Contents

หลักแหล่งเงินได้ และ หลักถิ่นที่อยู่ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)

9,983 views

โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

บุคคลธรรมดา เมื่อมีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็จริง แต่เกณฑ์การเสียภาษีในไทยจะขึ้นอยู่กับหลักการจัดเก็บภาษีด้วย ซึ่งกรมสรรพากรจะเก็บภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาในไทยก็ต่อเมื่อเข้า หลักแหล่งเงินได้ และหลักถิ่นที่อยู่ โดยจะขึ้นอยู่กับแหล่งเงินได้ของผู้เสียภาษีว่าได้รับมาจากในไทยหรือต่างประเทศ

1. หลักแหล่งเงินได้

หลักแหล่งเงินได้ จะนำมาใช้เมื่อผู้มีเงินได้มีแหล่งเงินได้ในไทย เช่น ทำงานในไทย หรือมีกิจการในไทย หรือมีทรัพย์สินในไทย มีรายได้จากการลงทุนในไทย จะต้องเสียภาษีให้ประเทศไทยด้วย ไม่ว่าเงินนั้นจะจ่ายในประเทศหรือนอกประเทศ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ และไม่ว่าจะได้เข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม1

2. หลักถิ่นที่อยู่ (อัพเดทล่าสุด 2567)

หลักถิ่นที่อยู่ 2567 จะปรับใช้สำหรับรายได้จากต่างประเทศที่นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป2

หลักถิ่นที่อยู่ จะนำมาใช้เมื่อผู้มีเงินได้มีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ ซึ่งอาจต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ประเทศไทยด้วยถ้าเข้าองค์ประกอบต่อไปนี้

1) อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วัน (เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย)ในปีภาษีนั้น (ปีปฏิทิน นับตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. ของปีนั้น) และ

2) นำรายได้จากต่างประเทศนั้นเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่ารายได้นั้นจะนำเข้ามาในปีภาษีเดียวกันกับปีที่มีรายได้ด้วยหรือไม่ก็ตาม 3

ดังนั้น หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น เงินได้จากต่างประเทศดังกล่าวจะไม่ต้องเสียภาษีในไทยเลย เช่น ปีใดที่ผู้มีเงินได้อยู่ในไทยไม่ถึง 180 วัน แม้จะมีเงินได้จากต่างประเทศในปีดังกล่าว หากภายหลังนำเข้ามาในประเทศไทยก็ไม่ต้องนำมายื่นภาษี เป็นต้น

ทั้งนี้ หากนำรายได้จากต่างประเทศนั้นเข้ามาในประเทศไทย ให้นำมายื่นภาษีปีนั้น4 ส่วนรายได้จากต่างประเทศที่เกิดขึ้นภายในปี 2566 หรือก่อนหน้านั้น แม้จะนำเข้ามาในประเทศไทยในปี 2567 เป็นต้นไป จะยังได้รับยกเว้นไม่ต้องเข้าเกณฑ์ใหม่แต่อย่างใด5

อย่างไรก็ตาม อนุสัญญาภาษีซ้อน ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนระหว่างประเทศได้เช่นกัน

สรุปตัวอย่าง การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากต่างประเทศตาม เกณฑ์ใหม่ 2567

กรมสรรพากรได้สรุปคำถาม – คำตอบ เพื่อชี้แจงกรณีมีเงินได้จากต่างประเทศตาม เกณฑ์ใหม่ 2567 โดยสามารถสรุปเป็นตัวอย่างได้ดังนี้

หลักเกณฑ์ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการนำเงินได้จากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย
  • ถ้าในปีภาษี 2567 นาย ก. อยู่ในประเทศไทยรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 200 วัน นาย ก. ได้ค่าเช่าจากการปล่อยเช่าทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ เช่นนี้ นาย ก. จะมีแหล่งเงินได้ต่างประเทศในปีภาษีที่อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป หากต่อมาในปีภาษี 2568 นาย ก. โอนเงินได้ดังกล่าวเข้ามายังบัญชีธนาคารในประเทศไทย จะเป็นการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ดังนั้น นาย ก. จะต้องนำเงินได้จากต่างประเทศดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2568
  • ถ้าในปีภาษี 2566 และ 2567 นาย ก. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และนาย ก. มีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในต่างประเทศ ในปีภาษี 2566 และได้ค่าเช่าจากคอนโดมิเนียมที่อยู่ในต่างประเทศในปีภาษี 2567 ต่อมาในปีภาษี 2568 นาย ก. นำเงินได้พึงประเมินทั้ง 2 กลับเข้ามาในประเทศไทย นาย ก. ไม่มีหน้าที่เสียภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 แต่นาย ก. มีหน้าที่ต้องนำค่าเช่าคอนโดมิเนียมที่อยู่ในต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2568 เนื่องจากเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นหลัง 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
  • ถ้าในปีภาษี 2567 นาย ก. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และได้เงินปันผลจากต่างประเทศ ต่อมาในปีภาษี 2568 นาย ก. นำเงินปันผลจากต่างประเทศดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทย นาย ก. มีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลจากต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2568 เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินหลัง 1 มกราคม 2567
  • ถ้าในปีภาษี 2565 นาย ก. อยู่ในประเทศไทยรวมระยะเวลาเกิน 180 วัน และนาย ก. ได้ไปให้คำปรึกษาในต่างประเทศ และรับเงินค่าที่ปรึกษา จำนวน 50,000 บาท ต่อในปีภาษี 2567 นาย ก. โอนเงินค่าที่ปรึกษาดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทย นาย ก. ไม่มีหน้าที่ต้องนำค่าที่ปรึกษาในต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2567 เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นก่อน 1 มกราคม 2567
  • ถ้าในปี 2567 นาย ก. อยู่ในประเทศไทยรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 65 วัน นาย ก. ได้ค่าเช่าจากการให้เช่าทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศในปี 2567 แล้วโอนเงินได้ดังกล่าวเข้ามายังบัญชีธนาคารในประเทศไทยในปีเดียวกันเลย นาย ก. ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินค่าเช่าดังกล่าว ในปีภาษี 2567 เนื่องจากนาย ก. มิใช่ผู้อยู่ในประเทศไทยขณะที่เงินได้นั้นเกิดขึ้น
ประเด็นการนำเงินต้นจากการลงทุนในต่างประเทศกลับมายังประเทศไทย
  • การนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย คือ การกระทำด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย เช่น การโอนเงินได้พึงประเมินผ่านบัญชีธนาคาร การโอนเงินได้พึงประเมินผ่านระบบออนไลน์หรือการนำเงินได้พึงประเมินติดตัวเข้ามาในประเทศ เป็นต้น เช่น นางสาว ข. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย โอนเงิน จำนวน 200,000 บาท ไปเข้าบัญชีธนาคารในต่างประเทศและได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารดังกล่าว จำนวน 10,000 บาท ต่อมานางสาว ข. ได้สั่งโอนดอกเบี้ย 10,000 บาทนั้นเข้าบัญชีธนาคารในประเทศไทย กรณีนี้ นางสาว ข. ได้นำดอกเบี้ยเข้ามาในประเทศไทยแล้ว
  • ถ้า นาย ก. โอนเงิน จำนวน 200,000 บาท ไปเข้าบัญชีลงทุนในต่างประเทศ ต่อมานาย ก. ได้ปิดบัญชีลงทุนดังกล่าว แล้วนำเงิน จำนวน 200,000 บาท กลับเข้ามาในประเทศไทย เงินดังกล่าวไม่ใช่เงินได้ของ นาย ก. เพราะเป็นเพียงเงินต้น นาย ก. จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการนำเงินดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทย
ประเด็นดอกเบี้ยจากต่างประเทศ
  • ถ้าในปีภาษี 2567 นาย ก. อยู่ในประเทศไทยรวมระยะเวลาเกิน 180 วัน นาย ก. ได้นำเงินจำนวน 50,000 บาทไปฝากธนาคารในต่างประเทศ และได้ดอกเบี้ยเงินฝาก จำนวน 5,000 บาท ในปีภาษี 2567 ต่อมาในปีภาษี 2568 นาย ก. โอนเงินทั้งหมด 55,000 บาท กลับเข้ามาในประเทศไทย นาย ก. มีหน้าที่ต้องนำเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากในต่างประเทศ 5,000 บาท ซึ่งเป็นเงินได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2568 ส่วนเงินต้น 50,000 บาทที่นำกลับเข้ามาในไทยไม่ใช่เงินได้จึงไม่ต้องเสียภาษี
ประเด็นการรับรู้กำไรจากการขายหุ้นต่างประเทศ
  • ถ้าในปีภาษี 2567 นาย ค. อยู่ในประเทศไทยรวมระยะเวลาเกิน 180 วัน และนาย ค. ได้นำเงินไปซื้อหุ้น A ในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 จำนวน 100 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท ต่อมาในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ราคาหุ้นขึ้นเป็น หุ้นละ 1,100 บาท กรณีนี้แม้ นาย ค. จะมีกำไรที่ยังไม่รับรู้ (Unrealized gain) เพิ่มขึ้น 10,000 บาท ก็จริง แต่ถ้านาย ค. ยังไม่ได้ขายหุ้นดังกล่าวก็จะยังไม่เกิดการรับรู้กำไร จึงยังไม่มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
    • ถ้าต่อมาในปีภาษี 2568 นาย ค. อยู่ในประเทศไทยรวมระยะเวลาเกิน 180 วัน และนาย ค. ได้ขายหุ้น A ในต่างประเทศ จำนวน 80 หุ้น ในวันที่ 1 มิถุนายน 2568 ในราคาหุ้นละ 1,200 บาท กรณีนี้ นาย ค. จะเกิดการรับรู้กำไร (Realized gain) จำนวน 16,000 บาท ในวันที่ 1 มิถุนายน 2568 ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินจากผลประโยชน์ที่ได้รับจากการขายหุ้นดังกล่าวซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน (Capital gain) ตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร แต่จะยังไม่ต้องเสียภาษีในไทยเนื่องจากยังไม่ได้นำกำไรจากการหุ้น A ส่วนนี้เข้ามาในประเทศไทย ส่วนหุ้น A ที่เหลืออีก จำนวน 20 หุ้น ที่นาย ค. ยังไม่ได้ขาย ก็ยังไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด
    • ถ้าเพิ่มเติมข้อเท็จจริงว่า นาย ค. นำกำไรจากการขายหุ้น A จำนวน 80 หุ้น เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี 2569 กรณีนี้ นาย ค. จะมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายหุ้นในต่างประเทศดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2569 เนื่องจากกำไรดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567
ประเด็นเงินเก็บจากการทำงานหรือประกอบกิจการในต่างประเทศ
  • กรณีทำงานอยู่ต่างประเทศแล้วนำเงินเก็บจากการทำงานหรือประกอบกิจการในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยโดยที่ผ่านมาบุคคลไม่เคยอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน กรณีนี้จะไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากเงินเก็บดังกล่าวมีที่มาจากเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นในปีภาษีที่บุคคลดังกล่าวอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน เช่น นาง ง. เป็นคนสัญชาติไทยและไปอาศัยอยู่ในประเทศจีนในปี 2550 แต่ในปี 2567 นาง ง. ต้องการเดินทางกลับมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร จึงได้นำเงินเก็บจากการประกอบกิจการในประเทศจีนกลับเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด เช่นนี้ นาง ง. ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่นำเข้ามาในประเทศไทยในปี 2567 เนื่องจากเงินเก็บดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินจากปีภาษีที่นาง ง. ไม่ใช่ผู้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน
ประเด็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับต่างประเทศ
  • หากเงินได้จากต่างประเทศนั้นได้เสียภาษีที่ต่างประเทศไปแล้ว เมื่อนำกลับเข้ามาที่ประเทศไทย อาจใช้สิทธินำภาษีที่เสียในต่างประเทศมาเป็นเครดิตภาษีต่างประเทศเพื่อหักกลบกับภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยในปีภาษีที่นำเงินได้พึงประเมินเข้ามาใน
    ประเทศไทยได้ ทั้งนี้ โปรดศึกษาข้อบทแห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ ที่ประเทศไทยเป็นคู่สัญญากับ 61 เขตเศรษฐกิจต่างประเทศด้วย

 


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 41 วรรคสองและวรรคท้าย ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    ข้อ 3 คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566

  3. ^

    มาตรา 41 วรรคสองและวรรคท้าย ประมวลรัษฎากร, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566

  4. ^

    ข้อ 1 คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566

  5. ^

    คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.162/2566