ธุรกิจมีหลายสาขา ต้องยื่นภาษียังไง?

SME

เพราะภาษีเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นมนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนซ์ หรือเป็นเจ้าของกิจการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ก็ต้องปวดหัวเรื่องภาษีกันทั้งนั้น และถ้าหากคุณคิดว่าการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเรื่องที่ซับซ้อนแล้ว เราก็อยากจะบอกว่า ภาษีธุรกิจซับซ้อนมากกว่านั้น และหากคุณเป็นหนึ่งคนที่อยากทำธุรกิจมากกว่า 1 สาขา แต่ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการภาษีแบบไหน iTAX หาคำตอบมาให้แล้ว

รู้จักภาษีธุรกิจเบื้องต้น

ภาษีธุรกิจสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือภาษีทางตรง และภาษีทางอ้อม

1. ภาษีทางตรง คือ

ภาษีที่เรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบกิจการโดยตรง และไม่สามารถผลักภาระให้กับบุคคลอื่นได้ เช่น

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มักจะมีการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า (ตั้งแต่ 5 – 35%) ระยะเวลาการจัดเก็บภาษีอยู่ในช่วง 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของทุกปี
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนใหญ่จะอยู่ในอัตราคงที่ (สูงสุด 20%) และมีการลดหย่อนอัตราภาษีให้กับธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อมบางประเภท และเจ้าของกิจการจะต้องทำการยื่นภาษีตามรอบระยะเวลาบัญชีของธุรกิจ ซึ่งมักจะอยู่ในช่วง 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของทุกปี

2. ภาษีทางอ้อม คือ

ภาษีที่เจ้าของกิจการสามารถผลักภาระให้กับผู้บริโภคหรือลูกค้าได้ เช่น

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือ ภาษีที่เก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นจากคนทำธุรกิจขายสินค้าหรือบริการประเภทต่างๆ โดยผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า ผู้ให้บริการ ร้านค้าขายปลีก – ขายส่ง ผู้ส่งออกสินค้า และผู้นำเข้าสินค้าต่างประเทศ ที่มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 1,800,000 บาทขึ้นไป โดยใช้เกณฑ์เดียวกันทั้งการดำเนินธุรกิจทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล (ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม)
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก เช่น กลุ่มธุรกิจธนาคาร โรงรับจำนำ ประกันชีวิต เป็นต้น (เพิ่มเติมได้ที่ ภาษีธุรกิจเฉพาะ)
  • อากรแสตมป์ คือ ภาษีที่จัดเก็บในรูปของแสตมป์ที่ใช้สำหรับปิดบนตราสารและหนังสือสัญญาต่างๆ และสามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ อากรแสตมป์)

มีธุรกิจหลายสาขา ต้องยื่นภาษีแบบไหน?

สำหรับผู้ประกอบการที่มีธุรกิจมากกว่า 1 สาขาขึ้นไป อาจจะไม่แน่ใจว่าจะต้องยื่นภาษีอย่างไร? ต้องแยกยื่นภาษีแต่ละสาขา หรือ ต้องรวมผลประกอบการทุกสาขาแล้วยื่นภาษีพร้อมๆ กัน เราอาจจะต้องบอกว่า การยื่นภาษีสำหรับธุรกิจที่มีมากกว่า 1 สาขา จะต้องแยกให้ชัดเจนก่อนว่า

คุณดำเนินธุรกิจในรูปแบบใด?

1. จดทะเบียนธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา

ในกรณีที่คุณมีธุรกิจมากกว่า 1 สาขาและทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา จะต้องนำรายได้จากผลประกอบการของทุกสาขามารวมคำนวณ และสามารถยื่นภาษีในนามบุคคลธรรมดาได้เลย

2. จดทะเบียนธุรกิจในนามนิติบุคคล

ในกรณีที่จดทะเบียนธุรกิจในนามนิติบุคคลและมีธุรกิจมากกว่า 1 สาขาก็จะต้องมาดูก่อนว่า เลขนิติบุคคลของธุรกิจคุณเป็นแบบไหน เช่น

  • ธุรกิจมากกว่า 1 สาขา แต่เลขนิติบุคคลเดียวกัน ในกรณีนี้แสดงว่าคุณทำธุรกิจด้วยนิติบุคคลเดียว คุณสามารถนำรายได้ของทุกสาขามารวมกัน และยื่นภาษีพร้อมกันได้เลย
  • ธุรกิจมากกว่า 1 สาขา เลขนิติบุคคลต่างกัน หากธุรกิจของคุณมีลักษณะของแฟรนไชส์ที่มีชื่อแบรนด์เดียวกัน แต่มีการแยกจดทะเบียนนิติบุคคลหรือมีเลขจดทะเบียนนิติบุคคลที่แตกต่างกัน จะไม่สามารถนำรายได้หรือผลประกอบการของทุกสาขามายื่นภาษีรวมกันได้ และจะต้องยื่นภาษีในรูปแบบของต่างคนต่างยื่นเท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น การยื่นภาษีสำหรับธุรกิจที่มีหลายสาขาอาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป คุณจึงจำเป็นที่จะต้องมีนักบัญชีมืออาชีพคอยดูแลและจัดการกับความยุ่งยากเหล่านี้ให้ และหากคุณเป็นหนึ่งคนที่อยากลดความยุ่งยากในการจัดการบัญชีและภาษีธุรกิจ

ติดต่อสอบถามค่าบริการ การจัดทำบัญชี และวางแผนภาษีสำหรับธุรกิจ โทร. 062-486-9787 เรากล้ารับประกันว่า คุณจะไม่ต้องเจอความยุ่งยากเรื่องภาษี และมีเวลาทุ่มเทให้กับธุรกิจของคุณมากขึ้นแน่นอน

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)