รู้ได้อย่างไร เมื่อไหร่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT)

SME

ถ้าจะพูดถึงเรื่องการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ การจด VAT เราเชื่อว่าคนทำธุรกิจหลายๆ คนน่าจะรู้จักกันดี แถมเรื่องนี้มักจะทำให้เจ้าของธุรกิจปวดหัวไม่น้อย หลายคนมักจะเกิดความสงสัยว่า การจด VAT คืออะไร? ธุรกิจของเราต้องจด VAT ด้วยหรือไม่? รู้ได้อย่างไรว่า เมื่อไหร่ถึงเวลาต้องจด VAT? จด VAT มีเงื่อนไขอะไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง? หากคุณเป็นหนึ่งคนที่สงสัยและสับสนเรื่องเหล่านี้มานาน iTAX มีคำตอบมาให้แล้ว

การจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) คืออะไร?

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) คือ ภาษีที่ถูกเก็บจากการซื้อขายสินค้า – บริการภายในประเทศ รวมถึง การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศด้วย ในปัจจุบันเราทุกคนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7% (มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 6.3% + ภาษีท้องถิ่น 0.7%)

รู้ได้อย่างไรว่า เมื่อไหร่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT)?

ลำพังเรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยากมากพออยู่แล้ว และเราเชื่อว่าเรื่องของภาษีกับคนทำธุรกิจก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยากไม่ต่างกัน ในการดำเนินธุรกิจนอกจากรายได้ กำไร แล้วก็มีเรื่องภาษีนี่แหละที่คิดกันจนปวดหัวไปหมด และหากคุณเป็นหนึ่งคนที่ไม่แน่ใจว่าธุรกิจของเราถึงเวลาที่ต้องจด VAT แล้วหรือยัง ลองดูว่า ธุรกิจของคุณเข้าข่ายต่อไปนี้หรือไม่?

1. เป็นธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นหรือไม่?

  • ธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (คิดจากยอดขายหรือค่าบริการที่เรียกเก็บจากลูกค้า)
  • ธุรกิจค้าขายพืชผลทางการเกษตรภายในประเทศ เช่น ข้าว ข้าวโพด ปอ มันสำปะหลัง ผักและผลไม้เป็นต้น (คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.28/2535ฯ)
  • ธุรกิจค้าขายสัตว์ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิตภายในประเทศ เช่น โค กระบือ ไก่หรือเนื้อสัตว์ กุ้ง ปลา เป็นต้น (คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.29/2535ฯ) โรคของพืชและสัตว์
  • การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์
  • การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลทางราชการและเอกชน

**  ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของประเภทธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น และคุณสามารถตรวจสอบธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่ เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th

2. เป็นธุรกิจที่มีรายได้เกิน 1,800,000 ต่อปี หรือไม่?

หากคุณต้องการจด VAT เราแนะนำให้คุณสำรวจรายได้ต่อปีของคุณก่อนว่า ธุรกิจของคุณมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 150,000) หรือไม่ (รายได้ในที่นี้ คือ ยอดขายที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่กำไรหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว) และหากธุรกิจของคุณมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องดำเนินการจด VAT ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1.8 ล้านบาท (แต่ถ้ายอดขายตลอดทั้งปี 1.8 ล้านบาทพอดีเป๊ะๆ จะยังไม่ถูกบังคับให้ต้องจด VAT แต่อย่างใด)

ข้อสังเกต: ในกรณีที่คุณทำงานประจำและมีรายได้จากการทำธุรกิจด้วย เกณฑ์รายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปีจะดูจากยอดขายหรือค่าบริการเท่านั้น ไม่นำเงินเดือนจากงานประจำมารวมด้วย 

แต่หากคุณไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาก่อน และช่วงปลายปีมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท (แบบคาดไม่ถึง) ไม่ต้องกลัวว่าคุณจะถูกเรียกเก็บภาษีภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง เพราะแม้กฎหมายจะระบุให้คุณดำเนินการจดภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน แต่ในกรณีนี้ คุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม และจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะส่วนที่เกินมาจาก 1.8 ล้านบาทเท่านั้น (ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม)

3. ธุรกิจของคุณ มี VAT เป็นต้นทุนหรือไม่?

หากคุณทำธุรกิจประเภท ซื้อมาขายไป (พ่อค้าคนกลาง) หรือธุรกิจที่สินค้าต้นทางมีการคิด VAT คุณควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่จะช่วยลดต้นทุนให้คุณได้อย่างมาก

4. ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ เข้าระบบ VAT หรือไม่?

นอกจากประเภทธุรกิจ หรือรายได้แล้ว คุณต้องเช็คด้วยว่า ลูกค้าหรือผู้ที่มาใช้บริการธุรกิจของคุณนั้นเป็นผู้ที่เข้าระบบ VAT หรือไม่? หากลูกค้าและผู้ใช้บริการส่วนใหญ่อยู่ในระบบ VAT เราแนะนำให้คุณดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย แม้ว่ารายได้จะไม่ถึง 1.8 ล้านบาทก็ตาม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ลูกค้า ยิ่งถ้าลูกค้าของคุณเป็นธุรกิจขนาดใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก หากคุณไม่ได้จด VAT อาจจะเสียลูกค้ากลุ่มนี้ไปเลยก็ได้


ใครจด VAT ได้บ้าง?

  • บุคคลธรรมดา (เจ้าของกิจการคนเดียว, ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล)
  • นิติบุคคล (บริษัทจำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด)

ยื่นขอจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) ได้ที่ไหนบ้าง?

  • ยื่นแบบคำขอผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ www.rd.go.th
  • ยื่นแบบคำขอด้วยกระดาษ ณ หน่วยจดทะเบียนที่ตั้งสถานประกอบการ

หลักฐานที่ใช้ในการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) มีอะไรบ้าง?

1. แบบคำขอจดทะเบียน ภ.พ.01 จำนวน 3 ฉบับ
2. ภ.พ.01.1 จำนวน 3 ฉบับ
3. สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านกรรมการผู้มีอำนาจหรือผู้ประกอบการ 1 ฉบับ
4. รูปภาพสำนักงานทั้งภายในและภายนอก (อย่างน้อย 4 ภาพ) 2 ชุด
5. แผนที่ 2 ชุด
6. สำเนาทะเบียนบ้านที่ใช้ตั้งเป็นสถานประกอบการ 1 ฉบับ

กรณีไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์เอง

  • สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนของเจ้าของกรรมสิทธิ์ 1 ฉบับ
  • หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ 1 ฉบับ
  • สัญญาเช่า 1 ฉบับ

7. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทพร้อมวัตถุประสงค์ / สำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ / ภาพถ่ายหนังสือการจัดตั้งคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล 1 ฉบับ
8. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี) 1 ฉบับ

เรื่องที่ต้องทำหลังจดภาษีมูลค่าเพิ่ม

หากคุณทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ จด VAT เรียบร้อยแล้ว จะต้องทำการยื่นรายงานภาษีซื้อ – ขายทุกเดือน แม้ว่าจะไม่มีการซื้อ- ขายในเดือนนั้นก็ตาม โดยจะต้องยื่นภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และจะต้องออกใบกำกับภาษีด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนน่าจะได้คำตอบกันแล้วว่า ธุรกิจของคุณถึงเวลาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ จด VAT แล้วหรือยัง แต่หากคุณยังไม่มั่นใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามค่าบริการ iTAX sme โทร. 062-486-9787 เพราะเรามีทีมงานมืออาชีพที่จะทำให้ทุกเรื่องของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือการจดทะเบียนบริษัทเป็นเรื่องง่าย เพื่อที่คุณจะได้มีเวลาไปกับการจัดการธุรกิจได้มากขึ้น

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)