Contents

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

53,648 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีประเภทหนึ่งตาม ประมวลรัษฎากร ซึ่งจัดเก็บกิจการบางประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษแยกต่างหากจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมี กรมสรรพากร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บ

กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

โดยปกติ กิจการที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ กิจการในราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้1

  • ธนาคาร
  • ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
  • ประกันชีวิต
  • การรับจำนำ
  • การประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น ปล่อยกู้ ค้ำประกัน แลกเปลี่ยนสกุลเงิน รับส่งเงินไปต่างประเทศ เป็นต้น
  • ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือ หากำไร (ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใด)
  • ขายหลักทรัพย์
  • ธุรกิจแฟ็กเตอริง เป็นต้น

หลักการและเหตุผลของภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะ จะเก็บจากกิจกรรมการซื้อขายสินค้าและให้บริการเช่นเดียวกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จะเป็นคนส่วนกันซึ่งจะไม่ทับซ้อนกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ ถ้ากิจการนั้นต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในทางกลับกันถ้าธุรกิจนั้นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะ มีไว้เพื่ออุดช่องโหว่จากกิจการที่หามูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการได้ยาก เช่น ธุรกิจการเงิน ซึ่งประเมินได้ยากว่ามูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการนั้นเป็นมูลค่าเท่าไหร่ จึงไม่สามารถใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้น จึงใช้ภาษีธุรกิจเฉพาะแทนแต่ยังอาศัยหลักพื้นฐานการจัดเก็บลักษณะเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้ ถ้าตราสารนั้นออกมาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอยู่แล้วก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ จึงไม่เกิดการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนกัน

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ถ้ามีกิจกรรมเฉพาะบางอย่างที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการหลัก เช่น ขายคอนโดแถมรถยนต์ เป็นต้น กิจกรรมแจกรถนั้นก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย แม้ว่าจะเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอยู่แล้วก็ตาม เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอันเป็นธุรกิจหลัก2

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีอากรประเมินประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม3 โดยภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีทางอ้อมที่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเป็นผู้รับภาระภาษี ส่วนผู้ประกอบการในฐานะผู้เสียภาษีมีหน้าที่เพียงผลักภาระให้ผู้บริโภคแล้วนำส่งให้กรมสรรพากรเท่านั้น

โดยปกติ ภาษีธุรกิจเฉพาะจะดูจากกิจกรรมที่ต้องเสียภาษีโดยไม่คำนึงว่าผู้เสียภาษีเป็นใคร4 เว้นแต่กฎหมายจะกำหนดยกเว้นตัวบุคคลเอาไว้โดยเฉพาะ เช่น ธนาคารออมสิน5 เป็นต้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้มักจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้วด้วย

การขายในนิยามของภาษีธุรกิจเฉพาะมีการใช้นิยามแยกต่างหากเฉพาะภาษีประเภทนี้ ซึ่งหมายถึง สัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อหรือจำหน่ายจ่ายโอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่6 ทั้งนี้ หากไม่ใช่การขายที่อยู่ในขอบเขตของภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ การขายอสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ หรือของที่จำนำหลุดเป็นสิทธิ ก็อาจตกไปอยู่ในการขายตามภาษีมูลค่าเพิ่มได้หากเป็นกิจกรรมที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 91/2 ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    มาตรา 91/4 ประมวลรัษฎากร

  3. ^

    มาตรา 91 ประมวลรัษฎากร

  4. ^

    มาตรา 91/2 ประมวลรัษฎากร

  5. ^

    มาตรา 91/3 ประมวลรัษฎากร

  6. ^

    มาตรา 91/1 (4) ประมวลรัษฎากร