ใช้บัญชีส่วนตัวรับรวมเงินโดเนทโปรเจคให้ศิลปิน ต้องเสียภาษีมั้ย?

ทั่วไป

5,278 VIEWS

เรามักจะเห็นกลุ่มแฟนคลับรวมตัวหรือรวบรวมเงินเพื่อทำโปรเจคต่างๆ ให้ศิลปินกันอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น การรวบรวมเงินเพื่อขึ้นป้ายโฆษณาตามจุดต่างๆ การรวบรวมเงินเพื่อซื้อของขวัญให้ศิลปิน รวมไปถึง การรวบรวมเงินเพื่อซื้ออัลบั้ม หรือเพื่อทุ่มโหวต ฯลฯ เป็นต้น

แต่เนื่องจากการประกาศบังคับใช้กฎหมายธุรกรรมลักษณะเฉพาะ (กฎหมาย E-payment) ทำให้หลายๆ คนที่เป็นคนกลางในการเปิดรับเงินโดเนทและใช้บัญชีส่วนตัวเพื่อรับเงินสำหรับทำกิจกรรมให้ศิลปินเกิดความกังวล

เช่น บัญชีส่วนตัวของเราจะถูกตรวจสอบหรือไม่? การทำธุรกรรมของเราจะถูกส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรรึเปล่า? และเงินที่ได้รับโอนจะถือเป็นรายได้หรือไม่? รวมถึง ยอดเงินที่โอนเข้าบัญชีของเรามานั้นจะมีส่วนทำให้ฐานภาษีของเราสูงขึ้น และทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่? เราอาจจะต้องทำความเข้าใจกันไปทีละเรื่องก่อน เริ่มต้นที่

1. รู้จักกฎหมาย E-payment (ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ)

ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ หรือ กฎหมาย E-payment คือกฎหมายที่กำหนดให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรทราบเมื่อตรวจพบว่าบัญชีมีจำนวนธุรกรรมถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดดังนี้ (ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล)

  • ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีของธนาคารหรือสถาบันการเงินเดียวกัน ใน 1 ปี ตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป (ไม่สนจำนวนยอดฝากหรือรับโอน)
  • ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีของธนาคารหรือสถาบันการเงินเดียวกัน ใน 1 ปี ตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดฝากหรือรับโอนตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป

โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินรวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์จะต้องจัดส่งข้อมูลบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะตลอดทั้งปีที่ผ่านมาให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป (เพิ่มเติมที่ : ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ)

แล้วแบบนี้ การใช้บัญชีรับโอนเงินโปรเจค ถูกส่งข้อมูลหรือไม่?

หากคุณเป็นเจ้าของบัญชีที่รับเงินโดเนท หากมีการฝากหรือรับโอนเงินใน 1 ปีตั้งแต่ 3,000 ครั้ง หรือ ตั้งแต่ 400 ครั้งและมียอดฝากหรือรับโอนตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะต้องส่งข้อมูลการทำธุรกรรมของคุณให้แก่สรรพากรอยู่แล้ว

นั่นหมายความว่า หากบัญชีที่คุณนำมาใช้สำหรับการรับโอนเงินโดเนทมีจำนวนครั้งการทำธุรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด คุณจะถูกส่งข้อมูลการทำธุรกรรมให้กรมสรรพากรตรวจสอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. ถูกส่งข้อมูล ไม่ได้หมายความว่าต้องเสียภาษี

หลายคนเข้าใจว่า เมื่อถูกธนาคารส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบ เท่ากับว่าเราจะต้องเสียภาษีเป็นที่แน่นอนแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริงคือ การถูกส่งข้อมูลไม่ได้หมายความว่าต้องเสียภาษี

เพราะจำนวนการรับโอนเงินไม่เกี่ยวกับการเสียภาษี และมีผู้เสียภาษีจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดว่า หากใน 1 วันมีการรับโอนเงินมากกว่า 8 ครั้ง จะถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากรและจะต้องทำการเสียภาษีด้วย

แต่ความเป็นจริง การรับโอนเงินเกิน 8 ครั้งเป็นเพียงค่าเฉลี่ยต่อวันตลอดทั้งปีเท่านั้น และ คุณจะถูกตรวจสอบก็ต่อเมื่อมีการฝากเงินหรือรับโอนเงินเกินกว่าที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ (ครบ 3,000 ครั้งต่อปี หรือครบ 400 ครั้งต่อปีและมียอดรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป) ดังนั้น สิ่งที่จะตัดสินว่าคุณจะต้องเสียภาษีหรือไม่คือ “ปีที่ผ่านมาคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีหรือไม่?” หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ

“ต่อให้คุณเป็นหนึ่งในคนที่ถูกส่งข้อมูลการทำธุรกรรมให้กรมสรรพากรเนื่องจากมีการทำธุรกรรมครบจำนวนครั้งที่กรมสรรพากรกำหนด ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องเสียภาษี เพราะสิ่งที่จะตัดสินว่าคุณจะต้องเสียภาษีหรือไม่ คือ รายได้ ไม่ใช่จำนวนครั้งในการทำธุรกรรมทางการเงิน”

และในกรณีที่คุณถูกกรมสรรพากรเรียกไปชี้แจงก็ไม่ต้องเป็นกังวลไปแต่อย่างใด เพราะหาก

  • มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ในกรณีนี้คุณไม่ต้องตกใจหรือเป็นกังวล เพราะคุณจะไม่ถูกบังคับให้เสียภาษีหากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สิ่งที่คุณต้องทำคือเตรียมเอกสารที่กรมสรรพากรร้องขอ และเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเท่านั้น
  • มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี แน่นอนว่าเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี คุณจะต้องยื่นภาษีและจ่ายภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ได้เกี่ยวกับการส่งข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะแต่อย่างใด
  • มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี และต้องจ่ายภาษีอยู่แล้ว ในกรณีที่คุณทำการยื่นภาษีและเสียภาษีอย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะหากคุณยื่นภาษีและจ่ายภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน คุณจะไม่ถูกบังคับให้ต้องเสียภาษีเพิ่มแน่นอน</b

3. เงินได้ ที่ต้องเสียภาษี คืออะไร?

เงินได้ = อะไรก็ตามที่ทำให้เรารวยขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เงินสด, ทรัพย์สินที่ตีราคาได้, สิทธิประโยชน์ที่ตีราคาได้, เงินค่าภาษีที่มีคนจ่ายแทนเรา, เครดิตภาษีเงินปันผล เป็นต้น และเมื่อคุณมีเงินได้ สิ่งที่ตามมาก็คือ ต้องยื่นภาษี และเสียภาษีเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แน่นอนว่า เงินกู้ หรือทรัพย์สินที่ยืมมา ไม่ถือเป็นรายได้ (เพิ่มเติม :  เงินได้พึงประเมิน)

แล้วเงินที่ได้จากการโดเนท เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่?

หากจะถามว่า เงินที่คุณได้รับจากการเปิดโดเนทเพื่อทำกิจกรรมให้ศิลปิน ถือเป็นเงินได้ประเภทไหน หรือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่นั้น เราอาจจะต้องมานั่งดูกันก่อนว่า เงินโดเนทที่คุณได้รับโอนมา คุณได้รับมาในรูปแบบใด ซึ่ง iTAX จะขอยกตัวอย่าง 3 กรณีที่พบบ่อยต่อไปนี้

3.1 ทำของขาย หรือ เปิดโดเนทโดยมีสิ่งของตอบแทน

ในกรณีที่คุณเปิดโดเนทหรือทำการรวบรวมเงินในลักษณะที่มีการผลิตสินค้าออกมาขาย หรือมีการกำหนดยอดเงินโดเนทขั้นต่ำ เพื่อแลกกับสินค้าตามที่กำหนดไว้นั้น หากว่ากันตามกฎหมาย เงินที่คุณได้จากการขายของที่ระลึก หรือขายสินค้า จะถูกจัดเป็นเงินรายได้ที่มาจากการขายของของคุณทันที (เงินได้ที่เกิดจากการขายของ เข้าข่ายเป็น เงินได้ประเภท 8 หรือ เงินได้ 40(8)) แม้ว่าสุดท้ายคุณจะนำกำไรที่ได้นี้ไปโดเนทให้ศิลปินต่อก็ตาม

อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจจะบอกว่า ในการผลิตสินค้ามักจะมีต้นทุนการผลิตอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่า กฎหมายไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้น และคุณสามารถใช้สิทธิ หักค่าใช้จ่าย แบบเหมา 60% ของยอดขาย หรือหักตามต้นทุนจริงก็ได้ (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย) และเจ้าของบัญชีจะต้องนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมายื่นภาษีเงินได้ประจำปี และหากมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี เจ้าของบัญชีก็ต้องเสียภาษีให้เรียบร้อยด้วย

และหากถูกสรรพากรเรียกไปชี้แจง เพราะเข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ?

กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ขายสินค้าให้เพื่อนร่วมด้อม 3,000 คน หรือขายสินค้าให้เพื่อนร่วมด้อม 400 คน แล้วได้เงินจากการขายสินค้ามา 2,000,000 บาท ทำให้ธุรกรรมรับโอนเงินครบจำนวนครั้งที่กรมสรรพากรกำหนด ธนาคารที่คุณใช้บริการจะต้องนำส่งข้อมูลการทำธุรกรรมของคุณให้กรมสรรพากร และในกรณีที่คุณทำการรับโอนเงินจนครบจำนวนครั้ง อาจเกิดเหตุการณ์ที่คุณต้องรับมือ ดังนี้

  • ได้รับหนังสือแจ้งว่าสรรพากรเรียกพบ ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะสิ่งที่คุณต้องทำคือเตรียมให้ครบถ้วน จากนั้นเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร พร้อมทำการชี้แจงกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้เลย
  • กรณีได้ หนังสือแนะนำให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะหากคุณไม่ได้ทำการยื่นภาษีให้เรียบร้อย คุณสามารถทำการยื่นภาษี และเสียภาษี (ในกรณีที่มีรายได้ถึงเกณฑ์) ได้ตามปกติ

เรื่องอาจจะดูเหมือนจบง่าย แต่ในกรณีที่คุณไม่ได้ทำการแยกบัญชีระหว่างบัญชีที่ใช้รับเงินโดเนท และบัญชีที่สำหรับใช้ส่วนตัวออกจากกัน คุณอาจจะต้องใช้เวลากับการชี้แจงที่มาของจำนวนเงินเหล่านั้นนานซักหน่อย (อาจจะต้องนั่งชี้แจงทีละรายการ) นั่นหมายความว่า หากคุณไม่อยากมีปัญหาเรื่องนี้ในอนาคต การแยกบัญชีสำหรับรับโอนเงินเพื่อขายของสำหรับโดเนท ออกจากบัญชีส่วนตัวจะเป็นการดีที่สุด

3.2 ใช้บัญชีตัวเองเป็นตัวแทนหรือตัวกลางเพื่อรับเงินโดเนทเท่านั้น

ในกรณีที่การเปิดรับโดเนทของคุณนั้นเป็นเพียง “การรับเงินเพื่อส่งต่อ หรือ รวบรวมเงินเพื่อทำกิจกรรมให้ศิลปิน” เช่น การเปิดรวบรวมเงินเพื่อซื้อป้ายโฆษณาให้ศิลปินตามจุดต่างๆ การรับเงินโดเนทเพื่อทำกิจกรรมในนามแฟนคลับ เป็นตัวกลางในการรับเงินโดเนทเพื่อส่งต่อให้กลุ่มแฟนคลับต่างประเทศ ฯลฯ

โดยไม่มีการค้าขายสินค้าไม่ว่าจะเป็นแฟนอาร์ตหรือสินค้า Official เข้ามาเกี่ยวข้อง คุณก็สบายใจได้ เพราะคุณทำหน้าที่เพียงตัวกลางรับเงินไปให้ปลายทางเหมือนงานทำบุญทั่วไปเท่านั้น เงินดังกล่าวไม่ได้ทำให้คุณร่ำรวยขึ้น จึงไม่ใช่รายได้ที่คุณต้องนำมาเสียภาษีแต่อย่างใด

หรือแม้จะเป็นเงินที่แฟนคลับตั้งใจโอนให้คุณโดยตรงเพื่อตอบแทนน้ำใจที่คุณยอมทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ หากเงินที่คุณได้รับจากการโดเนทมีจำนวนไม่เกิน 10 ล้านบาท การได้รับเงินในส่วนนี้จะกลายเป็นการได้รับโดยเสน่หา ที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องนำไปเสียภาษี

แต่ถ้าเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป เงินส่วนเกิน 10 ล้านบาทที่คุณได้รับมานั้นจะถือเป็นเงินได้ประเภท 8 (เงินได้ 40 (8)) ซึ่งเป็นเงินได้ที่ต้องทำการยื่นภาษีและเสียภาษีอยู่แล้ว และแน่นอนว่า คุณสามารถเลือกได้ว่า จะเสียภาษีในอัตรา 5% หรือ นำไปรวมคำนวณกับเงินได้ที่คุณมีตลอดทั้งปีก็ได้ (เพิ่มเติมที่ ภาษีการให้)

และหากถูกสรรพากรเรียกไปชี้แจง เพราะเข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ?

เราแนะนำให้คุณเตรียมเอกสารที่สรรพากรร้องขอ พร้อมหลักฐานการใช้จ่ายเงินเพื่อชี้แจงกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรให้เรียบร้อย และควรชี้แจงรายละเอียดการได้รับเงินและใช้จ่ายเงินตามจริงจะเป็นการดีที่สุด และหากคุณไม่ได้ทำการแยกบัญชีสำหรับการรับโอนเงินโดเนทและบัญชีใช้จ่ายส่วนตัวออกจากกัน คุณอาจจะใช้เวลาในการชี้แจงที่มาที่ไปของเงินเหล่านั้นนานซักหน่อย

ดังนั้น ทีมงาน iTAX แนะนำให้คุณแยกบัญชีสำหรับรับโอนเงินโดเนท ออกจากบัญชีส่วนตัวของคุณ พร้อมทั้งเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้ให้เรียบร้อย เพราะเอกสารต่างๆ เหล่านี้จะช่วยลดความยุ่งยากเมื่อคุณต้องชี้แจงรายได้กับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้เยอะทีเดียว

3.3 เปิดโดเนท หรือรวบรวมเงินเพื่อซื้อสิ่งของ / อัลบั้ม และมีการขายของเพื่อต่อยอดด้วย

ในกรณีที่คุณทำการเปิดโดเนท โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการรวบรวมเงินเพื่อทุ่มซื้ออัลบั้ม หรือ สินค้า Official เพราะต้องการกระตุ้นยอดขาย หรือยอดโหวตใดๆ ก็ตามแต่ โดยที่ไม่ต้องนำอัลบั้มหรือสินค้า Official นั้นไปแจกจ่ายคืนให้เพื่อนร่วมด้อมที่โอนเงินมาให้ ในกรณีนี้ หากคุณได้รับเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ก็ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องนำไปเสียภาษี

แต่ถ้าสินค้าที่คุณซื้อมาด้วยเงินโดเนทนั้นคุณตั้งใจจะนำไปขายต่อเองอีกทีด้วย เช่น ขายการ์ดสะสมที่มากับอัลบั้ม ขายโปสเตอร์ Official Goods ของสมาชิกคนอื่นๆ ฯลฯ แม้ว่าเงินที่ได้จากการขายสินค้าต่างๆ จะถูกนำไปรวมสำหรับทำกิจกรรมของศิลปินหรือไม่ก็ตาม แต่เงินจากการขายของในส่วนนี้จะกลายเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทันที

ทั้งนี้เพราะกฎหมายกำหนดให้ เงินที่ได้จากการขายสินค้าประเภทซื้อมาขายไป เป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้ 40 (8)) ซึ่งจะแตกต่างจากการขายของสะสมของตัวเองที่ไม่มีเจตนาจะซื้อมาเพื่อขายแต่แรก

สรุปง่ายๆ คือ

1. หากคุณอาสาเป็นคนกลางในการรับโอนเงิน หรือรวบรวมเงินจากกลุ่มแฟนคลับหลายๆ คนไว้เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ให้กับศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อบริจาค หรือ ซื้อป้ายโฆษณา ฯลฯ หรือ เป็นคนกลางในการรับเงินเพื่อส่งต่อให้กับการทำกิจกรรมของกลุ่มแฟนคลับที่ต่างประเทศ อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีการขายของเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล

2. เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการค้าขายเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ว่าจุดประสงค์ของการขายสินค้าเหล่านั้นเป็นไปเพื่อนำเงินไปสนับสนุนกิจกรรมของศิลปิน ไม่ใช่เพื่อหารายได้ส่วนตัว เงินที่คุณได้รับจากการขายของย่อมเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายกำหนด และเจ้าของบัญชีจะต้องทำการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี และหากมี รายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี เจ้าของบัญชีจะต้องทำการเสียภาษีให้ถูกต้องด้วย

3. ควรแยกบัญชีใช้ส่วนตัว และบัญชีสำหรับการรับโอนเงินเพื่อกิจกรรมโดเนทออกจากกัน เพื่อให้คุณสามารถชี้แจงที่มาที่ไปของเงินกับเจ้าหน้าที่สรรพากรได้ง่ายขึ้น เพราะเราเชื่อว่าคุณคงไม่อยากใช้เวลาเป็นวัน (หรือหลายๆ วัน) เพื่อนั่งชี้แจงรายการเดินบัญชีกับเจ้าหน้าที่สรรพากรทีละบรรทัดแน่ๆ

4. ควรทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย และเก็บเอกสารที่การใช้จ่ายเงินไว้ให้ครบถ้วน เช่น เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดการปิดรับเงินโดเนทหรือจบกิจกรรมรวบรวมเงินแล้ว คุณมียอดเงินที่ได้รับจากกิจกรรมโดเนทเป็นจำนวนเท่าไหร่? ใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เพื่อให้คุณมีหลักฐานที่ใช้สำหรับชี้แจงกับเจ้าหน้าที่สรรพากรในอนาคต

ย้ำอีกครั้งว่า การที่ธนาคารส่งข้อมูลการทำธุรกรรมของคุณให้กรมสรรพากร ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องเสียภาษีแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่จะตัดสินว่า คุณต้องเสียภาษีหรือไม่ก็คือ ที่มาของรายได้ และรายได้ตลอดทั้งปีของคุณเท่านั้น และเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นหรือเสียภาษี ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว

ดังนั้น มั่นใจได้เลยว่า แม้ว่าคุณจะใช้บัญชีชื่อตัวเองในการรับโอนเงิน หรือ เป็นบัญชีกลางในการรวบรวมเงินเพื่อทำกิจกรรมของศิลปิน แต่หากไม่มีการขายของ หรือ รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี คุณก็จะไม่ถูกบังคับให้เสียภาษีแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การโดเนทเงินให้ศิลปินนำไปลดหย่อนภาษีไม่ได้นะ แต่เงินโดเนทจะกลายเป็นรายได้ที่ค่ายต้องเอาไปเสียภาษีอีกที

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)