Contents

เครดิตภาษีเงินปันผล

109,989 views

โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เครดิตภาษีเงินปันผล เป็นทั้งสิทธิประโยชน์1 และ เงินได้2 ในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะมีได้เฉพาะผู้ที่ได้รับ เงินปันผลจากหุ้นทั่วไป เท่านั้น

วิธีคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล

เครดิตภาษีเงินปันผลมีสูตรการคำนวณ ดังนี้3

เครดิตภาษีเงินปันผล = (มูลค่าปันผล × อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล) ÷ (100 – อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล)

ส่วนประเด็นว่าเงินปันผลที่ได้รับนั้นจ่ายจากอัตราภาษีเท่าไหร่ ถ้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมี บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) ทำหนังสือแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลมาให้อย่างละเอียด

ตัวอย่างการคำนวณ

ดังนั้น ถ้าบริษัท iTAX จำกัด (มหาชน) เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% และจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งมูลค่า ฿80 จะคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผลได้ดังนี้

เครดิตภาษีเงินปันผล = (มูลค่าปันผล × อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล) ÷ (100 – อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล)

เครดิตภาษีเงินปันผล = (฿80 × 20) ÷ (100 – 20)

เครดิตภาษีเงินปันผล = ฿1,600 ÷ 80 = 20

แปลว่า เงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับมา ฿80 มีเครดิตภาษีเงินปันผลอยู่ ฿20

วิธีใช้เครดิตภาษีเงินปันผล

แต่ตามที่บอกว่าเครดิตภาษีเงินปันผลถือเป็นเงินได้ด้วย ดังนั้น ถ้าจะใช้เครดิตภาษีเงินปันผลนั้นจะต้องนำเครดิตภาษีเงินปันผลมารวมกับมูลค่าเงินปันผลด้วย

เงินได้ = เงินปันผล + เครดิตภาษีเงินปันผล

เมื่อผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลมามูลค่า ฿80 และมีเครดิตภาษีเงินปันผลอยู่ ฿20 ทำให้ผู้ถือหุ้นมีเงินได้ทั้งหมด ฿100

ถ้าผู้ถือหุ้นรายนี้เสียภาษีในอัตรา 10% แสดงว่าผู้ถือหุ้นรายนี้จะเสียภาษีสำหรับเงินปันผลก้อนนี้เพียง ฿10 เท่านั้น แทนที่จะเป็น ฿28 เหมือนตอนแรกทำให้ได้เงินคืนภาษีกลับมาบางส่วนด้วย ซึ่งก็จะสอดคล้องกับวิธีการแก้ปัญหาโดยการเสียภาษีเพียงชั้นเดียวเมื่อเราใช้เครดิตภาษีเงินปันผล

ไม่ใช่เครดิตภาษีเงินปันผล ใช้เครดิตภาษีเงินปันผล
จำนวนชั้นที่เสียภาษี เสียภาษีซ้ำซ้อน 2 รอบ เสียภาษีชั้นเดียว
ภาระภาษีโดยรวม ฿28 ฿10

เครดิตภาษีเงินปันผลมีไว้เพื่ออะไร?

เครดิตภาษีเงินปันผลมีไว้เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการเก็บภาษีเนื่องจากก่อนจะจ่ายเงินปันผลบริษัทที่จ่ายมีการเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคล จากกำไรที่จะนำมารอบนึงแล้ว ถ้าผู้ถือหุ้นต้องเอาเงินปันผลมาเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อีกก็จะเป็นการเสียภาษีถึง 2 ครั้งจากเงินก้อนเดิม เครดิตภาษีเงินปันผลจะทำให้เราสามารถนำค่าภาษีของบริษัทที่จ่ายเงินปันผลนั้นมาใช้เป็นเครดิตภาษีของเราได้ ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียภาษีจริงๆ เพียงชั้นเดียวเท่านั้น

ตัวอย่าง ปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน

บริษัท iTAX จำกัด (มหาชน) มีกำไร ฿100 ล้าน เสียภาษีในอัตรา 20% (เสียภาษีรอบแรก) ทำให้เหลือเงินสำหรับจ่ายปันผล ฿80 ล้าน ต่อมามีมติจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเป็นเงิน ฿80 ล้าน ซึ่งกฎหมายบังคับให้บริษัท iTAX จำกัด (มหาชน) ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายก่อนจ่ายปันผลในอัตรา 10% (เสียภาษีรอบสอง) ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลในมือ ฿72 ล้าน

สิ่งที่เป็นประเด็น

เงินก้อนเดิมเสียภาษีถึง 2 ครั้ง ทำให้เงินปันผลลดลงจาก ฿100 ล้าน > ฿80 ล้าน > ฿72 ล้าน เท่ากับค่าภาษีราว ฿28 ล้าน หรือประมาณ 28% ซึ่งถ้าปกติผู้ถือหุ้นเสียภาษีในอัตรา 10% เขาก็ควรจะเสียภาษีเพียงแค่ ฿10 ล้านเท่านั้น ดังนั้นทางแก้คือควรทำให้ผู้ถือหุ้นเสียภาษีเพียงชั้นเดียวโดยใช้เครดิตภาษีเงินปันผล


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 47 ทวิ ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    มาตรา 39 ประมวลรัษฎากร

  3. ^

    มาตรา 47 ทวิ ประมวลรัษฎากร