รีวิว แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 / 91 ประจำปีภาษี 2564

วิเคราะห์

82,477 VIEWS

iTAX กลับมารีวิวแบบฟอร์มภาษีให้ผู้เสียภาษีเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี ปีนี้เรามาดูความเปลี่ยนแปลงกันว่าแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90/91 ปีภาษี 2564 ต่างจากปีที่แล้วอย่างไร เพื่อให้ผู้เสียภาษีได้เตรียมตัว ยื่นภาษี ได้อย่างถูกต้องเช่นเคย

1. ค่าลดหย่อนเก่าไป-ใหม่มา

รีวิว แบบฟอร์ม ภงด 90 ภงด 91

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่หายไปในปีภาษี 2564 ได้แก่

  • ค่าลดหย่อน SSFX
  • ช้อปดีมีคืน 2563 และ
  • โครงการบ้านหลังแรก

สำหรับปีภาษี 2564 นี้ เรียกได้ว่าเป็นการปิดฉาก ‘โครงการบ้านหลังแรก’ อย่างเป็นทางการ โดยโครงการบ้านหลังแรก เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม สิทธิดังกล่าวสามารถใช้ได้ถึงปีภาษี 2563 เป็นปีสุดท้าย และได้หมดอายุลงอย่างเป็นทางการแล้วในปีภาษี 2564 ทำให้กรมสรรพากรนำช่องใช้สิทธิดังกล่าวออกจากแบบฟอร์มภาษี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ของปีภาษี 2564 ในที่สุด

ส่วนช้อปดีมีคืนที่กลับมาก็เป็นค่าลดหย่อนของปีภาษี 2565 เนื่องจากต้องเป็นค่าซื้อสินค้า/บริการตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 จึงไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีสำหรับปีภาษี 2564 ได้

ในทางกลับกัน ปีภาษี 2564 ก็มีค่าลดหย่อนใหม่เพิ่มขึ้นมา 1 รายการ คือ ค่าลดหย่อนเงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งให้สิทธิบุคคลธรรมดานำเงินลงทุนในธุรกิจ Social Enterprise มาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 100,000 บาท

2. เลิกระบุ “ปีภาษี” บน ภ.ง.ด.90 / 91 แล้ว

รีวิว แบบฟอร์ม ภงด 90 ภงด 91

จุดแรกที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน อยู่บนหัวกระดาษด้านซ้ายของทั้งแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 คือ เปลี่ยนจากเลขปีภาษี (ปี พ.ศ.) ซึ่งเคยระบุแยกเป็นปีๆ มาเป็นช่องว่างที่มีแต่จุดไข่ปลา (…….) เพื่อให้ผู้เสียภาษีเป็นผู้ระบุปีภาษีเอง

คาดว่าเพื่อให้สามารถนำแบบฟอร์มภาษี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 นี้นำกลับมาใช้ซ้ำได้สำหรับการยื่นภาษีในปีถัดๆ ไป เนื่องจากโดยปกติแล้วกรมสรรพากรจะเตรียมแบบฟอร์มภาษีพิมพ์รอไว้ให้ผู้เสียภาษีมารับได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้าน ดังนั้น หากพ้นปีไปแล้ว แบบฟอร์มที่พิมพ์รอไว้แต่ใช้ไม่หมดจะยังไม่กลายเป็นขยะทันที เพราะยังสามารถนำไปใช้งานต่อได้

นอกจากนี้ ยังทำให้ประเมินสถานการณ์ได้ว่า จากนี้ไปเราน่าจะได้เห็นแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ที่นิ่งจริงๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมรายละเอียดในแบบฟอร์มเป็นรายปีเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว การออกแบบของปีภาษี 2564 นี้จึงน่าจะเป็นแบบฟอร์มที่รายละเอียดนิ่งแล้วจริงๆ เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ในปีภาษีต่อๆ ไปได้

3. ระบุ “ปีภาษี” บนใบแนบค่าลดหย่อนแทน

รีวิว แบบฟอร์ม ภงด 90 ภงด 91

แม้กรมสรรพากรจะเลิกระบุปีภาษีบนแบบฟอร์มภาษี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 แต่เลือกจะมาระบุปีภาษีไว้อย่างชัดเจนบนใบแนบแสดงรายการค่าลดหย่อนประจำปีแทน

ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ประเมินได้ว่า จากนี้ไปทุกปี ใบแนบค่าลดหย่อนจะเป็นแบบฟอร์มที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี และไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ดังนั้น หากพ้นปีไปแล้ว แบบฟอร์มที่พิมพ์รอไว้ใช้ไม่หมดอาจกลายเป็นขยะที่ไม่สามารถนำไปใช้งานต่อได้

4. ย้าย QR Code แนะนำวิธีกรอกแบบฟอร์มมาไว้ในใบแนบแทน

รีวิว แบบฟอร์ม ภงด 90 ภงด 91

สืบเนื่องจากกรมสรรพากรน่าจะต้องการทำให้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 นิ่งที่สุด จึงพยายามนำสิ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในปีภาษีถัดไปออกจากแบบฟอร์มทั้งหมด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ QR Code แนะนำวิธีกรอกแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 จากเดิมที่เคยอยู่หน้าแรกของแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ให้มาอยู่ในใบแนบค่าลดหย่อนแทน เนื่องจากใบแนบค่าลดหย่อนเป็นแบบฟอร์มที่เปลี่ยนแปลงทุกปีอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า QR Code แนะนำช่องทาง LINE Official Account ของกรมสรรพากร ที่เคยอยู่ในแบบฟอร์มปีภาษี 2563 ถูกนำออกจากแบบฟอร์มไปแล้วในปีภาษี 2564 แต่การตรวจสอบพบว่ายังมี LINE Official Account ดังกล่าวอยู่ แต่ไม่แน่ใจว่ายังคงมีเจ้าหน้าที่สรรพากรดูแลระบบอยู่หรือไม่

สรุป

ภาพรวมปีภาษี 2564 แล้วค่าลดหย่อนมีความเปลี่ยนแปลงในระดับนึง แบบฟอร์มปีภาษี 2564 ก็มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญบางจุด ซึ่ง กรมสรรพากร ได้ออกคำชี้แจงวิธีการกรอกอย่างละเอียดเหมือนทุกปีที่ผ่านมา ผู้เสียภาษีจึงควรศึกษาวิธีการกรอกให้ครบถ้วนก่อนเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเองได้อย่างเต็มที่

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)