มีคนใช้ สิทธิลดหย่อนภาษีพ่อแม่ แทนเรา ทำไงดี?

ลดหย่อนภาษี

ถ้าพูดถึงการยื่นภาษีประจำปีแล้วไม่พูดถึงสิทธิลดหย่อนภาษี หรือตัวช่วยที่ทำให้เราจ่ายภาษีถูกลงก็คงจะเป็นเรื่องที่แปลกไป(ไม่)หน่อย และเราเชื่อว่าผู้เสียภาษีหลายคนรู้กันดีอยู่แล้วว่า สิทธิลดหย่อนภาษีตามกฎหมายกำหนดมีอะไรบ้าง ( สามารถเช็กสิทธิ์ลดหย่อนภาษีตัวเองได้ที่ ค่าลดหย่อน ) และสิทธิลดหย่อนภาษีผู้เสียภาษีให้ความสนใจกันมากคงหนีไม่พ้น ค่าลดหย่อนบิดามารดา แต่ถ้าอยู่ดีๆ มีคนอื่นมาใช้สิทธิ์นี้ซ้ำกับเรา จะต้องทำยังไง? แก้ไขแบบไหนได้บ้าง iTAX หาคำตอบมาให้แล้ว

เรื่องที่ต้องทำ เมื่อมีคนใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีพ่อแม่แทนเรา

ในกรณีที่พ่อแม่ของคุณมีคุณสมบัติครบตรงตามเงื่อนไขที่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีบิดามารดาได้ แต่หลังจากยื่นภาษีไปแล้วกลับได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สรรพากรว่าไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีพ่อแม่ได้ เนื่องจากมีบุคคลอื่นได้ทำการยื่นภาษีพร้อมใช้สิทธิ์ลดหย่อนนี้แทนคุณไปแล้ว เราอยากจะบอกว่าไม่ต้องตกใจไป เพราะเรื่องแบบนี้แม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และหากคุณต้องพบเจอกับเรื่องแบบนี้ เราแนะนำให้

1. ตรวจเช็กความถูกต้องกับคนในครอบครัวก่อน

ในกรณีที่คุณไม่ใช่ลูกคนเดียว เราแนะนำให้คุณรีบไถ่ถามคนในครอบครัว (พี่-น้อง) ดูก่อนว่ามีใครยื่นภาษีโดยใช้สิทธิ์ลดหย่อนพ่อแม่ไปหรือยัง? เพราะหลายๆ ครั้งที่เราไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้มีสาเหตุมาจากการยื่นขอใช้สิทธิ์ที่ซ้ำซ้อนกัน และหากพบว่าคนที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีตัดหน้าเราไปเป็นพี่น้องเราเอง คุณก็จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนพ่อแม่ในปีนี้ได้

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้อง ยื่นภาษี คุณจะต้องทำการตกลงกับพี่น้องให้ดีว่าใครจะเป็นคนใช้สิทธิลดหย่อนพ่อแม่ในปีนี้ เพราะหลายๆ ครั้ง การยื่นขอใช้สิทธิลดหย่อนที่ซ้ำซ้อนกัน อาจจะทำให้ไม่มีใครสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนนี้เลยก็ได้

แต่ในกรณีที่เป็นลูกคนเดียว เราแนะนำให้คุณถามกับคุณพ่อคุณแม่ให้ดีเลยว่า มีการเซ็นเอกสารยินยอมให้คนอื่นสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีตรงนี้ได้หรือไม่? และหากคุณได้รับการยืนยันว่าไม่ได้อนุญาตให้ใช้สิทธิลดหย่อน เราแนะนำให้คุณทำตามข้อถัดไป

2. เตรียมเอกสาร ใบ ลย.03

ในกรณีที่คุณสอบถามพ่อแม่เรียบร้อยและพบว่า พ่อแม่ของคุณไม่ได้เซ็นเอกสารให้บุคคลนอกครอบครัวไปใช้ลดหย่อนภาษี และสอบถามกับพี่น้องและพบว่ายังไม่มีใครใช้สิทธิ์ลดหย่อนพ่อแม่ไปนั้น เราแนะนำให้คุณทำการปริ๊นหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ใบ ลย.03 และให้คุณพ่อหรือคุณแม่เซ็นใบ ลย.03 จากนั้นนำใบ ลย.03 ไปยื่นที่สรรพากรได้เลย

ในกรณีที่พี่น้องมีการยื่นขอใช้สิทธิ์ลดหย่อนบิดามารดาซ้ำซ้อนกัน ส่วนใหญ่สรรพากรจะไม่ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีพ่อแม่กับใครเลย แต่ในกรณีที่คุณโดนแอบอ้างสิทธิ์ลดหย่อนภาษีพ่อแม่ อาจจะต้องไปดูกันที่เอกสารต่างๆ อีกทีว่าทางกรมสรรพากรจะมีมาตรการอย่างไร

โทรถามกรมสรรพากรได้หรือไม่ว่า ใครใช้สิทธิ์ลดหย่อนพ่อแม่เราไป?

ในกรณีที่คุณมั่นใจแล้วว่าบุคคลที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนพ่อแม่ไม่ใช่พี่น้องหรือคู่สมรมของคุณเอง คุณอยากจะสอบถามทางกรมสรรพากรเพื่อให้ทราบว่าใครเป็นผู้ใช้สิทธิ์ตรงนี้แทนคุณ เราอยากจะบอกว่า คุณสามารถสอบถามได้เพียงแนวทางการเตรียมเอกสารเพื่อแย้งเท่านั้น

เพราะ ประมวลรัษฎากร มาตรา 10 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “เจ้าพนักงานผู้ใดโดยหน้าที่ราชการตามลักษณะนี้ ได้รู้เรื่องกิจการของผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้นำออกแจ้งแก่ผู้ใด เว้นแต่จะมีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย” นั่นหมายความว่า เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไม่อาจจะบอกได้อยู่ดีว่าใครเป็นคนใช้สิทธิ์ลดหย่อนพ่อแม่แทนคุณไป

รู้แบบนี้แล้ว หากคุณไม่ใช่ลูกคนเดียวของพ่อแม่และต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีบิดามารดา เราแนะนำให้คุณทำการพูดคุยและตกลงกับพี่น้องให้ดีเสียก่อนว่าใครจะเป็นคนใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปีภาษีนั้นๆ เพื่อป้องกันการเกิดการยื่นขอให้สิทธิ์ซ้ำซ้อนนั่นเอง


ทบทวนเงื่อนไขการใช้ สิทธิ์ลดหย่อนภาษีพ่อแม่ กันอีกครั้ง

เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ลดหย่อนพ่อแม่นั้น จะแบ่งได้ออกเป็น 2 กรณีคือ

1. ลดหย่อนภาษีพ่อแม่เราเอง

แน่นอนว่าสำหรับค่าลดหย่อนบิดามารดานั้น คนที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนี้ได้จะต้อง

1.1. เป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อแม่ (ลูกบุญธรรมจะไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้)
1.2. พ่อแม่ต้องมีอายุครบ 60 ปี ใน ปีภาษี
1.3. พ่อแม่อยู่ในความดูแลของเรา
1.4. พ่อแม่ต้องมีรายได้ทั้งปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
1.5. ต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษี
1.6. ในกรณีที่คุณไม่ใช่ลูกคนเดียว จะต้องทำการตกลงกับพี่-น้องให้ดีว่า ใครจะใช้สิทธิ์ตรงนี้ เพราะพ่อหรือแม่ 1 คน เท่ากับลดหย่อนได้ 1 สิทธิ์เท่านั้น

2. พ่อแม่คู่สมรส

การใช้สิทธิ์ลดหย่อนพ่อแม่คู่สมรส จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้

2.1 คู่สมรสไม่มีรายได้ตลอดปีภาษี
2.2 คู่สมรสเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อแม่ (ลูกบุญธรรมจะไม่สามารถใช้สิทธิได้)
2.3 พ่อแม่ต้องมีอายุครบ 60 ปี ใน ปีภาษี
2.4 พ่อแม่อยู่ในความดูแลของเรา
2.5 พ่อแม่ต้องมีรายได้ทั้งปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
2.6 ต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษี
2.7 ในกรณีที่คู่สมรสไม่ใช่ลูกคนเดียว จะต้องทำการตกลงกับพี่-น้องคู่สมรสให้ดีว่า ใครจะใช้สิทธิ์ตรงนี้ เพราะพ่อหรือแม่ 1 คน เท่ากับลดหย่อนได้ 1 สิทธิ์เท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณสามารถ ทดลองคำนวณภาษี ก่อนยื่นจริงเพื่อรับผลประโยชน์ทางภาษีสูงสุดได้ที่ website : itax.in.th หรือ สามารถโหลดแอปพลิเคชั่น iTAX มาใช้เพื่อคำนวณและ วางแผนภาษี และสามารถเตรียมหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ใบ ลย.03) ได้ฟรีทั้งระบบ iOS และ Android)

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)