Contents

เงินได้ประเภทที่ 7

134,368 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เงินได้ประเภทที่ 7 คือ เงินได้พึงประเมินในรูปของ ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ ที่ทำให้ผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในวงการภาษีบางครั้งก็เรียกว่า เงินได้ 40(7)1

อย่างไรก็ดี ถ้าคุณมีคู่สมรสที่จะแยกยื่นภาษีเองอยู่แล้ว คุณสามารถเลือกให้คู่สมรสนำเงินได้ประเภทนี้ของคุณไปยื่นเป็นรายได้ของเขาแทนก็ได้2

การหักค่าใช้จ่าย

เงินได้ประเภทที่ 7 คุณสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ หักตามจริง (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย) หรือหักเหมา 60% (ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย)3

ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ x 60% = ค่าใช้จ่ายของค่ารับเหมา หรือเลือกหักตามจริง

อะไรเป็นเงินได้ประเภทที่ 7 ได้บ้าง?

เงินได้ประเภทที่ 7 หมายถึงค่ารับเหมาที่มีการเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ โดยที่คุณเป็นผู้จัดหาทั้งแรงงาน เครื่องมือ และสัมภาระเอง เช่น

  • รับเหมาก่อสร้าง
  • รับผลิตสินค้าตามแบบที่ลูกค้าต้องการโดยที่ปกติคุณไม่ได้ทำขายเป็นปกติทั่วไป เช่น ผลิตตามต้นแบบของลูกค้าซึ่งไม่มีอยู่ในแคตาล็อกสินค้าของคุณ

ดังนั้น ถ้ามีการรับเหมาแต่ค่าแรงแล้วให้ลูกค้าเป็นคนซื้อวัสดุเองจะไม่ใช่การรับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของตามความหมายนี้ เพราะเป็นเพียงการว่าจ้างธรรมดาในฐานะ เงินได้ประเภทที่ 2 หรือถ้าเป็นการรับจ้างที่มีค่าใช้จ่ายมากก็อาจเป็น เงินได้ประเภทที่ 8 ก็ได้

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้รับเหมาแบบไหน รายได้ที่นับเป็นเงินได้จะเป็น เงินได้ประเภทที่ 8 หรือ เงินได้ประเภทที่ 7 คุณก็ต้องคำนวณภาษีเพื่อยื่นแบบฟอร์มภาษีประจำปีด้วย โดยคุณสามารถคำนวณภาษีได้ฟรีในรูปแบบ App ทั้งบนระบบ iOS และ Android พร้อมค้นหาค้นตัวช่วยลดหย่อนภาษี ที่จะช่วยให้คุณประหยัดภาษีได้มากกว่าเดิมได้ที่ iTAX shop


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 40(7) ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    ข้อ 2.2 หน้า 2-3 คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสามีและภริยา (ฉบับที่ 2), www.rd.go.th

  3. ^

    มาตรา 45 ประมวลรัษฎากร, มาตรา 7 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502, พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560