค่าลดหย่อนส่วนตัว ฿60,000 = เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี

หมายเหตุ

  • หากคุณทำการคำนวณหาเงินได้สุทธิแล้วพบว่า เงินได้สุทธิของคุณไม่เกิน 150,000 บาท ก็เท่ากับว่า คุณมีหน้าที่ในการยื่นภาษีเท่านั้น ไม่มีหน้าที่เสียภาษีแต่อย่างใด
  • แต่หากคำนวณเงินได้สุทธิแล้วพบว่า คุณมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท คุณมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

เพิ่มเติมที่ ค่าภาษีตามฐานเงินเดือน , คำนวณภาษี

8. มีรายได้แต่ไม่ยื่นภาษีได้มั้ย?

สำหรับคำถามนี้ เราบอกให้เลยว่า “ไม่ได้” เพราะเมื่อคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ยื่นภาษี เมื่อถึงเวลาคุณจะต้องทำการแสดงแบบเงินได้ภาษีบุคคลธรรมดาแม้ว่าคุณอาจจะมีรายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็ตาม

และในกรณีที่มีรายได้แต่ไม่ต้องยื่นภาษีนั้น สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อ คุณมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 10,000 บาท หรือ มีรายได้รวมทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท เท่านั้น

เพิ่มเติมที่ เงินเดือนเท่าไหร่ไม่ต้องเสียภาษี

9. ยื่นภาษีไว แต่ทำไมได้เงินคืนภาษีช้า?

สำหรับคนที่ได้รับเงินคืนภาษี อาจจะรู้สึกว่า ทำไมเงินคืนภาษีที่ได้รับคืนจากกรมสรรพากรถึงโอนเข้าพร้อมเพย์ช้า ไม่รวดเร็วทันใจ ไม่เหมือนตอนที่เรายื่นภาษีบ้างเลย เราอยากจะบอกว่า สาเหตุที่ทำให้คุณได้เงินคืนภาษีช้านั้นมีอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น

  • ยื่นภาษีไม่ครบ เช่น กรอกรายได้ไม่ครบถ้วน ทำให้สรรพากรต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบก่อนว่า รายได้ที่คุณยื่นมานั้น ตรงกับข้อมูลที่สรรพากรมีหรือไม่
  • เอกสารไม่ครบ เพราะเอกสารคือหลักฐานที่ยืนยันรายได้ และการใช้สิทธิค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ ของคุณ ดังนั้น การเตรียมเอกสารให้ครบแต่เนิ่นๆ จะช่วยร่นระยะเวลาการรอคอยเงินคืนภาษีของคุณได้
  • พร้อมเพย์ (PromptPay) การขอคืนเงินภาษีผ่านพร้อมเพย์จะช่วยให้คุณได้รับเงินคืนภาษีเร็วขึ้น แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องเป็นพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนเท่านั้นนะ

หมายเหตุ ข่าวล่าสุดสรรพากรบอกว่า หากคุณทำการยื่นภาษีผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 เมษายน), ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน และ ไม่มีการตรวจพบว่าเลี่ยงภาษีหรือแสดงรายได้ หากคุณทำการยื่นภาษีได้ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขของสรรพากร คุณจะได้รับเงินคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ภายใน 3 วันเท่านั้น!!

เพิ่มเติม : สรรพากรคืนเงินภาษีช้า , ยื่นภาษีออนไลน์ สรรพากรคืนเงินภาษี ผ่านพร้อมเพย์ ภายใน 3 วัน

10. ยื่นภาษีผิด ยื่นใหม่ได้ไหม?

ในกรณีที่คุณยื่นภาษีไปแล้ว แต่นึกขึ้นได้ว่า มีรายการลดหย่อนภาษีบางรายการที่ไม่ได้กรอก หรือ กรอกรายการเงินได้ไม่ครบ ฯลฯ ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะคุณสามารถทำการยื่นภาษีใหม่ได้ด้วยการ เริ่มต้นยื่นภาษีใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง

กรณียื่นภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต

ในกรณีนี้คุณสามารถกรอกข้อมูลใหม่ ซึ่งระบบจะเตือนว่า คุณทำการยื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว ให้เลือก “การยื่นเพิ่มเติม” จากนั้นทำการแก้ไขเป็นข้อมูลรายได้ที่ถูกต้องได้เลย แต่ในกรณีที่คุณทำการยื่นภาษีเพิ่มเติม เราอยากให้คุณทำการตรวจสอบรายละเอียดทุกอย่างให้ดีอีกครั้ง รวมถึง ความถูกต้องของจำนวนภาษีที่ถูกหักไว้เพิ่มเติมด้วย

ยื่นภาษีผิด แต่ได้เงินคืนภาษีแล้ว

ส่วนใครที่ยื่นภาษีผิดและได้รับเงินคืนภาษีจากสรรพากรเรียบร้อยแล้วแต่พบว่า

  • ได้รับเงินคืนภาษีมากกว่า ในกรณีนี้เราแนะนำให้คุณติดต่อกับเจ้าหน้าที่สรรพากรเขตพื้นที่สาขา เพื่อแจ้งความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จากนั้นสรรพากรจึงจะพิจารณาคืนเงินภาษีตามการยื่นภาษีครั้งใหม่ของคุณ
  • ได้รับเงินคืนภาษีน้อยกว่า ในกรณีนี้ไม่ต้องตกใจไป เพราะหลังจากที่เจ้าหน้าที่สรรพากรพิจารณาแบบแสดงรายการภาษีที่คุณยื่นแก้ไขไปแล้วนั้น เจ้าหน้าที่สรรพากรจะทำการโอนเงินคืนภาษีในส่วนที่เหลือให้คุณอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องที่ต้องรู้
  • ยื่นภาษีใหม่กี่ครั้งก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบเวลา เมื่อยื่นภาษีผิด คุณสามารถทำการยื่นภาษีใหม่ได้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาการยื่นภาษี (ยื่นแบบกระดาษได้ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2563 , ยื่นภาษีผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 เมษายน)
  • ยื่นภาษีผิด เงินคืนภาษีก็ช้าไปด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ต้องทำการตรวจสอบแบบภาษีที่คุณยื่นใหม่อีกครั้ง จึงทำให้เงินคืนภาษีที่คุณจะได้รับก็ช้าลงไปด้วยนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากคุณไม่อยากให้การยื่นภาษีของคุณมีปัญหา หรือ ไม่อยากพบกับการคำนวณภาษีผิดพลาด คุณสามารถเลือกใช้บริการคำนวณภาษีจาก iTAX ได้ เรากล้ารับรองว่า คุณจะไม่ปวดหัวกับภาษี แม้จะไม่มีความรู้เรื่องภาษีก็ตาม (โหลดฟรีทั้ง iOS และ Android)

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)