คู่มือ ภาษีขายของออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เสียภาษีอย่างไร?

ภาษีธุรกิจ

3,658 VIEWS

ภาษีขายของออนไลน์ เป็นเรื่องที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ควรทำความเข้าใจ ทั้ง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อจะได้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง และไม่มีปัญหาถูกประเมินภาษีย้อนหลัง

ภาษีขายของออนไลน์ สำหรับบุคคลทั่วไป

โดยปกติแล้วเมื่อบุคคลทั่วไปเริ่มทำธุรกิจขายของออนไลน์จะมีภาษี 2 ตัวที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งสามารถลงรายละเอียดได้ดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เกี่ยวข้องกับการขายของออนไลน์

โดยปกติ รายได้ที่ได้รับจากการขายของออนไลน์ มักจะอยู่ในรูปแบบการขายของแบบซื้อมาขายไป (กระเป๋า, รองเท้า, เครื่องสำอาง เป็นต้น) ซึ่งจัดเป็น เงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้ 40 (8)) และเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี หมายความว่า คุณจะต้องยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

แต่ถึงอย่างนั้น สรรพากรและภาษีก็ไม่ได้ใจร้ายกับพ่อค้าแม่ค้าอย่างที่คิด เพราะคุณสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 ช่องทาง (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น) ไม่ว่าจะเป็น การหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง

  • หากเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายเพราะกฎหมายให้สิทธิเหมาค่าใช้จ่ายตามยอดขายที่เกิดขึ้นในอัตรา 60% ของยอดขาย
  • หากเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง จะต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายในการยื่นภาษีด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีซื้อมาขายไป กฎหมายยังได้กำหนดวิธีคำนวณภาษีแบบเหมาจากยอดขายในอัตรา 0.5% อีกวิธีด้วย ซึ่งจะต้องนำมาใช้ก็ต่อเมื่อคำนวณแบบเหมาได้ค่าภาษีเกิน 5,000 บาท และค่าภาษีแบบเหมา 0.5% นั้นสูงกว่าวิธีปกติ

วิธีคำนวณภาษี จะคิดจากรายได้สุทธิ ไม่ใช่รายได้ที่ได้รับตลอดทั้งปี

พ่อค้าแม่ค้าหลายคน (ที่ทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา) มักจะเข้าใจผิดว่า การคำนวณภาษีสำหรับคนขายของคือ เมื่อมีรายได้เท่าไหร่ ให้นำเงินที่ได้นั้นมาคูณอัตราภาษีได้ทันที จึงทำให้หลายๆ คนเห็นจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายผิดไป ซึ่งในความจริงแล้ว อัตราภาษีที่คุณต้องจ่าย จะสามารถคำนวณได้จากเงินได้สุทธิ นั่นคือ

เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี

นั่นหมายความว่า คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนด และหากคุณมีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเหมาะสม ภาษีที่คุณจะต้องจ่ายก็จะลดน้อยลงไปด้วย

ยอดขายเท่าไหร่ถึงเสียภาษี? ประเมินค่าภาษีเงินได้เบื้องต้นสำหรับ “ภาษีขายของออนไลน์”

ยอดขายเดือนละ ฿40,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿40,000 หรือต่ำกว่านั้น ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษี เนื่องจากกำไรยังไม่มากจนถึงขนาดต้องเสียภาษี

ยอดขายเดือนละ ฿50,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿50,000 จะเริ่มเข้าสู่ขั้นบันไดอัตราภาษี 5% โดยค่าภาษีสูงสุดจะไม่เกิน ฿1,500 หากใช้เหมาค่าใช้จ่ายต้นทุน 60% ของยอดขาย แต่ถ้าต้นทุนสูงกว่านั้นและมีหลักฐานมาแสดงได้ก็อาจไม่ต้องเสียภาษีเลย

ยอดขายเดือนละ ฿100,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿100,000 ยังอยู่ที่ขั้นบันไดอัตราภาษี 10% แม้ว่าจะมียอดขายต่อเดือนหลักแสนแล้วก็ตาม โดยค่าภาษีสูงสุดจะไม่เกิน ฿19,500 หากใช้เหมาค่าใช้จ่ายต้นทุน 60% ของยอดขาย

ข้อสังเกต หากต้นทุนอยู่ที่ 80% หรือสูงกว่า กฎหมายจะเปลี่ยนไปใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา 0.5% ของยอดขายแทนการคำนวณภาษีจากกำไร เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่คำนวณแล้วค่าภาษีมากกว่าวิธีคำนวณภาษีจากกำไรแบบเดิม

ยอดขายเดือนละ ฿150,000 

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿150,000 ยังอยู่ที่ขั้นบันไดอัตราภาษี 15%

อนึ่ง กรณีนี้ยอดขายรวมตลอดทั้งปีจะยังไม่เกิน ฿1,800,000 จึงยังไม่ถูกบังคับให้ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้ายอดขายเฉลี่ยเกินเดือนละ ฿150,000 จะส่งผลให้ยอดขายรวมตลอดทั้งปีเกิน ฿1,800,000 ส่งผลให้ต้องรีบไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30วันนับแต่วันที่ยอดขายปีนั้นเกิน ฿1,800,000

ยอดขายเดือนละ ฿200,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿200,000 จะเริ่มเข้าสู่ขั้นบันไดอัตราภาษี 20% โดยค่าภาษีสูงสุดจะไม่เกิน ฿95,000 หากใช้เหมาค่าใช้จ่ายต้นทุน 60% ของยอดขาย ซึ่งน่าสังเกตว่าค่าภาษีที่คำนวณได้ก็ยังไม่ถึงหลักแสนอยู่ดี

หากต้นทุนอยู่ที่ 90% หรือสูงกว่า กฎหมายจะเปลี่ยนไปใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา 0.5% ของยอดขายแทนการคำนวณภาษีจากกำไร เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่คำนวณแล้วค่าภาษีมากกว่าวิธีคำนวณภาษีจากกำไรแบบเดิม

อย่างไรก็ดี หากยอดขายเดือนละ ฿200,000 เท่ากันตลอดทั้งปี ยอดขายจะเริ่มเกิน ฿1,800,000 เมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคม ทำให้ต้องรีบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเดือนตุลาคมเพื่อไม่ให้เลยกำหนด 30 วัน

ยอดขายเดือนละ ฿300,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿300,000 ยังอยู่ที่ขั้นบันไดอัตราภาษี 25%

หากต้นทุนอยู่ที่ 90% หรือสูงกว่า กฎหมายจะเปลี่ยนไปใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา 0.5% ของยอดขายแทนการคำนวณภาษีจากกำไร เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่คำนวณแล้วค่าภาษีมากกว่าวิธีคำนวณภาษีจากกำไรแบบเดิม

ข้อสังเกตบางประการของการคำนวณด้วยวิธีเหมา 0.5% ของยอดขาย คือ เมื่อกฎหมายกำหนดให้คิดค่าภาษีจากยอดขายแล้ว ต่อให้ขายขาดทุนก็ยังต้องเสียภาษีอยู่ดี

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ขายของต้องยื่นภาษีทั้ง ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วย

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายคนมักจะไม่รู้ว่า รายได้จากการค้าขายตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน ของทุกปี มากกว่า 60,000 บาท (กรณีโสด) หรือ รายได้รวมกับคู่สมรสแล้วเกิน 120,000 บาท คุณจะต้องทำการ ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ด้วย หมายความว่า ใน 1 ปี คุณจะต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี ควบคู่ไปกับการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ด้วยนั่นเอง โดยอาจจะต้องยื่นภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง (ประจำปี 1 ครั้ง และครึ่งปีอีก 1 ครั้งด้วย)

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เกี่ยวข้องกับ “ภาษีขายของออนไลน์”

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็น ภาษีขายของออนไลน์ ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องจะต้องเจอเมื่อยอดขายตลอดทั้งปีเกิน 1,800,000 บาท โดยกฎหมายจะบังคับให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ยอดขายเกิน 1,800,000 บาท (แต่จะเลือกเข้าระบบ VAT ก่อนยอดขายเกิน 1.8 ล้านก็สามารถทำได้เช่นกัน)

เมื่อจด VAT แล้วพ่อค้าแม่ค้าจะต้องจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากผู้บริโภค โดยคำนวณจากมูลค่าสินค้า แล้วนำส่งให้กรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บอีกที โดยต้องยื่นภาษีเป็นรายเดือน ซึ่งเรียกว่า “ภ.พ.30”

ดังนั้น เมื่อขายสินค้าจะต้องเรียกเก็บเงินจากลูกค้าเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 107 บาท (ค่าสินค้า 100 บาท + VAT 7 บาท) โดยค่าสินค้าจะทำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ส่วน VAT 7 บาท จะต้องนำส่งให้กรมสรรพากรในเดือนถัดไปโดยไม่ต้องนำไปคำนวณเป็นเงินได้ของกิจการ โดยภาษีที่เรียกเก็บจากตอนขายจะเรียกสั้นๆ ว่า ภาษีขาย

ในทางกลับกัน ถ้าซื้อสินค้ามาในราคา 107 บาท แสดงว่าสินค้านั้นจริงๆ ราคาเพียง 100 บาท แต่อีก 7 บาทนั้นคือ VAT ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จด VAT แล้วได้จ่ายตอนซื้อสินค้า ซึ่งค่าภาษี 7 บาทที่จ่ายไปตอนซื้อสินค้าเข้ามา เรียกสั้นๆ ว่า ภาษีซื้อ

3. ภาษี e-Service คืออะไร?

ภาษี e-Service คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เรียกเก็บจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ ซึ่งเป็นมาตรการจัดเก็บภาษีใหม่ที่ประกาศตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2564 (พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

แม้ ภาษี e-Service จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์โดยตรง แต่จะส่งผลกระทบทางอ้อม ดังนี้

  1. ถ้าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ยิง ad ใน Facebook, IG หรือ Google จะถูกแพลตฟอร์มโฆษณาเหล่านี้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% จากยอดค่าโฆษณา
  2. แต่ถ้าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ จด VAT ไปแล้ว และได้แจ้งให้แพลตฟอร์มโฆษณาทราบว่าเราเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แพลตฟอร์มโฆษณาเหล่านี้จะไม่เรียกเก็บ VAT 7% จากคุณโดยตรงอีก เพราะจะกลายเป็นเราที่มีหน้าที่ต้องจ่าย VAT 7% จากค่าโฆษณาให้กรมสรรพากรเองโดยตรง ซึ่งเรียกว่า “ภ.พ.36”

4. ภาษี E-Payment คืออะไร?

ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ (หรือที่สื่อเรียกกันว่า กฎหมายอีเพย์เมนต์ (e-payment)) เป็นธุรกรรมที่สถาบันการเงิน (เช่น ธนาคาร) รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น mPAY, TrueMoney) มีหน้าที่ต้องรายงานให้ กรมสรรพากร ทราบเมื่อตรวจพบบุคคลที่ระหว่างปีมีเงินเข้าตั้งแต่ 3,000 ครั้ง หรือมีเงินเข้าตั้งแต่ 400 ครั้งและเป็นเงินจำนวนตั้งแต่ ฿2,000,000

กฎหมายธุรกรรมลักษณะเฉพาะ หรือ ภาษี E-Payment เกี่ยวข้องโดยตรงกับช่องทางการชำระผ่านการโอนเงิน และ พร้อมเพย์ (Promptpay) นั้นทำให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายคนกังวลกันอยู่มาก 

ไม่ว่าคุณจะเรียกการบังคับใช้กฎหมายธุรกรรมลักษณะเฉพาะนี้ว่า ภาษีร้านค้าออนไลน์ ภาษีขายของออนไลน์ หรือ ภาษี E-Payment ฯลฯ ต่างก็มีการบังคับใช้ที่เหมือนกัน และมีจุดกำเนิดมาจากความต้องการที่จะเพิ่มความสามารถการจัดเก็บภาษีของกรรมสรรพากร

เพราะในปัจจุบันโลกออนไลน์ไม่ได้มีพื้นที่สำหรับการติดตามข่าวสารบน Social Media เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของการซื้อขายสินค้าและบริการ รวมถึง การทำธุรกรรมการเงินอีกด้วย และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ร้านค้าออนไลน์หลายๆ ร้านไม่ได้อยู่ในระบบของกรมสรรพากร และไม่ได้ทำการยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้อง กรมสรรพากรจึงต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับและควบคุมในส่วนนี้

ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ก็หนีไม่พ้นร้านค้าออนไลน์ที่รับเงินผ่านการโอนเงิน หรือ ร้านค้าต่างๆ ที่เคยทำการซื้อขายเป็นเงินสดและเปลี่ยนมาใช้ระบบโอนเงินไม่ว่าจะเป็น PromptPay, Mobile Banking รวมถึง ร้านอาหารต่างๆ ที่ไม่ได้ จดทะเบียนนิติบุคคล หรือ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) ให้เรียบร้อย ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย เกี่ยวกับภาษี E-Payment (ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ)

1. เมื่อถูกส่งข้อมูล ≠ เสียภาษี

หากคุณมีการทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีจากสถาบันการเงินเดียวกันเกินกว่า 3,000 ครั้งใน 1 ปี หรือมียอดฝากและรับโอนเงินเพียง 400 ครั้ง แต่มียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป สถาบันการเงินมีหน้าที่ส่งข้อมูลในส่วนนี้ให้กรมสรรพากร

แต่ถึงแม้ว่า คุณจะถูกส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบ ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องถูกบังคับให้เสียภาษีทันที แต่การที่จะต้องเสียภาษีหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีหรือไม่? แน่นอนว่า หากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์คุณจะไม่ถูกสรรพากรบอกให้จ่ายภาษี แต่หากเป็นกรณีที่

  • รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ แต่กรมสรรพากรมีการเรียกไปชี้แจง ในกรณีนี้ คุณก็ไม่ต้องกังวล เพียงเข้าพบเจ้าหน้าที่สรรพากรพร้อมเอกสารหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ร้องขอเท่านั้น
  • รายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แน่นอนว่า ในเมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบแล้วว่า คุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี คุณจะต้องจ่ายภาษี ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกเลย (อย่าลืมว่า คนไทยทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี จะต้องทำการยื่นภาษีและจ่ายภาษีเป็นปกติอยู่แล้ว)
  • รายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี และเสียภาษีอยู่แล้ว ในกรณีนี้ คุณก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเสียภาษีเพิ่ม เพราะหากคุณ ยื่นภาษี และดำเนินการทุกอย่างถูกต้องเป็นปกติ กฎหมายธุรกรรมลักษณะเฉพาะนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณแน่นอน
2. รับโอนเงินเกิน 8 ครั้งต่อวัน ไม่ได้หมายความว่าต้องเสียภาษี

หลายๆ คนมีความเข้าใจผิดไปว่า หากรับโอนเงินมากกว่า 8 ครั้งใน 1 วัน จะถูกกรมสรรพากรตรวจสอบและจะต้องเสียภาษี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรับโอนเงินเกิน 8 ครั้งนั้นเป็นเพียงค่าเฉลี่ยต่อวันตลอดทั้งปีเท่านั้น และ คุณจะถูกตรวจสอบก็ต่อเมื่อมีการฝากเงินหรือรับโอนเงินเกินกว่าที่กรมสรรพากรกำหนดไว้เท่านั้น (3,000 ครั้งต่อปี หรือ 400 ครั้งต่อปี แต่มียอดรวมกัน 2,000,000 บาทขึ้นไป)

3. กรมสรรพากรไม่นับรวมการโอนเงินเพื่อการซื้อของออนไลน์

ทำความเข้าใจกันก่อนว่า จำนวนการฝาก รับโอนเงิน และยอดเงินนั้น กรมสรรพากร นับเพียง การรับโอน เท่านั้น หากคุณทำการโอนเงินเพื่อจ่าย หรือ โอนเงินระหว่างบัญชีของตัวเอง ก็ไม่เข้าข่ายที่จะถูกสถาบันการเงินส่งเรื่องข้อมูลให้กรมสรรพากร ดังนั้น

มั่นใจได้เลยว่า หากคุณเป็นเพียงผู้ที่ชื่นชอบการซื้อของออนไลน์ กฎหมายนี้ไม่มีผลอะไรกับคุณเลย

หมายเหตุ

การนับรวมการโอนเงินระหว่างบัญชีของตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่า

  • หากโอนเงินเข้าบัญชีตัวเอง ธนาคารเดียวกัน จะไม่ถูกนับจำนวนครั้งที่โอน
  • หากโอนเงินเข้าบัญชีตัวเอง ต่างธนาคาร คุณจะถูกนับรวมจำนวนครั้งที่โอนด้วย
4. ค่าปรับ 100,000 บาท หรือวันละ 10,000 บาท ไม่เกี่ยวกับแม่ค้าออนไลน์ที่เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝาก

หลายๆ คนอาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับค่าปรับ หลายคนเข้าใจไปว่า หากถูกตรวจสอบว่าคุณทำธุรกรรมเข้าข่าย กฎหมาย E-Payment คุณจะมีโทษปรับ 100,000 บาท และต้องจ่ายค่าปรับวันละ 10,000 บาท ทันที

แต่ในความจริงแล้ว บทลงโทษนั้น เป็นบทลงโทษสำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมลักษณะเฉพาะเท่านั้น ไม่ใช่บทลงโทษที่เขียนขึ้นสำหรับเจ้าของบัญชี หรือ ผู้เสียภาษี

5. กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเพื่อตรวจสอบร้านค้าออนไลน์เท่านั้น

ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เราเชื่อว่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายๆ ท่านคงกำลังรู้สึกน้อยใจอยู่ไม่น้อย แต่เราอยากจะบอกว่า ในความจริงแล้วกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีผลแค่กับร้านค้าออนไลน์เท่านั้น แต่บุคคลทั่วไปที่มีการฝากหรือรับโอนเงินตามจำนวนครั้งและมียอดเงินตามที่สรรพากรกำหนดก็จะต้องถูกตรวจสอบด้วยเช่นกัน

6. การส่งข้อมูลให้สรรพากรของธนาคาร

บอกก่อนว่า กฎหมายธุรกรรมลักษณะเฉพาะ (กฎหมาย E-Payment) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 โดยกฎหมายกำหนดให้ธนาคาร, สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ต้องรวบรวมข้อมูลการทำธุรกรรมลักษณะเฉพาะตลอดทั้งปี และต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี ( อ้างอิง มาตรา 3 สัตตรส ประมวลรัษฎากร )

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ธนาคาร, สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะถูกเก็บไว้นานไม่เกิน 10 ปี นับจากวันที่สรรพากรได้รับข้อมูล

หากคุณไม่แน่ใจว่า ธุรกิจของคุณจะต้องปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์และอยากทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถติดต่อสอบถามค่าบริการวางแผนภาษีที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณกับ iTAX sme ติดต่อสอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)