รู้จัก Risk-Based Audit (RBA) ระบบตรวจสอบ(ไม่)ใหม่ จากสรรพากร

SME

5,770 VIEWS

ผู้เสียภาษีมักจะมีคำถามเกี่ยวกับ ระบบตรวจสอบของกรมสรรพากรอยู่เสมอ หลายคนยังมีความคิดว่า ในกรณีที่รับเงินค่าจ้าง หรือ ทำธุรกิจที่ใช้เงินสดเป็นหลัก หากไม่ทำการยื่นภาษีสรรพากรก็ไม่สามารถทราบได้อยู่ดีว่า คุณมีรายได้เท่าไหร่ หากเป็นเมื่อก่อนความคิดนี้คงไม่ผิดมากนัก แต่คงใช้ไม่ได้กับสรรพากรในยุค 4.0

เพราะในปัจจุบันสรรพากรได้ทำการปรับปรุงระบบตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพ และทันสมัยมากขึ้น นั่นคือ ระบบ Risk Based Audit System หรือ RBA และหากคุณยังไม่แน่ใจว่า ระบบ RBA สามารถช่วยให้สรรพากรรู้ว่า ใครหรือธุรกิจใดเลี่ยงภาษีได้บ้าง เดี๋ยวเราอธิบายให้ฟัง

Risk-Based Audit (RBA) คืออะไร?

Risk-Based Audit (RBA) คือ ระบบที่สรรพากรนำมาใช้คัดกรองผู้ประกอบการและธุรกิจว่า ธุรกิจประเภทใดจัดอยู่ในกลุ่มดีที่ทำบัญชีและยื่นภาษีถูกต้อง หรือ ธุรกิจประเภทใดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเลี่ยงภาษี สรรพากรจึงนำระบบ RBA เข้ามาใช้เพื่อช่วยให้การจัดเก็บภาษีและตรวจสอบภาษีมีความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบ RBA จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลของธุรกิจประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • ข้อมูลที่กรมสรรพากรมี เช่น ข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย, อากรแสตมป์ เป็นต้น
  • ข้อมูลภายนอก (ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ) เช่น ข้อมูลการซื้อรถ, ข้อมูลการต่อทะเบียนรถยนต์, ข้อมูลไฟฟ้าและประปา, ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมศุลกากร เป็นต้น
  • ข้อมูลธุรกิจย้อนหลัง 3 – 5 ปี
  • ข้อมูลการบริหารจัดเก็บภาษี

สรรพากรจะนำข้อมูลข้างต้นมาวิเคราะห์และทำการแบ่งกลุ่มธุรกิจ โดยจะแบ่งออกเป็น กลุ่มธุรกิจดี และ กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาษี เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่สรรพากรจะทำการลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีขั้นตอนคือ

1. พบเพื่อให้คำแนะนำด้านภาษี

สำหรับผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจที่มีเจ้าหน้าที่สรรพากรไปพบปะถึงหน้าประตูบ้านหรือสำนักงานก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะขั้นตอนนี้เป็นเพียงการให้คำแนะนำเพื่อให้เจ้าของธุรกิจทำบัญชีให้ถูกต้องเท่านั้น และหลังจากให้คำแนะนำแล้ว

คุณในฐานะผู้ประกอบการจะต้องทำบัญชีและยื่นภาษีให้ถูกต้องตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด และหากสรรพากรตรวจพบว่า ธุรกิจของคุณยังไม่ให้ความร่วมมือ เจ้าหน้าที่สรรพากรจะดำเนินการขั้นต่อไป

2. ตรวจสอบการยื่นภาษี

เจ้าหน้าที่สรรพากรจะทำการตรวจสอบว่าที่ผ่านมา ธุรกิจของคุณมีการยื่นภาษีถูกต้องหรือไม่ และหากเจ้าหน้าที่สรรพากรพบว่า ที่ผ่านมาธุรกิจของคุณยื่นภาษีไม่ถูกต้อง ธุรกิจของคุณจะต้องทำการแก้ไขและอาจจะเจอกับการจ่ายภาษีย้อนหลัง หรือ ค่าปรับเงินเพิ่มได้

3. ตรวจนับสินค้า และการลงบัญชี

กรณีนี้เจ้าหน้าที่สรรพากรจะเข้าตรวจสอบกิจการของคุณอย่างเคร่งครัด ถ้าจะพูดให้เห็นภาพคือ หากธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจที่มีการสต็อกของ สรรพากรจะดำเนินการตรวจนับสินค้าคงเหลือที่คุณมีว่า ตรงกับตัวเลขในบัญชีที่คุณบันทึกไว้หรือไม่ หากนับแล้วได้เลขไม่ตรงกัน สรรพากรจะตีความว่า ธุรกิจของคุณจงใจที่จะหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งถือว่ามีความผิด และธุรกิจของคุณจะต้องจ่ายภาษีและค่าปรับย้อนหลังด้วย

4. ทำการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีอากร

มาตรการนี้ถือเป็นมาตรการขั้นเด็ดขาด และมีการใช้ต่อเมื่อสรรพากรพบว่า ผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือ และไม่ยอมทำบัญชีให้ตรงกับการดำเนินธุรกิจจริงหรือยื่นภาษีให้ถูกต้อง

ทำธุรกิจแบบไหนเรียกว่าเสี่ยงตามเงื่อนไขของ Risk-Based Audit (RBA) ?

บอกก่อนว่า ระบบตรวจสอบ Risk-Based Audit (RBA) ไม่ได้มีไว้เพื่อประเมินความเสี่ยงของธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคลเท่านั้น กรณีที่คุณทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา และมีการทำบัญชีไม่ถูกต้อง หรือ เลี่ยงภาษี ก็สามารถโดนตรวจสอบได้เช่นกัน

เพราะสรรพากรได้จัดทำอัตราส่วนทางการเงิน และมีเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินทั้งหมด 151 เกณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการทุกคนจะถูกจัดและแบ่งแรงค์คะแนน และหากธุรกิจของคุณอยู่ในช่วงอันดับที่สูง ก็เท่ากับว่า ธุรกิจของคุณถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และไม่รอดจากการตรวจสอบของสรรพากรแน่นอน และเราสามารถแยกความเสี่ยงออกตามเงื่อนไขของการทำธุรกิจเบื้องต้นได้ดังนี้

ธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา

  • รายได้ไม่สัมพันธ์กับการเพิ่มจำนวนคนงาน (พนักงาน) หรือ รายได้ไม่สัมพันธ์กับการขยายสาขา
  • รายการลดหย่อนภาษีไม่สัมพันธ์กับรายได้
  • หักค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง
  • ยื่นแบบแสดงรายการ หรือ แสดงรายได้ไม่ครบถ้วน (ข้อมูลไม่ตรงกับข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย)
  • มีรายได้เกิน 1.8 ล้าน และไม่ทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ​(VAT) ให้เรียบร้อย
  • ไม่มีการแบ่งส่วนกำไรให้กับคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือมีการแบ่งเงินส่วนแบ่งกำไรแต่ไม่ได้นำไปเป็นเงินได้ของผู้เป็นหุ้นส่วน

ธุรกิจแบบนิติบุคคล

  • ธุรกิจที่ใช้เงินสดเป็นหลัก หรือธุรกิจที่ไม่เคยมีการชำระเงินผ่านช่องทางอื่นๆ เพราะสรรพากรมองว่า ในปัจจุบันช่องทางการชำระเงินมีหลากหลายมากขึ้น แต่หากธุรกิจยังใช้การชำระเงินสดเป็นหลักอยู่ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะทำบัญชีไม่ตรงกับข้อเท็จจริงมากกว่า ธุรกิจที่ใช้ช่องทางอื่นๆ ในการชำระเงิน
  • การเบิกเงินสดยิบย่อยจากใบเสร็จรับเงิน หรือ บิลเงินสด
  • สินค้าคงเหลือในคลังไม่ตรงกับสินค้าที่เหลืออยู่จริง
  • การให้กรรมการกู้หรือยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย
  • รายได้จากการทำธุรกิจไม่สัมพันธ์กับงบการเงิน ต้นทุน และ ค่าใช้จ่าย
  • การบันทึกต้นทุนขายและบริการ สูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริ หรือ ลงบัญชีค่าใช้จ่ายประเภท นายหน้า ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายพนักงานสูงผิดปกติ
  • ทำรายการค่าใช้จ่ายเท็จ
  • ตรวจพบการบันทึกค่าใช้จ่ายสูง หรือ พบว่ามีการลงบันทึกค่าใช้จ่ายไม่ตรงรอบเวลาบัญชี

บอกก่อนว่า แม้เกณฑ์ความเสี่ยงที่อยู่ในระบบ Risk-Based Audit (RBA) จะมีเยอะถึง 151 เกณฑ์ แต่วางใจได้ เพราะสรรพากรไม่ได้นำเกณฑ์ความเสี่ยงทั้งหมดมาใช้ประเมินภาษีทั้งหมด แต่จะทำการเลือกเกณฑ์ที่เหมาะสมในแต่ละปีเท่านั้น

อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้ประกอบการหลายคนอาจจะรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง และเป็นกังวลว่า สรรพากรจะมาเคาะประตูบ้าน หรือ ประตูร้านเราเมื่อไหร่ แต่เราอยากให้ทุกคนวางใจก่อน เพราะสรรพากรบอกมาว่า หากธุรกิจของคุณมีการทำบัญชีและยื่นภาษีถูกต้อง ก็ไม่ต้องเป็นกังวลอะไร สบายใจได้

ส่วนเจ้าของธุรกิจท่านใดที่ไม่แน่ใจว่า ตอนนี้ธุรกิจของคุณมีการจัดทำบัญชีที่ถูกต้องหรือไม่? หรือ ถึงเวลาที่ต้อง จดทะเบียนบริษัท หรือ จดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือยัง คุณสามารถเลือกใช้บริการการจัดทำบัญชีและวางแผนภาษีบริษัทได้ที่ iTAX sme หรือ ติดต่อสอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)