ขอคืนภาษี ต้องทำอย่างไร? แนะนำทีละขั้นตอนแบบเข้าใจง่าย

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

19,224 VIEWS

ขอคืนภาษี ต้องทำอย่างไร? แนะนำทีละขั้นตอนแบบเข้าใจง่าย สามารถทำเองได้ทุกขั้นตอน โดยการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 และวิธีตรวจสอบสถานะเงินคืนภาษีด้วยตัวเอง

ขอคืนภาษี ต้องทำอะไรบ้าง?

ในกรณีที่ผู้เสียภาษีต้องการขอคืนภาษีเงินได้จากกรมสรรพากร ผู้เสียภาษีสามารถทำเองได้ทีละขั้นตอนดังนี้

  1. ตรวจสอบข้อมูลรายได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และค่าลดหย่อนระหว่างปีให้ครบถ้วน
    • ข้อมูลรายได้ และ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย สามารถตรวจสอบได้จากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ด้วยอีกช่องทาง
    • ข้อมูลค่าลดหย่อนสามารถตรวจสอบได้จากระบบ My Tax Account ของกรมสรรพากรอีกช่องทางได้ด้วยเช่นกัน
  2. คำนวณภาษีก่อนว่าค่าภาษีเป็นเท่าไหร่ และมากกว่าที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปีหรือไม่
    • กรณีค่าภาษีที่คำนวณได้ มากกว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่ายระหว่างปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิ “ขอคืนภาษี” ได้
    • กรณีค่าภาษีที่คำนวณได้ น้อยกว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่ายระหว่างปี ผู้เสียภาษีไม่มีสิทธิ “ขอคืนภาษี” และต้องจ่ายภาษีส่วนที่ขาดอยู่เพิ่มเติมด้วย
  3. เมื่อตรวจสอบข้อมูลรายได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และค่าลดหย่อนระหว่างปีแล้ว และคำนวณภาษีแล้วพบว่ามีสิทธิขอคืนภาษีได้ ให้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีตามช่องทางที่กรมสรรพากรกำหนด
  4. ขณะยื่นภาษีประจำปี ให้เลือกแสดงความประสงค์จะขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกิน
  5. เมื่อยื่นภาษีเสร็จแล้ว ให้ตรวจสอบสถานะเงินคืนภาษีเป็นระยะ ผ่านระบบ My Tax Account ของกรมสรรพากร เพื่อเช็กว่าดำเนินการเรียบร้อยดีหรือไม่ หรือเจ้าหน้าที่สรรพากรต้องการขอเอกสาร/หลักฐานใดเพิ่มเติมหรือไม่
  6. หากการพิจารณาขอคืนภาษีเรียบร้อย คุณจะได้รับเงินคืนภาษีผ่านบัญชีธนาคารที่ผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้กับเลขบัตรประชาชนของคุณ

10 เรื่องที่ควรรู้ก่อนยื่นภาษีครั้งแรก

การยื่นภาษีประจำปีสำหรับผู้ที่กำลังจะต้องทำหน้าที่เป็นครั้งแรก อาจยังไม่แน่ใจว่าจะต้องเริ่มต้นจากตรงไหน iTAX จึงรวมหลากคำถามที่คนยื่นภาษีครั้งแรกมักจะสงสัย และสอบถามกันเข้ามาบ่อยๆ เพื่อให้คุณสามารถ ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ได้อย่างถูกต้องที่สุด

1. เงินได้ คืออะไร?

กฎหมายบอกว่า เงินได้ คือ อะไรก็ได้ที่มีผลทำให้เรารวยขึ้น หรือหากจะอยากเข้าใจง่ายกว่านั้น ก็ต้องบอกว่า เงินได้ ก็คือ รายได้ที่เราได้รับจากการทำงาน ขายของ ฯลฯ และไม่ว่าคุณมีรายได้ในรูปแบบของเงินสด, ทรัพย์สินที่ตีราคาได้, สิทธิประโยชน์ที่ตีราคาได้, เงินค่าภาษีที่มีคนจ่ายแทนเรา หรือ เครดิตเงินปันผล ฯลฯ ล้วนเป็นถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนดทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่า จะมีกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่า รายได้ของคุณได้รับการยกเว้นภาษี

เพิ่มเติมที่ เงินได้

2. ใบ 50 ทวิ คืออะไร หาได้จากที่ไหน?

ใบ 50 ทวิ หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย คือ เอกสารที่จะถูกใช้เป็นหลักฐานว่า การรับเงินของคุณนั้นถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบุคคลที่คุณสามารถขอใบ 50 ทวิ หรือ หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายนั้น ก็คือ บริษัท หรือ คนที่จ่ายเงินค่าจ้างให้คุณนั่นแหละ

นั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะมีรายได้จากการทำงานประจำเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือ เป็นฟรีแลนซ์ หรือประกอบอาชีพอิสระ ทุกครั้งที่ได้รับเงินจากบริษัทหรือผู้ว่าจ้าง จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และต้องได้รับใบ 50 ทวิเหมือนกันทั้งหมด เพราะกฎหมายกำหนดไว้ดังนี้

กรณีทำงานประจำ

  • ถ้าทำงานจนถึงสิ้นปี นายจ้างหรือบริษัทจะต้องออกใบ 50 ทวิให้แก่ลูกจ้างภายในวันที่ 15 ก.พ. ปีถัดไป
  • ถ้าออกจากงานระหว่างปี นายจ้างหรือบริษัทจะต้องออกใบ 50 ทวิ ให้แก่ลูกจ้างภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน

กรณีเป็นคนทำงานอิสระ หรือมีรายได้อื่นๆ

  • กรณีที่เป็นฟรีแลนซ์ ประกอบอาชีพอิสระ หรือรายได้อื่นๆ คุณจะต้องได้รับใบ 50 ทวิทุกครั้งที่มีการรับเงิน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินหรือผู้ว่าจ้าง ต้องออกใบ 50 ทวิ ให้ผู้รับเงิน หรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทันที

ใบ 50 ทวิ หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเอกสารสำคัญที่จะช่วยให้คุณเตรียมภาษี หรือ ยื่นภาษีได้ง่ายขึ้น เพราะคุณสามารถนำตัวเลขที่ระบุในเอกสาร (ทั้งรายได้ที่ได้รับทั้งปีและภาษี ณ ที่จ่ายที่ถูกหักสะสม) มาใช้ในการคำนวณภาษี หรือ ยื่นภาษีได้ทันที

เพิ่มเติม ใบ 50 ทวิ

3. เลขประจำตัวผู้เสียภาษี คือเลขอะไร หาได้จากไหน?

เลขประจำตัวผู้เสียภาษี คือ เลขที่กรมสรรพากรกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานในการบริหารจัดเก็บภาษี โดยเลขประจำตัวผู้เสียภาษีในปัจจุบัน สามารถแยกออกได้เป็น

ผู้เสียภาษี เลขประจำตัวผู้เสียภาษี คือ
บุคคลธรรมดา
  • เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
  • เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก ที่ออกโดยกรมสรรพากร
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เลขทะเบียนนิติบุคคล ที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ห้างหุ้นส่วน หรือ คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก ที่ออกโดยกรมสรรพากร
กิจการร่วมการค้า (Join Venture) เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก ที่ออกโดยกรมสรรพากร

ส่วนใครที่ไม่แน่ใจว่าจะไปหาเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทหรือบุคคลที่จ่ายเงินค่าจ้างให้เราได้จากไหนก็ไม่ต้องเครียดไป เพราะเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทหรือผู้ว่าจ้างนั้น จะถูกระบุอยู่ในหนังสือหัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ที่คุณได้รับทุกๆ สิ้นปี หรือ เมื่อมีการจ่ายเงินค่าจ้างแก่คุณ โดยคุณสามารถกวาดสายตาหาได้จากส่วนบนของเอกสารหัก ณ ที่จ่าย หรือ จำไว้ให้ขึ้นใจว่า

  • ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย คือ บริษัท, ผู้ว่าจ้าง, ผู้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่เรา
  • ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย คือ บุคคลที่ได้รับเงินค่าจ้าง (ตัวเรา)

เพิ่มเติมที่ : ผู้เสียภาษี , www.rd.go.th

4. หักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปีไปแล้ว ต้องยื่นภาษีอยู่อีกมั้ย?

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า เมื่อรายได้ของเราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ก็หมายความว่า เราได้ทำการจ่ายภาษีเสร็จสิ้นแล้ว หรือ เข้าใจว่า ผู้ว่าจ้างได้ทำการจ่ายภาษีให้เราเรียบร้อยแล้ว และไม่ต้อง ยื่นภาษี 2565 อีกแล้ว แต่ความเป็นจริงคือ

รายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น เป็นเพียงการจ่ายภาษีล่วงหน้าส่วนหนึ่งเท่านั้น และคุณยังมีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีเหมือนเดิม

และการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ได้เป็นการการันตีว่า คุณจะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หรือ ได้รับเงินคืนภาษี เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่า ตลอดทั้งปีคุณมีรายได้เท่าไหร่? รายได้ของคุณถึงเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดให้จ่ายภาษีหรือไม่? และคุณใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอะไรไปบ้าง เป็นต้น

รู้แบบนี้แล้ว สำหรับการ ยื่นภาษี 2565 (ยื่นต้นปี 2566) เราแนะนำให้คุณเตรียมเอกสารหลักฐานที่แสดงว่า รายได้ของคุณถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้ครบถ้วน พร้อมกับทำการยื่นภาษีให้เรียบร้อย

เพิ่มเติม : หักภาษี ณ ที่จ่าย , ทำไมถึงถูกหักภาษี

5. ภ.ง.ด. 90 กับ ภ.ง.ด. 91 คืออะไร?

สำหรับการกรอกแบบฟอร์มแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น คุณไม่สามารถเลือกกรอกฟอร์มยื่นภาษีได้ตามความชอบใจ แต่จะต้องกรอกแบบฟอร์มตามแหล่งที่มาของรายได้ที่คุณได้รับในปีนั้น พูดง่ายๆ คือ

  • ภ.ง.ด. 90 คือ แบบฟอร์มแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้เสียภาษีที่มีรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากการทำงานประจำหรือเงินเดือน นั่นหมายความว่า หากในปีที่ผ่านมาคุณมีรายได้จากการทำงานอื่น ที่นอกเหนือจากงานประจำ ภ.ง.ด. 90 คือแบบฟอร์มภาษีที่เหมาะกับคุณ
  • ภ.ง.ด. 91 คือ แบบฟอร์มแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้เสียภาษีที่มีรายได้จากการทำงานประจำหรือเงินเดือนเพียงอย่างเดียว นั่นหมายความว่า หากในปีที่ผ่านมาคุณทำงานประจำอย่างเดียว ไม่ได้รับงานนอก หรือไม่ได้มีรายได้หลายทาง ภ.ง.ด. 91 คือแบบฟอร์มภาษีที่เหมาะกับคุณ

ส่วนผู้เสียภาษีที่กลัวว่าจะสับสนเมื่อถึงเวลาที่จะต้องกรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี กลัวจะจำไม่ได้ว่ารายได้ของเราต้องกรอก ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 หรือกลัวยื่นภาษีผิดพลาด คุณสามารถเลือกซ้อมคำนวณภาษีกับ app iTAX ได้ฟรีก่อน ยื่นภาษี 2565 จริง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนยื่นภาษีบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

6. เป็นเด็กจบใหม่ทำงานไม่ถึงปี ต้องยื่นภาษีมั้ย?

เป็นคำถามสุดฮิตที่มักจะเจอได้บ่อยๆ และต้องย้ำให้ชัดเจนว่า การยื่นภาษีและเสียภาษีเป็นสิ่งที่ทุกคนที่มีรายได้จะต้องทำอยู่แล้ว และการยื่นภาษีไม่ได้เกี่ยวกับอายุ หรือ ระยะเวลาการทำงาน นั่นหมายความว่า

ต่อให้คุณเป็นเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน และมีอายุงานยังไม่ครบ 1 ปี เมื่อถึงเวลาก็ต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีเหมือนผู้มีรายได้คนอื่นๆ

ส่วนใครที่กำลังคิดว่า สรรพากรจะรู้ได้อย่างไรว่าตลอดทั้งปีที่ผ่านมาเรามีรายได้เท่าไหร่? กรมสรรพากรมีข้อมูลรายได้ของคุณอยู่แล้ว เพราะทุกๆ ครั้งที่บริษัททำการหัก ณ ภาษีที่จ่ายไว้ บริษัทที่จ่ายค่าจ้างให้คุณจะมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลการหัก ณ ที่จ่ายให้กรมสรรพากรตามที่กฎหมายกำหนด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สรรพากรรู้ได้ไม่ยากว่า คุณมีรายได้เท่าไหร่ ได้รับเงินจากบริษัทหรือนายจ้างคนไหนบ้าง

ส่วนใครที่มั่นใจว่า สรรพากรไม่มีทางรู้แน่นอนว่าคุณมีรายได้เท่าไหร่ เพราะเลือกวิธีรับเงินค่าจ้างเป็นเงินสด หรือเลือกรับเงินแบบไม่หัก ณ ที่จ่าย เราอยากจะบอกว่า อย่าประมาทสรรพากรเกินไปนัก เพราะต่อให้ค่าจ้างของคุณไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่บริษัทที่ทำการว่าจ้างคุณจะต้องทำการส่งรายการค่าใช้จ่ายของบริษัทให้สรรพากร (ซึ่งข้อมูลค่าใช้จ่ายบริษัทย่อมระบุถึงเงินค่าจ้างของคุณด้วย) นั่นหมายความว่า ต่อให้เงินที่คุณได้รับจะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สรรพากรก็รู้ได้ไม่ยากว่า คุณได้รับรายได้จากบริษัทไหน เท่าไหร่บ้าง

และสิ่งหนึ่งที่คุณต้องรู้ก็คือ หากคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ทำการยื่นภาษีให้เรียบร้อย คุณจะมีความผิดตามกฎหมาย และต้องเผชิญหน้ากับโทษปรับทางอาญาสูงสุด 200,000 บาท จำคุกสูงสุด 1 ปี และอาจจะต้องเจอกับค่าปรับและเงินเพิ่มด้วย

เพิ่มเติมที่ บทลงโทษ

7. ถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี ต้องยื่นภาษีอยู่มั้ย?

หลายๆ คนมักจะเข้าใจผิดว่า การยื่นภาษีกับการเสียภาษีคือเรื่องเดียวกัน หรือไม่ก็เข้าใจว่า เมื่อเวลาที่ต้องยื่นภาษีมาถึง ก็เท่ากับว่า เราต้องทำการจ่ายภาษีด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การที่คุณต้องยื่นภาษี ไม่ได้แปลว่า คุณจะต้องเสียภาษีแต่อย่างใด เพราะ

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีทุกคน และเป็นสิ่งที่ต้องทำแม้ว่ารายได้ของคุณจะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การยื่นภาษีเป็นเพียงการแสดงรายได้ที่ได้รับมาตลอดทั้งปีเท่านั้น (ปกติการยื่นภาษีจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี)

การเสียภาษี

เป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ซึ่งคุณจะต้องเสียภาษีก็ต่อเมื่อมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท เท่านั้น ซึ่งสามารถคำนวณได้ง่ายๆ โดย

เงินได้ตลอดทั้งปี – ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ฿100,000 – ค่าลดหย่อนส่วนตัว ฿60,000 = เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี

หมายเหตุ

  • หากคุณทำการคำนวณหาเงินได้สุทธิแล้วพบว่า เงินได้สุทธิของคุณไม่เกิน 150,000 บาท ก็เท่ากับว่า คุณมีหน้าที่ในการยื่นภาษีเท่านั้น ไม่มีหน้าที่เสียภาษีแต่อย่างใด
  • แต่หากคำนวณเงินได้สุทธิแล้วพบว่า คุณมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท คุณมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

เพิ่มเติมที่ ค่าภาษีตามฐานเงินเดือน , คำนวณภาษี

8. มีเงินเดือนถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษีแต่ไม่ยื่นภาษีได้มั้ย?

“ไม่ได้” เพราะเมื่อคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ยื่นภาษี เมื่อถึงเวลาคุณจะต้องทำการแสดงแบบเงินได้ภาษีบุคคลธรรมดาแม้ว่าคุณอาจจะมีรายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็ตาม และในกรณีที่มีเงินเดือนแต่ไม่ต้องยื่นภาษีนั้น สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อ คุณมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 10,000 บาท หรือ มีรายได้รวมทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท เท่านั้น

เพิ่มเติมที่ เงินเดือนเท่าไหร่ไม่ต้องเสียภาษี

9. ยื่นภาษีไว แต่ทำไมได้เงินคืนภาษีช้า?

สำหรับคนที่ได้รับเงินคืนภาษี อาจจะรู้สึกว่า ทำไมเงินคืนภาษีที่ได้รับคืนจากกรมสรรพากรถึงโอนเข้าพร้อมเพย์ช้า ไม่รวดเร็วทันใจ ไม่เหมือนตอนที่เรายื่นภาษีบ้างเลย เราอยากจะบอกว่า สาเหตุที่ทำให้คุณได้เงินคืนภาษีช้านั้นมีอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น

  • ยื่นภาษีไม่ครบ เช่น กรอกรายได้ไม่ครบถ้วน ทำให้สรรพากรต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบก่อนว่า รายได้ที่คุณยื่นมานั้น ตรงกับข้อมูลที่สรรพากรมีหรือไม่
  • เอกสารไม่ครบ เพราะเอกสารคือหลักฐานที่ยืนยันรายได้ และการใช้สิทธิค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ ของคุณ ดังนั้น การเตรียมเอกสารให้ครบแต่เนิ่นๆ จะช่วยร่นระยะเวลาการรอคอยเงินคืนภาษีของคุณได้
  • พร้อมเพย์ (PromptPay) การขอคืนเงินภาษีผ่านพร้อมเพย์จะช่วยให้คุณได้รับเงินคืนภาษีเร็วขึ้น แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องเป็นพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนเท่านั้นนะ

หมายเหตุ หากคุณทำการยื่นภาษีผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 เมษายน), ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน และ ไม่มีการตรวจพบว่าเลี่ยงภาษีหรือแสดงรายได้ หากคุณทำการยื่นภาษีได้ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขของสรรพากร คุณจะได้รับเงินคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ภายใน 3 วันเท่านั้น!!

เพิ่มเติม : ยื่นภาษีออนไลน์ สรรพากรคืนเงินภาษี ผ่านพร้อมเพย์ ภายใน 3 วัน

10. ยื่นภาษีผิด ยื่นใหม่ได้ไหม?

ในกรณีที่คุณยื่นภาษีไปแล้ว แต่นึกขึ้นได้ว่า มีรายการลดหย่อนภาษีบางรายการที่ไม่ได้กรอก หรือ กรอกรายการเงินได้ไม่ครบ ฯลฯ ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะคุณสามารถทำการยื่นภาษีใหม่ได้ด้วยการ เริ่มต้นยื่นภาษีใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง

กรณียื่นภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต

ในกรณีนี้คุณสามารถกรอกข้อมูลใหม่ ซึ่งระบบจะเตือนว่า คุณทำการยื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว ให้เลือก “การยื่นเพิ่มเติม” จากนั้นทำการแก้ไขเป็นข้อมูลรายได้ที่ถูกต้องได้เลย แต่ในกรณีที่คุณทำการยื่นภาษีเพิ่มเติม เราอยากให้คุณทำการตรวจสอบรายละเอียดทุกอย่างให้ดีอีกครั้ง รวมถึง ความถูกต้องของจำนวนภาษีที่ถูกหักไว้เพิ่มเติมด้วย

ยื่นภาษีผิด แต่ได้เงินคืนภาษีแล้ว

ส่วนใครที่ยื่นภาษีผิดและได้รับเงินคืนภาษีจากสรรพากรเรียบร้อยแล้วแต่พบว่า

  • ได้รับเงินคืนภาษีมากกว่า ในกรณีนี้เราแนะนำให้คุณติดต่อกับเจ้าหน้าที่สรรพากรเขตพื้นที่สาขา เพื่อแจ้งความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จากนั้นสรรพากรจึงจะพิจารณาคืนเงินภาษีตามการยื่นภาษีครั้งใหม่ของคุณ
  • ได้รับเงินคืนภาษีน้อยกว่า ในกรณีนี้ไม่ต้องตกใจไป เพราะหลังจากที่เจ้าหน้าที่สรรพากรพิจารณาแบบแสดงรายการภาษีที่คุณยื่นแก้ไขไปแล้วนั้น เจ้าหน้าที่สรรพากรจะทำการโอนเงินคืนภาษีในส่วนที่เหลือให้คุณอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องที่ต้องรู้

  • ยื่นภาษีใหม่กี่ครั้งก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบเวลา เมื่อยื่นภาษีผิด คุณสามารถทำการยื่นภาษีใหม่ได้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาการยื่นภาษี (ยื่นแบบกระดาษได้ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2566 , ยื่นภาษีผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 เมษายน 2566)
  • ยื่นภาษีผิด เงินคืนภาษีก็ช้าไปด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ต้องทำการตรวจสอบแบบภาษีที่คุณยื่นใหม่อีกครั้ง จึงทำให้เงินคืนภาษีที่คุณจะได้รับก็ช้าลงไปด้วยนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากคุณไม่อยากให้การยื่นภาษีของคุณมีปัญหา หรือ ไม่อยากพบกับการคำนวณภาษีผิดพลาด คุณสามารถเลือกใช้บริการคำนวณภาษีจาก iTAX ได้ เรากล้ารับรองว่า คุณจะไม่ปวดหัวกับภาษี แม้จะไม่มีความรู้เรื่องภาษีก็ตาม (โหลดฟรีทั้ง iOS และ Android)

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)