Contents

ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt

26,331 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt (ชื่อเดิม E-Refund) หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า “ค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ” ใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง (รวม VAT แล้ว) แต่สูงสุดไม่เกิน ฿50,000 เฉพาะการซื้อสินค้าหรือบริการที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากระบบของกรมสรรพากร1

ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt 2567 เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ผู้ที่จ่ายเงินสำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้ผู้ประกอบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบกิจการขาย หนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ภายในประเทศ ใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน ฿50,000 (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) เฉพาะการซื้อสินค้าหรือบริการที่มีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากระบบของกรมสรรพากร2 หากซื้อสินค้า/บริการแล้วได้รับส่วนลด ให้ลดหย่อนได้ตามราคาที่จ่ายจริงหลังหักส่วนลดแล้ว

ทั้งนี้ คุณสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร etax.rd.go.th

ในกรณีสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีรายได้ ต่างฝ่ายสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดคนละ ฿50,0003

ทั้งนี้ ถ้ามีค่าซื้อสินค้าหลายรายการ คุณสามารถรวมค่าซื้อสินค้าย่อยๆ ทุกจำนวนมาหักลดหย่อนได้แต่เมื่อรวมแล้วจะนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน ฿50,000

เงื่อนไขการรับสิทธิ

คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนค่าลดหย่อน Easy E-Receipt สูงสุด ฿50,000 ได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้

  • เป็นการซื้อสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นระหว่าง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567
  • เป็นสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเป็นสินค้าประเภทหนังสือ (รวมถึง e-book) และ สินค้า OTOP

อนึ่ง แม้เป็นบุคคลต่างชาติ แต่ถ้าต้องยื่นภาษีในไทยก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt ได้

สินค้าและบริการที่ลดหย่อนภาษีได้

1. สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

โดยปกติสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีใบกำกับภาษีออกมาพร้อมกันด้วย ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt จะต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่ปรากฏชื่อและข้อมูลผู้ซื้อด้วยเท่านั้น4 (ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีแบบกระดาษได้)

ตัวอย่างสินค้าหรือบริการที่ลดหย่อน Easy E-Receipt 2567 ได้ เช่น เติมน้ำมันรถยนต์ คอมพิวเตอร์ เสื้อผ้าแบรนด์เนม ของใช้ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

2. หนังสือ (รวมถึง e-book)

หนังสือ และ e-book ในที่นี้ รวมถึงนิตยสารและหนังสือพิมพ์ โดยผู้ขายต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่านั้น (เจ้าของร้านหนังสือเป็นบุคคลธรรมดาใช้ลดหย่อนไม่ได้) ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt จะต้องใช้ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Receipt) ที่ปรากฏชื่อและข้อมูลผู้ซื้อด้วยเท่านั้น5

3. สินค้า OTOP

สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ลดหย่อนภาษีได้จะต้องเป็นสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว และต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Receipt) ตามมาตรฐานของกรมสรรพากร โดยจะเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ แต่ผู้ขายต้องระบุข้อความในใบเสร็จฯ ที่แสดงว่าสินค้านั้นเป็นสินค้า OTOP ในแต่ละรายการสินค้า หรือจัดทำเครื่องหมายแสดงในแต่ละรายการสินค้าที่เป็นสินค้า OTOP และมีข้อความที่แสดงว่าเครื่องหมายนั้น เป็น สินค้า OTOP เช่น “OTOP” “โอทอป” หรือ “One Tambon One Product” หรือข้อความอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน67

ตัวอย่างรายการสินค้า และบริการ ที่ลดหย่อน Easy E-Receipt 2567 ได้ (สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567)

คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์
Studio7 ( ออก e-Tax invoice ได้)
AIS ( ออก e-Tax invoice ได้)
BaNANA ( ออก e-Tax invoice ได้)
Toshiba Thailand Shopping ( ออก e-Tax invoice ได้)
เสื้อผ้า แฟชั่น
New Central Online ( ออก e-Tax invoice ได้)
True Shopping ( ออก e-Tax invoice ได้)
ของใช้ในบ้าน
OfficeMate ( ออก e-Tax invoice ได้)
Tops Online ( ออก e-Tax invoice ได้)
Big C ( ออก e-Tax invoice ได้)
หนังสือ และ e-book
นายอินทร์ ( ออก e-Tax invoice ได้)
SE-ED ( ออก e-Tax invoice ได้)
B2S ( ออก e-Tax invoice ได้)

หมายเหตุ: หากคุณกด link และซื้อสินค้าจากร้านค้าเหล่านี้ ทาง iTAX อาจได้รับส่วนแบ่งตามมูลค่าสินค้าที่คุณสั่งซื้อ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถให้บริการต่อไปได้

สินค้าและบริการที่ไม่ได้รับสิทธิลดหย่อน

สินค้าและบริการต่อไปนี้ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับสิทธิลดหย่อน Easy Receipt แม้ผู้ประกอบการจะสามารถออก E-tax invoice หรือ E-receipt ได้ก็ตาม8

  • ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  • ค่าซื้อยาสูบ
  • ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลัง 15 กุมภาพันธ์ 2567 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ก็ตาม
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

นอกจากนี้ สินค้าและบริการต่อไปนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์ใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt ได้

  • ทองคำแท่ง
  • ค่ารักษาพยาบาล
  • ค่าทำศัลยกรรม
  • ผักผลไม้สด
  • เนื้อสัตว์สด
  • หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์
  • บัตรของขวัญ (Gift Voucher) ที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้า

ข้อสังเกตเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ใช้สิทธิลดหย่อน ‘Easy E-Receipt’ ได้

  1. หากร้านค้านั้นไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) สินค้าและบริการที่ร้านนั้นขายจะไม่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ยกเว้น เป็นการขายหนังสือ, e-book หรือเป็นสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนเท่านั้น
  2. หากร้านค้านั้นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แม้จะขายในรูปแบบบริการอย่างเดียว หากบริการนั้นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สปา คาราโอเกะ อาบอบนวด ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
  3. ค่าธรรมเนียมเทรดหุ้น และค่าธรรมเนียมซื้อกองทุนรวม (Front-end fee) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนรวม (Management fee) ลดหย่อนภาษีไม่ได้
  4. ค่าซื้อทองรูปพรรณ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะส่วนที่เป็นค่ากำเหน็จหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ตัวทองคำเองไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
  5. ยารักษาโรค อาหารเสริม ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ค่าบริการทางแพทย์ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม โดยปกติจะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
  6. ค่าที่พักในโรงแรมไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ค่าอาหารและเครื่องดื่มในโรงแรม (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้
  7. ค่าซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการ และนำบัตรไปใช้บริการในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ ค่าบริการเช่ารถยนต์ ค่าซ่อมรถ/เปลี่ยนยางรถยนต์ที่รับบริการและแล้วเสร็จในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ถ้ารับบริการก่อนหรือหลังช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่สามารถลดหย่อนได้
  8. อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน เช่น iPhone, iPad, MacBook ไม่ว่าจะซื้อราคาเต็ม หรือซื้อจาก Outlet ก็สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้
  9. สินค้าที่ซื้อจากร้าน Duty Free หากเป็นสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและออก e-Tax invoice ได้ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้
  10. รายการที่ซื้อจะสะสมหลายใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีหลายใบ หรืออยู่ในใบเดียวกันก็ได้ แต่ถ้ายอดซื้อเกิน 50,000 บาท (รวม VAT แล้ว) จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท
  11. การซื้อของออนไลน์ เช่น ซื้อผ่าน Shopee, Lazada หรือร้านค้าออนไลน์ต่างๆ จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ ถ้าซื้อจากร้านที่ออกใบกำกับภาษีได้ โปรดตรวจสอบกับผู้ขายให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ
  12. ในกรณีที่รายการสินค้ามีทั้งเสีย VAT และไม่เสีย VAT อยู่ในใบกำกับภาษีเดียวกัน คุณจะได้สิทธิลดหย่อนเฉพาะสินค้าที่เสีย VAT เท่านั้น เช่น ถ้าซื้อทั้งนมช็อกโกแลต (เสีย VAT) และนมจืด (ไม่เสีย VAT) จะได้สิทธิลดหย่อนเฉพาะนมช็อกโกแลต (เสีย VAT) เท่านั้น
  13. การซื้อสินค้าและบริการจะจ่ายด้วยเงินสด พร้อมเพย์ บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตก็ได้ขอให้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีลงวันที่ภายใน 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และมีรายละเอียดครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
  14. ค่าซ่อมรถ สามารถนำมาหักลดหย่อน Easy E-Receipt ได้ หากเป็นการซ่อมและจ่ายค่าซ่อมระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออก e-Tax Invoice ได้
  15. การซื้อทองรูปพรรณ สามารถนำมาหักลดหย่อน Easy E-Receipt ได้เฉพาะค่ากำเหน็จ (ตามมูลค่าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม) และผู้ประกอบการต้องสามารถออก e-Tax Invoice ได้ด้วย
  16. ค่าซื้อแพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศ สามารถนำมาหักลดหย่อน Easy E-Receipt ได้ หากเป็นการใช้แพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวระหว่าง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออก e-Tax Invoice ได้
  17. ค่าที่พักโรงแรม สามารถนำมาหักลดหย่อน Easy E-Receipt ได้หากเป็นการเข้าพักระหว่าง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออก e-Tax Invoice ได้

หลักฐานที่ต้องใช้

1. ซื้อสินค้าและบริการทั่วไป ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเฉพาะแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณ (เลขบัตรประชาชน 13 หลัก) รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย

2. ซื้อหนังสือ (รวมถึง e-book) ใบเสร็จรับเงินเฉพาะแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณ (เลขบัตรประชาชน 13 หลัก) รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย

3. ซื้อสินค้า OTOP ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป/ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice & e-Receipt) ที่ระบุรายการสินค้า OTOP, ข้อมูลผู้ขาย และระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณ (เลขบัตรประชาชน 13 หลัก) รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย

ทั้งนี้ การระบุชื่อที่อยู่ของผู้ซื้อในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี จะระบุตามที่อยู่ตามบัตรประชาชนหรือที่อยู่ปัจจุบันก็ได้ แต่ถึงแม้จะระบุที่อยู่ไม่ถูกต้องก็ยังสามารถใช้หักลดหย่อนได้อยู่ดี หากใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีนั้นมีข้อความอื่นๆ ครบถ้วนถูกต้องแล้ว

ใบเสร็จรับเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ (กรณีซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จด VAT)

หากคุณซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีข้อความครบถ้วนตามนี้

  • เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
  • ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย
  • เลขลำดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน
  • วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
  • ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ
  • ชนิด ชื่อ จำนวน และราคาสินค้าที่ซื้อ
  • จำนวนเงิน

ช่องทางตรวจสอบว่าผู้ประกอบการสามารถออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้

เนื่องจากปัจจุบัน กรมสรรพากรมีระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ 2 แบบ ได้แก่ ระบบ e-Tax invoice & e-Receipt และระบบ e-Tax invoice by Time Stamp ดังนั้น คุณจึงมีช่องทางตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการฯ 2 ช่องทาง ดังนี้

  1. ผู้ประกอบการ e-Tax invoice & e-Receipt – https://etax.rd.go.th/etax_staticpage/app/#/index/registered%23top
  2. ผู้ประกอบการ e-Tax invoice by Time Stamp – https://interapp3.rd.go.th/signed_inter/publish/register.php

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt สามารถขอรับเป็นเงินสดคืนได้ที่ร้านค้าเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการขอใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt จะต้องทำโดยการ ยื่นภาษีประจำปี 2567 ให้ กรมสรรพากรในช่วงต้นปี 2568 ได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น
  • หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt ฿50,000 คือ เงินคืนภาษีจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม7% (VAT 7% Refund) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะค่าลดหย่อน Easy E-Receipt ฿50,000 นี้เป็นสิทธิที่นำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt ต้องใช้ค่าสินค้าหรือบริการก่อนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ความจริงแล้วสิทธิลดหย่อนจะเป็นตัวเลขค่าสินค้า/บริการที่รวม VAT แล้ว
  • ถ้าคุณมีรายได้เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน ฿25,833.33 (หรือเงินได้สุทธิทั้งปีไม่เกิน ฿150,000) คุณไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวเพื่อขอใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปก็ได้ เพราะคุณอยู่ในเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ต่อให้ใช้สิทธิลดหย่อนEasy E-Receipt ก็ไม่ช่วยให้ประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น
  • ถ้ามีคุณมีคู่สมรสที่ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ คุณทั้งคู่ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt ได้สูงสุดคนละ ฿50,000 (รวม 2 คนได้สิทธิ ฿50,000) ไม่ว่าจะแยกยื่นภาษีหรือยื่นภาษีร่วมกันก็ตาม
  • ถ้าในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีเดียวกันมีรายการทั้งสินค้าที่เข้าเกณฑ์และไม่เข้าเกณฑ์ลดหย่อน คุณจะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเฉพาะค่าสินค้าเข้าเกณฑ์ลดหย่อนเท่านั้น
  • หากไม่มั่นใจว่าให้ระบุที่อยู่ผู้ซื้อตามบัตรประชาชนหรือที่อยู่ปัจจุบันดี จะใช้ที่อยู่ใดก็ได้ไม่มีปัญหา แต่ถึงแม้ในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีจะเขียนชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิดหรือมีการแก้ไขสามารถ ก็ยังสามารถใช้หักลดหย่อนได้อยู่ หากใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีนั้นมีข้อความเกี่ยวกับผู้ขาย รายละเอียดสินค้าหรือบริการ และองค์ประกอบอื่นๆ ครบถ้วนแล้ว
  • หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt ฿50,000 คือ เงินคืนภาษีจากรัฐ ฿50,000 เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวน เงินได้ และ อัตราภาษี ของแต่ละคนด้วย
เงินได้สุทธิ อัตราภาษี สิทธิได้เงินคืนภาษีสูงสุด
≤฿150,000 ยกเว้น ฿0
>฿150,000 – ฿300,000 5% ฿2,500
>฿300,000 – ฿500,000 10% ฿5,000
>฿500,000 – ฿750,000 15%  ฿7,500
>฿750,000 – ฿1,000,000 20% ฿10,000
>฿1,000,000 – ฿2,000,000 25% ฿12,500
>฿2,000,000 – ฿5,000,000 30% ฿15,000
>฿5,000,000 35% ฿17,500

เช็กสิทธิประโยชน์ เงื่อนไขการรับสิทธิ์ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษีแล้ว อย่าลืมคำนวณเงินที่จะใช้เพื่อการช้อปปิ้งและเงินที่จะได้จากการลดหย่อนภาษีให้ดี หรือหากคุณรู้สึกว่า มาตรการ Easy E-Receipt ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการลดหย่อนภาษีของคุณ

คุณสามารถค้นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ iTAX shop

แอป iTAX คำนวณภาษีและวางแผนภาษี

ตัวช่วยคำนวณภาษีเพื่อเงินคืนภาษีสูงสุด โหลดฟรี!


อ้างอิง

  1. ^

    ข้อ 1 กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566)

  2. ^

    ข้อ 1 กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566)

  3. ^

    ข้อ 3(3)(ก) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 443)

  4. ^

    ข้อ 1 กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566)

  5. ^

    ข้อ 2 (1) และ (2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566)

  6. ^

    ข้อ 4 (3) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 443)

  7. ^

    ข้อ 2 (3) กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566)

  8. ^

    ข้อ 3 กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566)