ยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี 2562 (ภ.ง.ด. 94) ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอะไรได้บ้าง?

ลดหย่อนภาษี

24,946 VIEWS

แม้จะรู้หน้าที่กันดีอยู่แล้วว่า หากรายได้เข้าข่าย เงินได้มาตรา 40 (5) – (8) จะต้องทำการยื่นแบบและเสียภาษีครึ่งปีด้วยแต่ผู้เสียภาษีหลายคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่า การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับบุคคลที่ต้องทำการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) นั้น มีเงื่อนไขที่ต่างจากการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีอย่างไร iTAX รวมเงื่อนไขทั้งหมดมาให้แล้ว

กลุ่มที่ลดหย่อนได้ตามปกติ

1. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ

  • ค่าเบี้ยประกันสุขภาพตนเอง

ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีครึ่งปีได้นั้น จะต้องเป็นค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายในเดือน มกราคม – มิถุนายน (ในปีภาษีนั้นๆ ) และสามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าเบี้ยประกันชีวิต สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท)

  • ค่าเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่

ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ตนเอง หรือค่าเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

2. ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร

ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร สามารถลดหย่อนภาษีได้ครั้งละไม่เกิน 60,000 บาท ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และการคลอดบุตรไม่ได้เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน ผู้เสียภาษียังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่รวมกันลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท

3. กองทุน LTF ลดหย่อนภาษี

กองทุนรวมระยะยาว (LTF) สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน ร้อยละ 15 ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีที่ได้รับ และไม่เกิน 500,000 บาท

4. กองทุน RMF ลดหย่อนภาษี

ในกรณีที่คุณซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท และต้องซื้อไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี

5. เงินบริจาคลดหย่อนภาษี

เงินบริจาคลดหย่อนภาษี สำหรับการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) แบ่งออกได้ 3 กรณี คือ

  • บริจาคให้ศาสนสถาน, องค์กรการกุศล สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่บริจาคจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนอื่นๆ และเงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาที่ได้รับการยกเว้นภาษี
  • บริจาคเงินแก่สถานศึกษา สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาคจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย (สามารถบริจาคผ่านระบบ e-Donation ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2562)
  • บริจาคเงินแก่สถานพยาบาลราชการ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาคจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย

6. ค่าลดหย่อนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ค่าลดหย่อนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามยอดที่จ่ายจริงได้สูงสุด 13,200 บาท

7. ค่าลดหย่อนท่องเที่ยว

ค่าลดหย่อนท่องเที่ยว สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ทั้งค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง แต่จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายในวันที่ 30 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562 เท่านั้น ซึ่ง

  • ค่าบริการหรือค่าที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
  • ค่าบริการหรือค่าที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองหลัก ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ในกรณีที่มีจ่ายค่าบริการและค่าที่พักทั้งในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง จะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้รวมกันไม่เกิน 20,000 บาท

8. ค่าลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา

ค่าลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา หากซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬาจากร้านค้าที่ทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2562 สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท

9. ค่าลดหย่อนช้อปช่วยชาติ

ค่าลดหย่อนช้อปช่วยชาติ เช่น การซื้อยางรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ, ซื้อหนังสือ หรือ e-book และสินค้า OTOP ระหว่างวันที่ 1 – 16 มกราคม 2562 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ช้อปช่วยชาติ 2561 – 2562)

10. สินค้า OTOP ลดหย่อนภาษี

สินค้า OTOP ลดหย่อนภาษี หากซื้อสินค้าจากร้านค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน ภายในวันที่ 30 เมษายน – 30 มิถุนายน  2562 สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

11. ซื้อหนังสือ หรือ e-book ลดหย่อนภาษี

ซื้อหนังสือ หรือ e-book ลดหย่อนภาษี สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท

12. บ้านหรือคอนโดหลังแรก ลดหย่อนภาษี

บ้านหรือคอนโดหลังแรก ลดหย่อนภาษี สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท (มูลค่าบ้านหรือคอนโดจะต้องไม่เกิน 5,000,000 บาท) และจะต้องเป็นบ้านหรืออาคารชุดที่ทำการจดทะเบียนโอนกรมสิทธิ์เสร็จเรียบร้อย ภายในวันที่ 30 เมษายน –  31 ธันวาคม 2562

13. ค่าลดหย่อนรายจ่ายจากเหตุการณ์พายุป่าบึก

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนป่าบึก สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 กรณี

  • รายจ่ายค่าซ่อมบ้านน้ำท่วม ที่เกิดขึ้นภายในวันที่ 3 มกราคม – 31 มีนาคม 2562 สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท
  • รายจ่ายค่าซ่อมรถ ที่เกิดขึ้นภายในวันที่ 3 มกราคม – 31 มีนาคม 2562 สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ค่าลดหย่อนรายจ่ายจากเหตุการณ์พายุป่าบึก)

14. ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านเครื่อง EDC

ในกรณีที่คุณมีเงินได้จากค่าเช่า 40(5), ค่าวิชาชีพอิสระ 40(6), ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ 40(7) หรือ เงินได้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ 40(8) รวมกันไม่เกิน 30 ล้านบาทในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีก 100% ของรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC)

15. เงินลงทุนธุรกิจ Startup

ในกรณีที่คุณจ่ายเงินเพื่อร่วมลงหุ้น หรือ ลงทุนธุรกิจ Startup ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2562 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

16. เงินบริจาคพรรคการเมือง

เงินบริจาคพรรคการเมือง ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 10,000 บาท

กลุ่มที่ลดหย่อนได้น้อยกว่าปกติ

17. ค่าลดหย่อนส่วนตัว

ผู้เสียภาษีสามารถใช้หักลด ค่าลดหย่อนส่วนตัว ได้ 30,000 บาท (ค่าลดหย่อนทั้งปี 60,000 บาท)

18. ค่าลดหย่อนคู่สมรส

18.1 คู่สมรสมไม่มีเงินได้ หรือ มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) – (4) สามารถหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)

18.2 กรณีคู่สมรสมีเงินได้มาตรา กรณีที่คู่สมรสมีเงินได้ ตามมาตรา 40 (5) – (8)

  • กรณีรวมยื่นภาษี ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัวได้ 30,000 บาท และสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนคู่สมรสได้ 30,000 บาท
  • กรณีแยกยื่นภาษี ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัวได้ 30,000 บาท และจะไม่สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีคู่สมรสได้

19. ค่าลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมาย

ค่าลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท) โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร แต่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้ในกรณีที่บุตรมีอายุไม่เกิน 25 ปี ยังศึกษาในชั้นมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษาเท่านั้น

แต่ถ้าเป็นบุตรคนที่สองเป็นต้นไปที่เกิด พ.ศ. 2561 หรือหลัง พ.ศ. 2561 สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)

20. ค่าลดหย่อนบิดามารดาตนเอง

ค่าลดหย่อนบิดามารดาตนเอง สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท) และมีข้อแม้ว่า บิดามารดาจะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาท (บุตรบุญธรรมจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีครึ่งปีได้)

21. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ

ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)

22. ค่าเบี้ยประกันชีวิต

ค่าเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำค่าเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน มาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แบ่งออกเป็น

  • ส่วนที่จ่ายไม่เกิน 10,000 บาท สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ครึ่งนึง แต่ไม่ต้องเกิน 5,000 บาท
  • ส่วนที่จ่ายเกิน 10,000 บาท สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 90,000 บาท

เช่น คุณจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 จำนวน 100,000 บาท หากคุณยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 จะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 95,000 บาท ( 10,000 บาทแรกใช้ลดหย่อนภาษีได้ครึ่งหนึ่ง คือ 5,000 บาท และลดหย่อนภาษีส่วนที่เกิน 10,000 บาท คือ 90,000 บาท  เมื่อนำ 5,000 + 90,000 = 25,000 บาท )

ทั้งนี้หากคุณไม่ต้องการใช้สิทธิค่าเบี้ยประกันชีวิตลดหย่อนภาษีตอนที่ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) เนื่องจากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตอนยื่นภาษีเงินได้ประจำปี (ภ.ง.ด. 90,91) ก็สามารถทำได้

23. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

24. ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย

สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามยอดที่จ่ายจริงได้สูงสุด 95,000 บาท (จ่ายระหว่างเดือน มกราคม – มิถุนายน) แบ่งออกเป็น

  • ส่วนที่จ่ายไม่เกิน 10,000 บาท สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ครึ่งนึง แต่ไม่ต้องเกิน 5,000 บาท
  • ส่วนที่จ่ายเกิน 10,000 บาท สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 90,000 บาท

25. ค่าลดหย่อนประกันสังคม

ในกรณีที่คุณจ่าย เงินสมทบกองทุนประกันสังคม สามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 2,592 บาท และมีข้อแตกต่างในการยื่นภาษี  2 กรณี คือ

  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สามารถทำการยื่นภาษีครึ่งปี และใช้สิทธิลดหย่อนประกันสังคมผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย
  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนประกันสังคม คุณจะต้องทำการยื่นภาษีที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเท่านั้น ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ได้

เราเป็นผู้ประกันตนมาตราไหน?

  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 คือ บุคคลที่เคยทำงานในบริษัท หรือ เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน แต่ตกงานหรือลาออก และต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้
  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือ บุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ที่ไม่เคยเป็นพนักงานบริษัท ไม่เป็นข้าราชการหรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม และแน่นอนว่า ต้องไม่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ 39 มาก่อน

กลุ่มที่ลดหย่อนไม่ได้

26. ค่าลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ค่าลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนในการยื่นภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด.94 ได้ จะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สำหรับการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลประจำปีเท่านั้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับรายได้จากงานประจำ

ย้ำกันอีกครั้งว่า กำหนดการยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ของปีภาษี 2562 นั้น คุณสามารถยื่นแบบและเสียภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 และสามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2562  (ดาวน์โหลดแบบแสดงรายการภาษีได้ที่ www.rd.go.th)

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)