ภาษี e-Service ต่างชาติ คาดเก็บภาษีได้ 3 พันล้าน

ข่าวภาษี

3,464 VIEWS

ครม. มีมติเห็นชอบเสนอ ร่างพระราชบัญญัติการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศแก่ผู้รับบริการในประเทศ เพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการต่างชาติที่ขายสินค้าดิจิทัล เช่น บริการจองโรงแรม ค่าโฆษณา ค่าเรียกรถ ค่า subscription ดาวน์โหลดเกม เพลง ภาพยนตร์ หรือ Digital content อื่นๆ (เรียกรวมว่า e-Service) ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว คือ หากผู้ให้บริการต่างชาติที่ขาย e-Service เช่น ขายดาวน์โหลดเกม เพลง ภาพยนตร์ หรือ Digital content อื่นๆ ให้แก่ผู้ซื้อในไทย รวมถึงค่าบริการออนไลน์ที่เรียกเก็บจากผู้รับบริการในไทย และยอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท ผู้ให้บริการต่างชาติรายนั้นจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) ในประเทศไทย และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขาย e-Service เฉพาะส่วนที่ขายให้ผู้ซื้อในไทยให้กรมสรรพากรด้วย ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่ากฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทไทยสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกับบริษัทต่างประเทศ และมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่สามารถเก็บ VAT จาก e-Service ของผู้ให้บริการต่างชาติได้ เนื่องจากผู้ให้บริการเหล่านั้นไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันจึงไม่อยู่ที่ขอบเขตที่กฎหมายบังคับให้ต้องจด VAT ในไทยได้ แต่อย่างไรก็ดี การจัดเก็บ VAT จาก e-Service ของผู้ให้บริการต่างชาติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐสภาได้ความเห็นชอบและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประเทศไทยเก็บภาษีเพิ่มได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทในปีแรกที่บังคับใช้

e-Service ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย

การขายสินค้าดิจิทัลของผู้ให้บริการต่างชาติ โดยผู้ซื้ออยู่ในประเทศไทย และเป็นการขายถึงมือผู้บริโภคโดยตรง (B2C) เช่น ดาวน์โหลดเกม เพลง ภาพยนตร์ ระบบ Cloud ค่า subscription หรือ Digital content อื่นๆ รวมถึงบริการออนไลน์ เช่น จองโรงแรม ค่าโฆษณา ค่าเรียกรถ 

เมื่อผู้ให้บริการต่างชาติได้รับเงินค่าซื้อ Digital content จากลูกค้าในไทยแล้วจะมีหน้าที่ต้องนำส่ง VAT ให้ประเทศไทยด้วย ซึ่งกรมสรรพากรมีแผนจะพัฒนาระบบลงทะเบียนออนไลน์ให้ผู้ให้บริการต่างชาติจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยได้สะดวกขึ้นต่อไป

ซึ่งที่ผ่านมีกว่า 60 ประเทศที่เก็บ VAT จาก e-Service ของผู้ให้บริการต่างชาติเช่นกัน เช่น นอร์เวย์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน ออสเตรเลีย เป็นต้น

หมายเหตุ: ร่างกฎหมาย e-Service มีเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมไปถึงจัดเก็บภาษีเงินได้

หากผู้ให้บริการต่างชาติไม่ให้ความร่วมมือจะทำอะไรได้บ้าง?

ตามกรอบของร่าง พ.ร.บ. ฯ นี้ จะบังคับได้เฉพาะมาตรการทางภาษีเท่านั้น ซึ่งให้อำนาจกรมสรรพากรสามารถขอความร่วมมือหน่วยงานจัดเก็บภาษีที่ประเทศถิ่นที่อยู่ของผู้ให้บริการต่างชาติ เพื่อช่วยติดตามการจัดเก็บภาษีให้ได้ แต่ไม่มีอำนาจดำเนินการปิดกั้นการให้บริการหรืออายัดระบบการชำระเงินจากประเทศไทยได้

หมายเหตุ: อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีการออกกฎหมายอื่นเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการมาตรการบังคับอื่นประกอบด้วย เช่น การปิดกั้นการให้บริการ หรืออายัดระบบการชำระเงินจากประเทศไทย

ตัวอย่างผู้ให้บริการต่างชาติที่เข้าข่ายถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหากกฎหมาย e-Service ใช้บังคับ

ผู้ให้บริการต่างชาติที่เข้าข่ายถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก e-Business เช่น

  • แพลตฟอร์มโฆษณา – Facebook, Google
  • แพลตฟอร์มดูหนังฟังเพลง – Netflix, YouTube, Spotify
  • แพลตฟอร์มเกมและแอป – App Store, Play Store, PlayStation Store
  • แพลตฟอร์มจองที่พัก/ตั๋วเดินทาง – Booking.com
  • บริการออนไลน์ และ Digital Content อื่นๆ – ระบบคลาวด์

ผลกระทบที่อาจะเกิดขึ้นกับประชาชน

เมื่อรัฐสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการ e-Service ต่างชาติได้ครบถ้วน ย่อมมีแนวโน้มที่ผู้ให้บริการต่างชาติจะผลักภาระภาษีที่เกิดขึ้นให้ผู้บริโภคในไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นกลไกของภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้วที่ผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น บริการ e-Service ที่ไม่ได้เตรียมโครงสร้างราคารองรับการถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย จึงอาจมีการปรับราคาขึ้น ทำให้ค่าบริการที่ผู้บริโภคในไทยต้องจ่ายมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. e-Service

ร่าง พ.ร.บ. e-Service มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา

โดยที่ปัจจุบันมีการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากขึ้น สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจและการใช้บริการดังกล่าว นอกจากนี้ สมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการมี การใช้ หรือการจัดทำเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดตามประมวลรัษฎากร ให้สามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

3. หลักการสำคัญของกฎหมาย e-Service

แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
(1) แก้ไขเพิ่มเติมให้การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดตามประมวลรัษฎากรสามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 โสฬส)
(2) แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สินค้า” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” และคำว่า “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 77/1 (9) และเพิ่มมาตรา 77/1 (10/1) และ (10/2))
(3) แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน เสียภาษีจากยอดขายโดยไม่ให้หักภาษีซื้อ และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (เพิ่มมาตรา 82/13 วรรคสองและวรรคสาม)
(4) แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้จ่ายเงินในการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม และหน้าที่ของผู้ประกอบการในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83/6 (2) และมาตรา 85/3 (2))
(5) กำหนดให้การดำเนินการทางทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกระทำโดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ (เพิ่มมาตรา 85/20)
(6) กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศออกใบกำกับภาษี (เพิ่มมาตรา 86/1 (1/1))

ดูร่าง พ.ร.บ. ฯ ฉบับจริง

รู้หรือไม่? ทำไมต้องเสนอกฎหมายเข้ารัฐสภา ทำไมรัฐบาลไม่ออกกฎหมายไปเลย? 

หากเป็นการเก็บภาษีเพิ่มเติม รัฐบาลไม่สามารถออกกฎหมายเองได้ เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้บุคคลเพิ่มเติมและเป็นการแก้ไขประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ จึงต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยจะออกมาเป็นกฎหมายในระดับ พระราชบัญญัติ ดังนั้น ครม. จึงต้องนำเสนอในรูปแบบ ร่างพระราชบัญญัติ เพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบ ซึ่งต่างจากการลดภาษีหรือยกเว้นภาษี ซึ่งอยู่ในอำนาจที่ ครม. สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)