เงินคืนภาษี กับเรื่องต้องระวัง!

ทั่วไป

เราต่างก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐใช้จูงใจให้ผู้มีรายได้หันมายื่นภาษีกันมากขึ้นก็คือ “เงินคืนภาษี” และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลังจากยื่นภาษีเงินได้ประจำปีแล้วหลายๆ คนถึงกับนับถอยหลังรอวันที่จะได้รับเงินคืนภาษีอย่างใจจดใจจ่อเลยทีเดียว และแน่นอนว่า การได้รับเงินคืนภาษีจะเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ทำให้ผู้มีเงินได้หลายคนพออกพอใจ แต่รู้อะไรหรือไม่ว่า การที่คุณจะได้รับเงินคืนภาษีนั้น ก็มีเรื่องต้องระวังอยู่เช่นกัน

ทำความเข้าใจกับ เงินคืนภาษี ก่อน

ผู้เสียภาษีจะต้องเข้าใจว่า เงินคืนภาษีถือเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้เสียภาษี เพราะเงินคืนภาษีนั้นไม่ใช่โบนัสที่ได้รับจากรัฐบาลหรือกรมสรรพากร แต่มาจากการที่คุณเสียภาษี หรือ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ระหว่างปีภาษีมากกว่าจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายจริง ทำให้คุณเป็นหนึ่งในคนที่มีสิทธิได้รับเงินคืนภาษีนั่นเอง

การกรอกข้อมูลเพื่อรับเงินคืนภาษี กับเรื่องต้องระวัง

1. ระวังการกรอกข้อมูลผิด

เพราะเรื่องภาษีกับตัวเลขเป็นของคู่กัน และไม่ใช่แค่การใส่จำนวนเงินผิด หรือใส่กรอกจำนวนเงินผิดประเภทเท่านั้น คุณจะต้องรู้ตัวด้วยว่า คุณมีรายได้พึงประเมินเท่าไหร่? สามารถ หักค่าใช้จ่าย ได้เท่าไหร่? เพราะหากคุณไม่รู้ว่าตัวเองมีรายได้พึงประเมินในปีภาษีเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าตัวเองมี สิทธิลดหย่อนภาษี อะไรบ้าง อาจจะทำให้คุณกรอกตัวเลขผิดเพี้ยนและอาจจะทำให้คุณไม่ได้รับเงินคืนภาษีนั่นเอง

2. เงินได้ของสามีและภรรยา

ผู้เสียภาษีหลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า กฎหมายกำหนดให้คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาทต่อปี (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ค่าลดหย่อนคู่สมรส) และคู่สมรสสามารถเลือกได้ว่าต้องการ รวมยื่นภาษี หรือ แยกยื่นภาษี โดยคุณจะต้องคำนวณภาษีให้ดีเพราะในบางครั้ง

  • การรวมยื่นภาษี :ในกรณีที่สามีภรรยามีรายได้ทั้งคู่ การยื่นรวมภาษีอาจส่งผลให้ฐานภาษีเพิ่มขึ้น และคุณอาจจะต้องเสียภาษีแพงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าบ้านไหนมีรายได้ทางเดียว (จะเป็นรายได้จากสามีหรือภรรยาก็ได้ทั้งนั้น) หรือ สามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีรายได้ไม่มาก แต่มีค่าลดหย่อนมาก การยื่นภาษีร่วมกันจะเป็นผลดีมากกว่า
  • การแยกยื่นภาษี : อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ฐานภาษีเงินได้นั้นเป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันไดหมายความว่า “ยิ่งมีรายได้เยอะ อัตราภาษีก็เพิ่มตามไปด้วย” ดังนั้น ในบ้านที่สามีภรรยามีเงินได้อยู่ในที่ต้องเสียภาษีในฐานภาษีเดียวกัน การแยกยื่นภาษีจะเป็นประโยชน์กับตัวคุณมากกว่า และอาจจะทำให้คุณต้องจ่ายภาษีน้อยกว่า และมีโอกาสที่จะได้รับเงินคืนภาษีเพิ่มขึ้นด้วย

**ทั้งนี้การยื่นรวมภาษีสามารถทำได้ในกรณีที่คู่สามีภรรยาที่ทำการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

3. การลดหย่อนภาษีของหน่วยลงทุน

หากคุณเป็นผู้เสียภาษีที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของหน่วยการลงทุนหรือกองทุนตราสารต่างๆ เช่น LTF หรือ RMF ที่สถาบันการเงินหลายๆ แห่ง มีไว้ให้บริการ คุณจะต้องรู้ว่า คุณสามารถใช้สิทธิตรงนี้ได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น

4. ค่าลดหย่อนพ่อแม่

กฎหมายกำหนดให้ผู้เสียภาษีที่เลี้ยงดูพ่อแม่เอง สามารถใช้ ค่าลดหย่อนบิดามารดาได้คนละ 30,000 บาท (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ : ค่าลดหย่อนบิดามารดา) แม้ว่าสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนบิดามารดาได้ตามกฎหมายกำหนด แต่คุณจะต้องตรวจเช็กให้ดีก่อนว่า

  • พ่อและแม่ของคุณอายุครบ 60 ปีหรือยัง (ถ้าอายุยังไม่ถึง 60 ปี จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้)
  • ในกรณีที่มีพี่น้อง คุณต้องตกลงกับพี่น้องให้ดีว่าใครจะเป็นคนใช้สิทธิ์ลดหย่อนนี้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ลูกแต่ละคนใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีบิดามารดาซ้ำซ้อนกัน
  • ตรวจสอบให้ดีว่าพ่อแม่มีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท

5. กรอกข้อมูลที่เป็นความจริงเท่านั้น

และหากคุณมีความคิดที่จะกรอกตัวเลขที่ไม่เป็นความจริงลงไปในแบบฟอร์มยื่นภาษี เพราะอยากได้รับเงินคืนภาษีมากขึ้น เราอยากให้คุณหยุดความคิดเหล่านั้นไว้เลย เพราะการทำแบบนี้คุณอาจจะได้รับการดำเนินคดีตามกฎหมายแทนที่จะได้รับเงินคืนภาษีก็ได้

รู้แบบนี้แล้ว ก่อนยื่นภาษีคุณควรจะวางแผนภาษีและ คำนวณภาษี ให้ดีก่อน เพราะการวางแผนภาษีที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้คุณประหยัดภาษีและยังช่วยเพิ่มโอกาสในการรับเงินคืนภาษีให้คุณได้อีกด้วย

และแน่นอนว่า คุณสามารถคำนวณภาษี วางแผนภาษี และ ค้นหาแผนลดหย่อนภาษี ที่เหมาะกับคุณได้ที่ แอปพลิเคชั่น iTAX Pro โหลดฟรีทั้ง iOS และ Android)

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)