ได้เงินเดือนจากการฝึกงานต้องเสียภาษีมั้ย?

ทั่วไป

ใช่ว่ามีแต่มนุษย์เงินเดือนหรือคนทำงานที่ต้องเสียภาษีเท่านั้นที่ต้องปวดหัวกับการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี เพราะน้องๆ นักศึกษาหลายๆ คนก็เกิดอาการสับสนเช่นเดียวกัน เพราะเท่าที่จำได้กรมสรรพากรมักจะบอกกับเราเสมอว่า “บุคคลที่มีรายได้จะต้องทำการยื่นภาษีประจำปี” ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่า ในกรณีที่น้องๆ นักเรียน นักศึกษา ที่มีรายได้ระหว่างที่ฝึกงานจะต้องยื่นภาษีและเสียภาษีเงินได้เหมือนคนทั่วไปรึเปล่า?

ทำความเข้าใจ การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อย่างที่หลายๆ คนรู้ว่า การยื่นภาษีเงินได้ประจำปี เป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีทุกคน และจะต้องทำการยื่นภาษีแม้ว่าในปีภาษีนั้นๆ คุณจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็ตาม และสำหรับการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีนั้น สามารถยื่นได้ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี (ยกเว้นบางกรณีที่มีการยื่นภาษีครึ่งปีด้วย)

ได้เงินเดือนตอนฝึกงาน ต้องยื่นภาษีหรือไม่?

สำหรับน้องๆ นักเรียนนักศึกษาที่มีรายได้จากการฝึกงานในบริษัทต่างๆ ที่กำลังสงสัยอยู่ว่า เงินเดือนที่ได้รับจากการฝึกงานจะต้องยื่นภาษีหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า รายได้ที่ได้จากการฝึกงานนั้นถึง 120,000 บาทหรือไม่ เพราะถ้าน้องๆ ได้รับเงินเดือนจากการฝึกงานรวมกันไม่ถึง 120,000 บาท/ปี ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นภาษี

ทั้งนี้เป็นไปตาม กฎหมายโครงสร้างภาษีใหม่ ที่กำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีรายได้จากงานประจำตลอดทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท (เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท) ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี (เพิ่มเติมได้ที่ รู้ยัง เงินเดือนเท่าไหร่ถึงไม่ต้องเสียภาษี)

โดยปกติแล้ว ระยะเวลาสำหรับการฝึกงานจะอยู่ที่ประมาณ 3 – 4 เดือน (แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละบริษัท) ทำให้แม้ว่าน้องๆ ฝึกงานจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 10,000 บาท ก็ถือว่ารายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องยื่นภาษีอยู่ดี

นักศึกษาฝึกงานได้เงินเดือนเท่าไหร่? ถึงต้องเสียภาษี

โดยปกติวิธีคำนวณภาษีเงินเดือน จะใช้วิธีคำนวณง่ายๆ ดังนี้

เงินได้ – ค่าใช้จ่าย 50% แต่ไม่เกิน ฿100,000 – ค่าลดหย่อน ฿60,000 = เงินได้สุทธิ

ตามกฎหมายแล้ว

ถ้าเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น ถ้าน้องๆ ฝึกงานอยู่ 4 เดือนแล้วมีรายได้จากการฝึกงานต่อเดือนไม่เกิน 77,500 บาท (77,500 * 4 = 310,000 บาท) จึงยังไม่อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษี

เงินได้ ฿310,000 – ค่าใช้จ่าย ฿100,000 – ค่าลดหย่อน ฿60,000 = เงินได้สุทธิ ฿150,000

หมายความว่า

รายได้ที่น้องๆ ได้รับจากการฝึกงานจะเสียภาษีก็ต่อเมื่อ น้องๆ มีรายได้จากการฝึกงานต่อเดือนเกิน 77,500 บาท ซึ่งถ้าว่ากันตามความเป็นจริง ก็เป็นไปได้น้อยมากที่น้องๆ ฝึกงานจะมีรายได้ต่อเดือนสูงขนาดนั้น ดังนั้น ก็สบายใจได้เลยว่า รายได้ที่น้องๆ ได้รับจากการฝึกงานยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีแน่นอน

เงินเดือนที่ได้จากการฝึกงาน ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ขอคืนได้ไหม?

สำหรับน้องฝึกงานคนไหนที่ได้รับเงินเดือนและพบว่า เงินเดือนที่บริษัทจ่ายให้ถูก หักภาษี ณ ที่จ่าย ไป และกำลังเกิดข้อสงสัยว่า ในกรณีนี้จะสามารถขอเงินภาษีคืนได้หรือเปล่านั้น ก็สบายใจได้เลยว่า เงินที่ถูกหักภาษีไปนั้น สามารถขอคืนได้ เพราะช่วงสิ้นปี ทางบริษัทจะออกใบหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) มาให้ จากนั้นก็สามารถทำการยื่นภาษี และยื่นคำร้องขอ รับเงินคืนภาษี ได้เลย

ฝึกงานมีรายได้ ผู้ปกครองยังสามารถใช้ค่าลดหย่อนบุตรได้หรือไม่?

ต้องบอกก่อนว่า ผู้ปกครองสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้ตามกฎหมายกำหนดคนละ 30,000 บาทต่อปี และหากมีลูกคนที่สองเป็นต้นไป (เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย) ที่เกิดในปี พ.ศ. 2561 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนลูกตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไปได้คนละ 60,000 บาทต่อปี (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ค่าลดหย่อนบุตร )

สำหรับน้องๆ คนไหนที่กำลังกังวลว่า หากเรามีรายได้จากการฝึกงานผู้ปกครองจะยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้อยู่หรือไม่นั้น ก็ต้องไปดูกันอีกทีว่า เงินเดือนที่น้องๆ ได้รับตลอดทั้งปีถึง 30,000 บาทหรือไม่? เพราะกฎหมายกำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าหาก

  • ลูกมีรายได้ทั้งปีถึง 30,000 บาท – ผู้ปกครองจะไม่สามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนบุตรได้ในปีภาษีนี้
  • ลูกมีรายได้ทั้งปีไม่ถึง 30,000 บาท – ผู้ปกครองจะยังสามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนบุตรได้ตามปกติ

รู้แบบนี้แล้ว หากน้องๆ มีรายได้ในปีนั้นเกิน 30,000 บาทต่อปี อย่าลืมกระซิบบอกคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาต้องยื่นภาษีนั่นเอง

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)