Contents

เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี

168,892 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี คือ เงินได้ที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าไม่อยู่ในข่ายต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีอยู่นับร้อยรายการโดยกระจายอยู่ตามกฎหมายฉบับต่างๆ เช่น ประมวลรัษฎากร กฎกระทรวง1 และพระราชกฤษฎีกา เป็นต้น ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเหมือน เงินได้ ทั่วไป

ตัวอย่าง เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี

  • กำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์2
  • เงินประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคม จากกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ หรือว่างงาน เป็นต้น3
  • เบี้ยประชุมกรรมาธิการหรือกรรมการ หรือค่าสอน ค่าสอบที่ทางราชการหรือสถานศึกษาของทางราชการจ่ายให้4
  • เงินรางวัลที่ถูกล็อตเตอร์รี่สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือสลากออมสิน5
  • บำเหน็จดำรงชีพ ของข้าราชการบำนาญ6
  • เงินได้จากการจำหน่าย หรือส่วนลดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งของรัฐบาล 7
  • รางวัลที่ทางราชการจ่ายให้ในการประกวดหรือแข่งขันที่ผู้รับไม่ได้มีอาชีพในการประกวดหรือแข่งขัน8
  • รางวัลสินบนนำจับที่ทางราชการจ่ายให้9
  • รางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ เช่น ทุนการศึกษาของหน่วยงานเอกชน 10
  • ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด เงินชดใช้ค่าเสียหาย11
  • เงินที่บริษัทประกันจ่ายให้จากการประกันภัยหรือประกันชีวิต12
  • เงินได้ที่ได้รับตามหน้าที่ธรรมจรรยา หรือรับตามประเพณี เช่น เงินอั่งเปา สินสอด ของรับขวัญ เงินค่าขนมลูก เงินค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน ฿10 ล้าน (แต่จะขยายเป็น ฿20 ล้าน ถ้าได้รับจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส)13
  • ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารแบบออมทรัพย์ทุกบัญชีรวมกันตลอดทั้งปีที่ไม่เกิน ฿20,00014 ทั้งนี้ เจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นี้ต้องไม่คัดค้านการส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารให้กรมสรรพากร15
  • ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารหรือสหกรณ์แบบประจำอย่างน้อย 24 เดือน ที่ยอดเงินฝากไม่เกินเดือนละ ฿25,000 และรวมทั้งหมดแล้วไม่เกิน ฿600,00016
  • ดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารในไทยสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 55 ปี ที่ฝากประจำตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วตลอดปีไม่เกิน ฿30,000 (หากเกิน ฿30,000 ต้องนำดอกเบี้ยนั้นมาคำนวณภาษีทั้งจำนวนตั้งแต่บาทแรกเลย)17
  • ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่ายานพาหนะที่ลูกจ้างได้รับตามความจำเป็นเป็นครั้งคราว18
  • รายได้จาก การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือมีคนให้มา ที่อยู่นอกตัวเมือง ให้ยกเว้นรายได้ ฿200,000 แรก19
  • รายได้ที่คนอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือคนพิการได้รับ ให้ยกเว้นรายได้ ฿190,000 แรก20
  • รายได้ (รวมถึงเงินส่วนแบ่งกำไร/เงินปันผล) จากกิจการโรงเรียนเอกชนที่ไม่ใช่โรงเรียนกวดวิชา21
  • เงินที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา (ให้เปล่าฝ่ายเดียวโดยไม่มีสิ่งใดตอบแทน) เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน ฿10 ล้าน (แต่จะขยายเป็น ฿20 ล้าน ถ้าได้รับจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส)22
  • เงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืนที่สมาชิกสหกรณ์ได้รับจากสหกรณ์23

ไม่ว่ารายได้ของคุณจะเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ เงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี คุณก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการยื่นภาษีและคำนวณภาษีได้ และหากคุณไม่อยากใช้เวลากับการคำนวณภาษีมากเกินไป iTAX application สามารถช่วยลดทอนเวลาที่มีค่าของคุณลงได้ นอกจากคำนวณภาษีแล้ว คุณยังสามารถค้นหาแผนลดหย่อนภาษีที่คุ้มที่สุดได้จาก iTAX shop อีกด้วย


อ้างอิง

  1. ^

    กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  2. ^

    มาตรา 42(17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(23) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  3. ^

    มาตรา 42(25) ประมวลรัษฎากร

  4. ^

    มาตรา 42(7) ประมวลรัษฎากร

  5. ^

    มาตรา 42(11) ประมวลรัษฎากร

  6. ^

    มาตรา 42(17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(64) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  7. ^

    มาตรา 42(17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  8. ^

    มาตรา 42(11) ประมวลรัษฎากร

  9. ^

    มาตรา 42(11) ประมวลรัษฎากร

  10. ^

    มาตรา 42(11) ประมวลรัษฎากร

  11. ^

    มาตรา 42(13) ประมวลรัษฎากร

  12. ^

    มาตรา 42(13) ประมวลรัษฎากร

  13. ^

    มาตรา 42(27),(28) ประมวลรัษฎากร

  14. ^

    มาตรา 42(17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(38) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  15. ^

    ประกาศอธิบดี ฉบับที่ 347 (พ.ศ. 2562)

  16. ^

    พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539)

  17. ^

    มาตรา 42(17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(69) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 137)

  18. ^

    มาตรา 42(1) ประมวลรัษฎากร

  19. ^

    มาตรา 42(17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(17) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  20. ^

    มาตรา 42(17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(72),(81) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  21. ^

    มาตรา 3 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 284) พ.ศ. 2538

  22. ^

    มาตรา 42(27),(28) ประมวลรัษฎากร

  23. ^

    มาตรา 3 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับท่ี 40) พ.ศ. 2514