ปีภาษี 2560 พรรคการเมืองไหน รับเงินจากผู้เสียภาษีมากที่สุด

งบประมาณ

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 Facebook กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ได้เปิดเผยตัวเลขเงินอุดหนุนภาษีพรรคการเมือง ที่ผู้เสียภาษีได้ทำการบริจาคให้แก่พรรคการเมืองต่างๆ ส่วนพรรคไหนจะได้รับเงินจากผู้เสียภาษีไปเท่าไหร่ iTAX รวมมาให้แล้ว

ทบทวนที่มาของ การอุดหนุนเงินภาษีแก่พรรคการเมือง

การอุดหนุนเงินภาษีแก่พรรคการเมือง หรือ การบริจาคภาษีที่ชำระให้แก่พรรคการเมือง คือสิทธิที่ผู้เสียภาษีสามารถเลือกได้ด้วยตัวเองว่า อยากให้ส่วนหนึ่งของเงินภาษีที่จ่ายไปนั้น ถูกนำไปสนับสนุนพรรคการเมืองใด โดยคุณสามารถเลือกบริจาคภาษีได้ตามความพอใจของตัวผู้เสียภาษีเอง (เลือกได้เพียง 1 พรรคการเมืองเท่านั้น) และในขณะเดียวกัน คุณสามารถเลือกที่จะไม่อุดหนุนเงินภาษีแก่พรรคการเมืองได้เช่นกัน

เรื่องที่มักจะเข้าใจผิดบ่อย

หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า หากเราเลือกที่จะอุดหนุนเงินภาษีแก่พรรคการเมือง จะทำให้เราต้องเสียภาษีเงินได้ประจำปีมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว

ไม่ว่าคุณจะเลือกบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองหรือไม่ ย่อมไม่มีส่วนทำให้คุณเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด

เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ ผู้เสียภาษีที่มีความประสงค์บริจาคเงินภาษีอุดหนุนพรรคการเมือง สามารถบริจาคเงินอุดหนุนนักการเมืองได้ภายในวงเงินภาษีที่ต้องเสีย และอุดหนุนได้ไม่เกิน 500 บาท โดยสามารถทำการบริจาคเงินภาษีเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง ผ่านการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีเท่านั้น

ปีภาษี 2560 พรรคการเมืองไหน รับเงินจากผู้เสียภาษีมากที่สุด

สำหรับข้อมูลเงินอุดหนุนภาษีพรรคการเมืองที่ กองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ได้เปิดเผย iTAX พบว่า ในปีภาษี 2560 มีผู้เสียภาษีแจ้งความประสงค์อุดหนุนเงินภาษีแก่พรรคการเมืองทั้งหมด 33 พรรค รวมเป็นเงินทั้งหมด 5.287 ล้านบาท ซึ่งพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนเงินภาษีจากผู้เสียภาษี เรียงตามลำดับได้ดังต่อไปนี้

อันดับ พรรคการเมือง เงินสนับสนุน (บาท)
1 พรรคประชาธิปัตย์ 4,080,500
2 พรรคเพื่อไทย 812,100
พรรคเสรีรวมไทย 83,900
พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 48,500
5 พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 41,800
6 พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย 33,100
7 พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย 27,700
8 พรรคภูมิใจไทย 21,500
9 พรรคชาติไทยพัฒนา 20,000
10 พรรคอนาคตไทย 14,800
11 พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน 14,800
12 พรรคประชากรไทย 13,300
13 พรรคชาติพัฒนา 11,200
14 พรรคแทนคุณแผ่นดิน 9,700
15 พรรคความหวังใหม่ 7,900
16 พรรคพลังคนกีฬา 7,300
17 พรรคเพื่อแผ่นดิน 7,000
18 พรรคประชาธิปไตยใหม่ 5,600
19 พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย 4,900
20 พรรคพลังสหกรณ์ 3,500
21 พรรคไทรักธรรม 2,900
22 พรรคมหาชน 2,300
23 พรรครักท้องถิ่นไท 2,300
24 พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล 1,800
25 พรรคเพื่อธรรม 1,600
26 พรรคพลังประชาธิปไตย 1,300
27 พรรครักษ์ธรรม 1,100
28 พรรคเพื่อชีวิตใหม่ 1,100
29 พรรคภราดรภาพ 900
30 พรรคพลังไทยรักชาติ 900
31 พรรคพลังท้องถิ่นไท 700
32 พรรคเพื่อชาติ 600
33 พรรคผึ้งหลวง 400

สถิติการอุดหนุนเงินภาษีแก่พรรคการเมือง ระหว่างปีภาษี 2559 และ 2560

ปีภาษี 2559 ปีภาษี 2560
อันดับ พรรคการเมือง เงินสนับสนุน อันดับ พรรคการเมือง เงินสนับสนุน
1 ประชาธิปัตย์ 5,781,800 1 พรรคประชาธิปัตย์ 4,080,500
2 เพื่อไทย 1,048,400 2 พรรคเพื่อไทย 812,100
3 เพื่อฟ้าดิน 137,400 3 พรรคเสรีรวมไทย 83,900
4 เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย 56,800 4 ครูไทยเพื่อประชาชน 48,500
5 ครูไทยเพื่อประชาชน 55,700 5 รักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย 41,800
รวม  69 พรรค 7,605,200 ล้านบาท รวม 33 พรรค 5.287 ล้านบาท

หมายเหตุ

  1. ในปีภาษี 2559 พรรคเสรีรวมไทย ได้รับการอุดหนุนเงินภาษี จำนวน 46,300 บาท
  2. ในปีภาษี 2559 พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (ชื่อเดิม พรรคทวงคืนผืนป่าแก่ประเทศไทย) ได้รับเงินอุดหนุนภาษี จำนวน 52,600 บาท
  3. เนื่องจากในปีภาษี  2560 มีพรรคการเมืองเพียง 33 พรรค (จากทั้งหมด 69 พรรค) ที่ดำเนินการถูกต้องตาม คำสั่งคสช. ที่ 13/2561 จึงเป็นเหตุให้จำนวนพรรคการเมืองที่ได้รับเงินอุดหนุนภาษีมีจำนวนลดลง
  4. พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นภายหลังปีภาษี 2560 ถือเป็นพรรคการเมืองที่ยังไม่เข้าระบบ จึงเป็นสาเหตุให้ไม่ได้รับเงินอุดหนุนภาษีพรรคการเมืองของรอบปีภาษี 2560

ย้ำอีกครั้งว่า

การบริจาคเงินภาษีเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ผู้เสียภาษีชื่นชอบนั้น ไม่ได้มีส่วนทำให้ ผู้เสียภาษีต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการสมทบทุนเพื่อกิจกรรมของพรรคการเมืองเท่านั้น และหากท่านต้องการทราบสถิติเงินภาษีสนับสนุนพรรคการเมืองย้อนหลัง ตั้งแต่ปีภาษี 2551 –  ปีภาษี 2559 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ สถิติบริจาคเงินภาษีพรรคการเมือง

ข้อมูลจาก

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)