สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับ ภาษีเมื่อออกจากงาน

ทั่วไป

137,075 VIEWS

การออกจากงานประจำอาจเกิดได้ทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ ซึ่งนอกจากความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานแล้ว ภาษีก็มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน บทความนี้จึงนำเสนอเพื่อให้ผู้ที่ออกจากงานระหว่างปีทราบว่ามีประเด็นภาษีอะไรที่ควรทราบบ้าง เพื่อจะได้วางแผนภาษีและดำเนินการได้อย่างถูกต้องต่อไป

ออกจากงานและได้รับเงินก้อนจากนายจ้าง

หากได้รับเงินก้อน โดยปกติแล้วกฎหมายจะตีความว่าเป็นรายได้จากงานประจำลักษณะเดียวกับเงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) เนื่องจากเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเงินก้อนที่ได้รับนี้อาจมาจากหลายส่วน โดยแบ่งเป็นรายการย่อยได้ดังนี้

1. เงินค่าชดเชย

เงินค่าชดเชยเป็นเงินที่คุณมีสิทธิได้รับตามกฎหมายแรงงานเนื่องจากถูกเลิกจ้าง ไล่ออก เกษียณอายุ หรือหมดสัญญาจ้าง โดยที่ลูกจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ดังนั้น หากเป็นกรณีที่คุณลาออกเองด้วยความสมัครใจหรือถูกไล่ออกเพราะความผิดร้ายแรงบางอย่างของลูกจ้าง คุณจะไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้างได้

ทั้งนี้ อัตราค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานจะคิดตามอายุที่ทำงานกับนายจ้างรายนี้และใช้อัตราเงินเดือนล่าสุดสำหรับการคำนวณค่าชดเชย ซึ่งสรุปเป็นตารางดังนี้ (อ้างอิงจาก มาตรา 118 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541)

อายุงาน อัตราค่าชดเชยขั้นต่ำ
ไม่ถึง 120 วัน ไม่มีสิทธิได้รับ
120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 30 วัน (ประมาณ 1 เดือน)
1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 90 วัน (ประมาณ 3 เดือน)
3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 180 วัน (ประมาณ 6 เดือน)
6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 240 วัน (ประมาณ 8 เดือน)
ตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ได้เท่ากับค่าจ้าง 300 วัน (ประมาณ 10 เดือน)

1.1 ได้รับค่าชดเชยเพราะถูกเลิกจ้างหรือไล่ออก

หากค่าชดเชยที่ได้รับเป็นเพราะคุณถูกเลิกจ้างหรือไล่ออก ค่าชดเชยที่ได้รับส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง 300 วัน (สูงสุด 300,000 บาทแรก) จะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เกินจากนั้นจะต้องนำมาเสียภาษี

เช่น ถ้าได้รับค่าชดเชยมาในอัตรา 300 วัน เป็นเงิน 360,000 บาท ค่าชดเชยที่ได้รับ 300,000 บาทแรกจะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เหลือ 60,000 บาทยังต้องนำมาเสียภาษีอยู่

1.2 ได้รับค่าชดเชยเพราะเกษียณหรือหมดสัญญาจ้าง

แต่ถ้าคุณได้รับค่าชดเชยเพราะเกษียณอายุการทำงาน (เช่น ข้อบังคับบริษัทให้เกษียณอายุตอน 55 ปี) หรือหมดสัญญาจ้าง (เช่น ทำสัญญาจ้างแรงงานแบบมีกำหนดเวลาแล้วนายจ้างตัดสินใจไม่ต่อสัญญา) ค่าชดเชยดังกล่าวจะต้องนำมาเสียภาษีทั้งจำนวน จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเหมือนกรณีถูกเลิกจ้างหรือไล่ออก แต่อย่างใด

สรุปเรื่องค่าชดเชย

  • ถ้าได้รับเพราะถูกเลิกจ้างหรือไล่ออก ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง 300 วัน (สูงสุด 300,000 บาทแรก)
  • ถ้าได้รับเพราะเกษียณหรือหมดสัญญาจ้าง ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเลย
  • ถ้าลาออกเองด้วยความสมัครใจหรือถูกไล่ออกเพราะความผิดร้ายแรงบางอย่างของตัวลูกจ้างเอง จะไม่ได้รับเงินค่าชดเชย

2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับเงินใน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อคุณออกจากงานไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจ เกษียณ หมดสัญญาจ้าง หรือถูกเลิกจ้างก็ตาม คุณจะมีทางเลือก 3 ทาง ได้แก่

2.1 ถอนออกมาเป็นเงินสด

เงินที่คุณถอนออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะแบ่งเป็น 4 ส่วน

ก) เงินสะสมของคุณเองที่ถูกหักออกจากเงินเดือนก่อนหน้านี้
ข) ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม
ค) เงินสมทบจากนายจ้าง
ง) ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง

หากคุณถอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินสดออกมา โดยปกติกฎหมายกำหนดให้คุณต้องนำเงินที่ได้จาก ข) ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสมค) เงินสมทบจากนายจ้าง และ ง) ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง มาเสียภาษีด้วย โดยจะคิดเสมือนเป็นเงินเดือนที่ได้จากนายจ้าง (เงินได้ประเภทที่ 1)

ส่วน ก) เงินสะสมของคุณเองที่ได้รับคืนมา ไม่ต้องนำไปเสียภาษีแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี หากคุณเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปีแล้ว (อ้างอิง ข้อ 3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 188)) และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ด้วย เงินที่คุณถอนออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด (อ้างอิงจาก ข้อ 2(36) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509))

2.2 ขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปก่อน

หากคุณเลือกที่จะไม่ถอนออกมาเป็นเงินสด คุณสามารถเลือกขอคงเงินทั้งหมดไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปก่อนและคงการเป็นสมาชิกต่อไปได้ โดยที่ลูกจ้างและนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนแล้วตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน หรือไม่น้อยกว่า 90 วันนับแต่วันที่ออกจากงาน (อ้างอิงจาก มาตรา 23/3 พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530) ซึ่งตราบเท่าที่คุณยังไม่ถอนเงินออกมา ก็จะยังไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด

ทั้งนี้ กฎหมายยังอนุญาตให้นับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ โดยกรณีนี้รวมถึงกรณีที่คุณหางานใหม่ได้แล้วโอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังที่ทำงานใหม่ กฎหมายก็ยังอนุญาตให้นับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่องไปได้ด้วยเช่นกัน (อ้างอิงจาก ข้อ 5 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 188)) ดังนั้น หากภายหลังคุณเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปีแล้ว (อ้างอิงข้อ 3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 188)) และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ด้วย เงินที่คุณถอนออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด (ตามประกาศ ข้อ 2(36) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509))

2.3 โอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

ปัจจุบัน นอกจากรอโอนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่แล้ว กฎหมายยังเพิ่มช่องทางให้ผู้ที่ออกจากงานระหว่างปีสามารถโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเป็น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้ด้วย (อ้างอิง มาตรา 23/4 พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530) ซึ่งหากคุณเลือกวิธีนี้ ก็จะยังไม่มีการถอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาเป็นเงินสด ทำให้คุณยังไม่ต้องเสียภาษีสำหรับเงินก้อนนี้แต่อย่างใด

สรุปเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เมื่อออกจากงาน คุณมีทางเลือก 3 ทาง ได้แก่

  • ถอนออกมาเป็นเงินสด (โดยปกติจะเสียภาษี)
  • ขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปก่อน (ยังไม่ต้องเสียภาษี)
  • โอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเป็น RMF (ยังไม่ต้องเสียภาษี)

3. เงินก้อนอื่นๆ นอกเหนือจากนี้

เมื่อคุณออกจากงานไม่ว่าโดยสมัครใจหรือถูกเลิกจ้าง คุณอาจจะได้รับเงินอื่นๆ นอกเหนือจากค่าชดเชยและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย อาทิ

  • สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (เงินก้อนที่จ่ายเมื่อถูกเลิกจ้างกะทันหัน)
  • ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้
  • เงินเดือนที่ยังค้างชำระ
  • ค่าเสียหายที่เรียกร้องจากการถูกเลิกจ้าง
  • เงินบำเหน็จอื่นๆ หรือเงินก้อนสุดท้ายประเภทอื่นที่นายจ้างเก่าจ่ายให้เพราะเหตุออกจากงาน (เช่น ลาออก, เลิกจ้างหรือไล่ออก) หรือ เงินเกษียณก่อนกำหนด (Early Retire) ที่นายจ้างจ่ายให้ เป็นต้น

เงินเหล่านี้จะถูกตีความว่าเป็นรายได้จากงานประจำลักษณะเดียวกับเงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีด้วย

วิธีเสียภาษีสำหรับเงินก้อนที่ได้รับเมื่อต้องออกจากงาน

เงินก้อนที่คุณได้รับเพราะออกจากงานโดยปกติจึงต้องนำไปเสียภาษีประจำปีด้วย โดยทางเลือกการเสียภาษีจะแบ่งตามอายุงานของคุณดังนี้

1) ทำงานครบ 5 ปีแล้ว

หากทำงานครบ 5 ปีแล้ว (นับตั้งแต่วันที่เริ่มงานจนถึงวันที่ออกจากงาน) คุณสามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินก้อนที่ได้รับนี้มารวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นๆ หรือจะแยกคำนวณภาษีต่างหากก็ได้ (อ้างอิง ข้อ 2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)) แต่การแยกคำนวณภาษีสำหรับกรณีนี้จะใช้วิธีที่แตกต่างจากวิธี ยื่นภาษี ปกติทั่วไป

เนื่องจากคุณจำเป็นต้องใช้ “ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ” ในการยื่นภาษีด้วย (ดูตัวอย่างด้านล่าง) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการแยกคำนวณภาษีสำหรับกรณีนี้มักจะช่วยให้คุณเสียภาษีถูกกว่าการนำไปรวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายได้และค่าลดหย่อนของแต่ละบุคคลด้วย

ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91

ตัวอย่างใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ

คุณสามารถใช้ iTAX เพื่อคำนวณภาษีและเตรียมแบบฟอร์มภาษีกรณีได้รับเงินก้อนเพราะออกจากงานได้อย่างถูกต้องในทุกกรณี โดย iTAX เตรียมแบบฟอร์มดังกล่าวให้คุณด้วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ที่ iTAX

2) ทำงานยังไม่ครบ 5 ปี

หากคุณทำงานกับนายจ้างรายนี้ยังไม่ครบ 5 ปี (นับตั้งแต่วันที่เริ่มงานจนถึงวันที่ออกจากงาน) กฎหมายกำหนดให้คุณต้องนำเงินที่ได้รับจากเหตุออกจากงานทั้งหมดไปคำนวณภาษีเป็นรายได้จากงานประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1) (และต้องคำนวณภาษีรวมกับรายได้ประเภทอื่นๆ ด้วย (ถ้ามี)) โดยไม่สามารถแยกคำนวณเหมือนกรณีทำงานครบ 5 ปีได้

สรุปเรื่องวิธีเสียภาษี

  • ถ้าทำงานครบ 5 ปีแล้ว เลือกนำเงินก้อนมารวมคำนวณภาษีหรือแยกคำนวณภาษีก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเลือกวิธีใดก็ต้องยื่นภาษีประจำปีอยู่ดี เพียงแต่หากเลือกวิธีแยกคำนวณภาษีจะต้องใช้ใบแนบฯ เพิ่มอีก 1 ใบ
  • ถ้าทำงานยังไม่ครบ 5 ปี คุณต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามปกติร่วมกับรายได้จากงานประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1) ที่คุณได้รับระหว่างปี ไม่สามารถเลือกวิธีแยกคำนวณภาษีได้

ออกจากงานโดยไม่ได้รับเงินก้อนจากนายจ้าง

กรณีที่คุณออกจากงานโดยไม่ได้รับเงินก้อนใดๆ จากนายจ้างหรือบริษัทนอกเหนือจากเงินเดือน เงินที่คุณต้องนำมาเสียภาษีประจำปีจะมีเพียงเงินเดือนที่ได้รับระหว่างปีตามปกติเท่านั้น ไม่มีประเด็นภาษีอื่นใดต้องกังวล สามารถยื่นภาษีตามปกติได้เลย

เงินทดแทนประกันสังคม

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้เงินทดแทนประกันสังคมเพราะตกงานต้องเสียภาษีมั้ย

ไม่ว่าคุณถูกไล่ออกหรือลาออกเอง หากคุณจ่ายประสังคมอยู่ก็มีสิทธิได้เงินทดแทนประกันสังคมด้วย ซึ่งเงินทดแทนการขาดรายได้ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว (อ้างอิง มาตรา 42(25) ประมวลรัษฎากร) ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีหรือเสียภาษีแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่ได้รับจะแตกต่างกันดังนี้

1) กรณีถูกเลิกจ้าง

คุณจะได้รับเงินทดแทนในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน โดยจะจ่ายให้เป็นรายเดือน แต่โดยปกติเงินทดแทนการขาดรายได้นี้จะถูกกำหนดไว้สูงสุดไม่เกินเดือนละ ฿7,500 โดยจะได้รับเงินทดแทนนี้เป็นเวลา 180 วัน (ประมาณ 6 เดือน) ตลอดช่วงเวลาที่ตกงาน

2) กรณีลาออกเอง

คุณจะได้รับเงินทดแทนในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน โดยจะจ่ายให้เป็นรายเดือน แต่โดยปกติเงินทดแทนการขาดรายได้นี้จะถูกกำหนดไว้สูงสุดไม่เกินเดือนละ ฿4,500 โดยจะได้รับเงินทดแทนนี้เป็นเวลา 90 วัน (ประมาณ 3 เดือน) ตลอดช่วงเวลาที่ตกงาน

สรุป

หากคุณได้รับเงินก้อนเพราะเหตุออกจากงาน เงินที่คุณได้รับแต่ละรายการมีผลต่อภาษี และหน้าที่ในการยื่นภาษีของคุณด้วย เพื่อความสะดวกในการยื่นภาษีปีนี้ iTAX สามารถช่วยคุณเตรียมแบบฟอร์มที่จำเป็นต้องใช้ให้คุณได้ในทุกกรณีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้คุณจัดการภาษีของคุณได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วที่สุดในฐานะผู้เสียภาษี ได้ที่ www.itax.in.th

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)