กำหนดการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ประจำปีภาษี 2562

ทั่วไป

125,052 VIEWS

หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ประกอบอาชีพอิสระ นอกจากจะต้อง ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกๆ ปีแล้ว คุณจะต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ด้วย ส่วนคุณจะเป็นหนึ่งในคนที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 94 ด้วยหรือไม่ เช็กลิสต์กันเลย

กำหนดการยื่นภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด. 94 ประจำปีภาษี 2562

ผู้เสียภาษีที่มีเงินได้เข้าข่ายต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) สามารถยื่นแบบพร้อมชำระภาษีได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 และสามารถทำการยื่นแบบพร้อมชำระภาษีออนไลน์ได้ที่ www.rd.go.th จนถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2562

ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ?

ผู้ที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) คือ ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน ของทุกปี (ไม่รวมรายได้จากงานประจำ) เกิน 60,000 บาทสำหรับกรณีโสด หรือในกรณีมีคู่สมรสจะต้องมีรายได้รวมกันเกิน 120,000 บาท และจะต้องเป็นเงินได้ที่เข้าข่ายเงินได้ประเภทต่างๆ ต่อไปนี้

เงินได้ประเภทที่ 5 (เงินได้ 40 (5))

คือ รายได้ที่มาในรูปแบบของค่าเช่า (ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ได้รับจากทรัพย์สินใดๆ ก็ตาม), การผิดสัญญาเช่า เป็นต้น หากคุณมีรายได้ (มาตรา 40 (5) ประมวลรัษฎากร) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เงินได้ประเภทที่ 5)

เงินได้ประเภทที่ 6 (เงินได้ 40 (6))

คือ รายได้หรือค่าตอบแทนที่ได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ 6 อาชีพ ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์ (มาตรา 40 (6) ประมวลรัษฎากร) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เงินได้ประเภทที่ 6)

เงินได้ประเภทที่ 7 (เงินได้  40 (7))

คือ รายได้ที่มาในรูปแบบของค่ารับเหมาที่ผู้เสียภาษีต้องทำหน้าที่จัดหาเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ค่าแรง ค่าเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และค่าของต่าง (ตามมาตรา 40 (7) ประมวลรัษฎากร) (อ่านเพิ่มเติมที่ เงินได้ประเภทที่ 7)

เงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้ 40 (8))

คือ เงินได้ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี และไม่ถูกจัดให้อยู่ในเงินได้ประเภทอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เช่น รายได้ที่ได้รับจากขายของออนไลน์, เปิดร้านอาหาร, กำไรที่ได้จากการของกองทุน LTF/RMF เป็นต้น (ตามมาตรา 40(8) ประมวลรัษฎากร) (อ่านเพิ่มเติมที่ เงินได้ประเภท 8)

ผู้มีเงินได้

มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (5) – (8) แห่งประมวลรัษฎากร (ม.ค. – มิ.ย.)

ผู้ยื่นแบบฯ
คนโสด เกิน 60,000 บาท ผู้มีเงินได้
คู่สมรสที่มีเงินได้ฝ่ายเดียว หรือ สองฝ่ายรวมกัน เกิน 120,000 บาท ผู้มีเงินได้
กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง เกิน 60,000 บาท ผู้จัดการมรดก/ ทายาท/ ผู้ครอบครองมรดก
ห้างหุ้นส่วนสามัญ เกิน 60,000 บาท ผู้จัดการ / ผู้อำนวยการห้างหุ้นส่วนสามัญ
คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล เกิน 60,000 บาท ผู้จัดการของคณะบุคคล

ส่วนผู้เสียภาษีท่านอื่นๆ ที่เช็กตัวเองเรียบร้อยแล้วว่า เงินได้ที่ได้รับมานั้นไม่เข้าข่ายเงินได้ 4 ประเภทข้างต้นก็วางใจได้เลย เพราะคุณไม่จำเป็นต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) และเตรียมวางแผนภาษีสำหรับการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี ในช่วงต้นปี 2563 ได้เลย

ยื่นภาษีครึ่งปี ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้มั้ย?

สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีนั้น ผู้เสียภาษีจะยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เหมือนเดิม เพียงแต่เงื่อนไขอาจจะแตกต่างกันไปสักเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็น

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)

2. ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) – (4) หักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)

3. ค่าลดหย่อนคู่สมรส กรณีที่คู่สมรสมีเงินได้ ตามมาตรา 40 (5) – (8)

3.1 ยื่นภาษีรวมกัน ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัวได้ 30,000 บาท และสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนคู่สมรสได้ 30,000 บาท

3.2 ในกรณีแยกยื่น สามารถหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท และจะไม่สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีคู่สมรสได้

4. ค่าลดหย่อนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท) โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร แต่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้ในกรณีที่บุตรมีอายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาในชั้นมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษาเท่านั้น

5. ค่าลดหย่อนบิดามารดาตนเอง สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท) และมีข้อแม้ว่า บิดามารดาจะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาท

6. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)

7. ค่าเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สำหรับส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท และสามารถหักลดหย่อนได้ครึ่งเดียวของค่าเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน (ไม่เกิน 5,000 บาท) ส่วนที่เกินจาก 10,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่เกิน 90,000 บาท

เช่น คุณจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 จำนวน 30,000 บาท หากคุณยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 จะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 25,000 บาท ( 10,000 บาทแรกใช้ลดหย่อนภาษีได้ครึ่งนึงคือ 5,000 บาท และลดหย่อนภาษีส่วนที่เกิน 10,000 บาท คือ 20,000 บาท  เมื่อนำ 5,000 + 20,000 = 25,000 บาท)

8. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

9. ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามยอดที่จ่ายจริง (จ่ายระหว่างเดือน มกราคม – มิถุนายน) แบ่งออกเป็น

9.1 ส่วนที่จ่ายไม่เกิน 10,000 บาท สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ครึ่งนึง แต่ไม่ต้องเกิน 5,000 บาท

9.2 ส่วนที่จ่ายเกิน 10,000 บาท สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 90,000 บาท

10. ค่าลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนในการยื่นภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด.94 ได้ จะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สำหรับการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลประจำปีเท่านั้น

11. ค่าลดหย่อนประกันสังคม

หากคุณเป็นผู้ประกันตนและมีการจ่าย เงินสมทบกองทุนประกันสังคม คุณสามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนประกันสังคม ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 2,592 บาท และมีข้อแตกต่างในการยื่นภาษี  2 กรณี คือ

  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สามารถทำการยื่นภาษีครึ่งปี และใช้สิทธิลดหย่อนประกันสังคมผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย
  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนประกันสังคม คุณจะต้องทำการยื่นภาษีที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเท่านั้น ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ได้

รู้ได้อย่างไรว่า เราเป็นผู้ประกันตนมาตราเท่าไหร่?

  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 คือ บุคคลที่เคยทำงานในบริษัท หรือ เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน แต่ตกงานหรือลาออก และต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้
  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือ บุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ที่ไม่เคยเป็นพนักงานบริษัท ไม่เป็นข้าราชการหรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม และแน่นอนว่า ต้องไม่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ 39 มาก่อน

12. กองทุน RMF ลดหย่อนภาษีในกรณีที่คุณซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท และต้องซื้อไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี

เรื่องต้องระวัง

1. เอกสาร เนื่องจากเอกสารที่ใช้ยื่นภาษีครึ่งปี จะไม่ใช่ ภ.ง.ด. 90, 91 ที่หลายคนคุ้นเคย แต่จะต้องยื่นภาษีโดยใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 94 ซึ่งผู้เสียภาษีสามารถดาวน์โหลดแบบแสดงรายการภาษีได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th

2. ยื่นภาษีครึ่งปีแล้ว ต้องยื่นภาษีเงินได้ประจำปีด้วย แม้ว่าคุณจะทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) แล้ว แต่คุณจะต้องทำการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีด้วย ทั้งนี้การยื่นภาษีเงินได้ประจำปีนั้น คุณจะต้องทำการยื่นยอดรายได้ที่คุณมีตลอดทั้งปี ไม่ใช่การยื่นรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเท่านั้น

3. สำหรับผู้เสียภาษีที่ต้องทำการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด 94) คุณสามารถเช็กสิทธิลดหย่อนภาษีครึ่งปีทุกรายการ ได้ที่บทความ ยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอะไรได้บ้าง?

ข้อมูลจาก

www.rd.go.th

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)