Contents
ช้อปดีมีคืน
โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
แอป iTAX คำนวณภาษี 2563
ตัวช่วยคำนวณภาษี รองรับค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน โหลดฟรี!
ช้อปดีมีคืน หรือ ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน 2563 หรือที่เรียกว่าเต็มๆ ว่า “ค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ” ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุด ฿30,000 สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ระหว่าง 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 ที่จ่ายให้ผู้ประกอบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบกิจการขาย หนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ภายในประเทศ1
ช้อปดีมีคืน ฿30,000 นี้เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
ผู้ที่จ่ายเงินสำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้ผู้ประกอบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบกิจการขาย หนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ภายในประเทศ ใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน ฿30,000 (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)2 ทั้งนี้ หากซื้อสินค้า/บริการแล้วได้รับส่วนลด ให้ลดหย่อนได้ตามราคาที่จ่ายจริงหลังหักส่วนลดแล้ว
ในกรณีสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีรายได้ ต่างฝ่ายสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ ฿30,000
ทั้งนี้ ถ้ามีค่าซื้อสินค้าหลายรายการ คุณสามารถรวมค่าซื้อสินค้าย่อยๆ ทุกจำนวนมาหักลดหย่อนได้แต่เมื่อรวมแล้วจะนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน ฿30,000
ถ้าค่าซื้อสินค้าแค่รายการเดียวก็เกิน ฿30,000 แล้วจะสามารถนำไปลดหย่อนได้ ฿30,000
เงื่อนไขการรับสิทธิ
คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืนสูงสุด ฿30,000 ได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้
- เป็นการซื้อสินค้าที่เกิดขึ้นระหว่าง 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563
- เป็นสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเป็นสินค้าประเภทหนังสือ (รวมถึง e-book) และ สินค้า OTOP
อนึ่ง แม้เป็นบุคคลต่างชาติ แต่ถ้ามียื่นภาษีในไทยก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนช้อปดีมีคืนได้
สินค้าและบริการที่ลดหย่อนภาษีได้
ดูตัวอย่างรายชื่อสินค้าและบริการที่ลดหย่อนภาษีได้
1. สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
โดยปกติสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีใบกำกับภาษีออกมาพร้อมกันด้วย ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อนช้อปดีมีคืนจะต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ปรากฏชื่อและข้อมูลผู้ซื้อด้วย (ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีอย่างย่อได้)
2. หนังสือ (รวมถึง e-book)
หนังสือ และ e-book ในที่นี้ไม่รวมถึงนิตยสารและหนังสือพิมพ์ โดยผู้ขายต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่านั้น (เจ้าของร้านหนังสือเป็นบุคคลธรรมดาใช้ลดหย่อนไม่ได้)
3. สินค้า OTOP
สินค้า OTOP ที่ลดหย่อนภาษีได้จะต้องเป็นสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว โดยจะเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ แต่ในหลักฐานต้องระบุว่า “สินค้าทุกรายการเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์”
สินค้าและบริการที่ไม่ได้รับสิทธิลดหย่อน
สิทธิลดหย่อน “ช้อปดีมีคืน” นี้ ไม่รวมสินค้าและบริการต่อไปนี้
- ค่าสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่ายาสูบ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการจัดนำเที่ยว
- ค่าที่พักในโรงแรม
- ทองคำแท่ง
- ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าทำศัลยกรรม
- ผักผลไม้สด
- เนื้อสัตว์สด
- ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันรถยนต์
ข้อควรระวัง!
หากคุณใช้สิทธิโครงการ ‘คนละครึ่ง’ จะเสียสิทธิลดหย่อนช้อปดีมีคืน
แต่ถ้าแค่ลงทะเบียน ‘คนละครึ่ง’ ไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ใช้สิทธิซื้อของเพื่อรับเงินคืนตามโครงการ ‘คนละครึ่ง’ เลย คุณยังได้รับสิทธิลดหย่อน ‘ช้อปดีมีคืน’ อยู่
ข้อสังเกตเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ใช้สิทธิลดหย่อนได้
- หากร้านค้านั้นไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) สินค้าและบริการที่ร้านนั้นขายจะไม่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ยกเว้น เป็นการขายหนังสือ, e-book หรือเป็นสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนเท่านั้น
- หากร้านค้านั้นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แม้จะขายในรูปแบบบริการอย่างเดียว หากบริการนั้นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สปา คาราโอเกะ อาบอบนวด ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ค่าซื้อทองรูปพรรณ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะส่วนที่เป็นค่ากำเหน็จหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ตัวทองคำเองไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
- ยารักษาโรค อาหารเสริม ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ค่าบริการทางแพทย์ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม โดยปกติจะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
- ค่าที่พักในโรงแรมไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ค่าอาหารและเครื่องดื่มในโรงแรม (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้
- ค่าซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการ และนำบัตรไปใช้บริการในช่วงวันที่ 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563 หรือ ค่าบริการเช่ารถยนต์ ค่าซ่อมรถ/เปลี่ยนยางรถยนต์ที่รับบริการและแล้วเสร็จในช่วงวันที่ 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ถ้ารับบริการก่อนหรือหลังช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่สามารถลดหย่อนได้
- ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการโทรศัพท์ ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ต้องอยู่ในรอบการให้บริการภายใน 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563 และได้ชำระค่าบริการนั้นภายใน 31 ธ.ค. 2563 (อนึ่ง แม้รอบการให้บริการจะอยู่ภายใน 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563 แต่ถ้าชำระเงินค่าบริการของรอบนั้นหลัง 31 ธ.ค. 2563 จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนได้)
- อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน เช่น iPhone, iPad, MacBook ไม่ว่าจะซื้อราคาเต็ม หรือซื้อจาก Outlet ก็สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้
- สินค้าที่ซื้อจากร้าน Duty Free หากเป็นสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้
- รายการที่ซื้อจะสะสมหลายใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีหลายใบ หรืออยู่ในใบเดียวกันก็ได้ แต่ถ้ายอดซื้อเกิน 30,000 บาท (รวม VAT แล้ว) จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 30,000 บาท
- การซื้อของออนไลน์ เช่น ซื้อผ่าน Shopee, Lazada หรือร้านค้าออนไลน์ต่างๆ จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ ถ้าซื้อจากร้านที่ออกใบกำกับภาษีได้ โปรดตรวจสอบกับผู้ขายให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ
- ในกรณีที่รายการสินค้ามีทั้งเสีย VAT และไม่เสีย VAT อยู่ในใบกำกับภาษีเดียวกัน คุณจะได้สิทธิลดหย่อนเฉพาะสินค้าที่เสีย VAT เท่านั้น เช่น ถ้าซื้อทั้งนมช็อกโกแลต (เสีย VAT) และนมจืด (ไม่เสีย VAT) จะได้สิทธิลดหย่อนเฉพาะนมช็อกโกแลต (เสีย VAT) เท่านั้น
- การซื้อสินค้าและบริการจะจ่ายด้วยเงินสด พร้อมเพย์ บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตก็ได้ขอให้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีลงวันที่ภายใน 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563 และมีรายละเอียดครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
หลักฐานที่ต้องใช้
1. ซื้อสินค้าและบริการทั่วไป ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย
2. ซื้อหนังสือ (รวมถึง e-book) ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Receipt) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย
3. ซื้อสินค้า OTOP ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป/ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice & e-Receipt) ที่ระบุรายการสินค้า OTOP, ข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย
ทั้งนี้ การระบุชื่อที่อยู่ของผู้ซื้อในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ให้ยึดข้อมูลล่าสุดตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ (ทะเบียนบ้าน) แต่ถึงแม้จะระบุชื่อที่อยู่ไม่ถูกต้องก็ยังสามารถใช้หักลดหย่อนได้อยู่ดี หากใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีนั้นมีข้อความอื่นๆ ครบถ้วนถูกต้องแล้ว
ใบเสร็จรับเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ (กรณีซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จด VAT)
หากคุณซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน ใบเสร็จรับเงินต้องมีข้อความครบถ้วนตามนี้
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
- ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย
- เลขลำดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน
- วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
- ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ
- ชนิด ชื่อ จำนวน และราคาสินค้าที่ซื้อ
- จำนวนเงิน
ตัวอย่างใบเสร็จรับเงิน
เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย
- หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน สามารถขอรับเป็นเงินสดคืนได้ที่ร้านค้าเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการขอใช้สิทธิลดหย่อนช้อปปิ้งจะต้องทำโดยการ ยื่นภาษีประจำปี 2563 ให้ กรมสรรพากรในช่วงต้นปี 2564 ได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น
- หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน ฿30,000 คือ เงินคืนภาษีจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม7% (VAT 7% Refund) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน ฿30,000 นี้เป็นสิทธิที่นำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- ถ้าคุณมีรายได้เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน ฿25,833.33 (หรือเงินได้สุทธิทั้งปีไม่เกิน ฿150,000) คุณไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวเพื่อขอใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปก็ได้ เพราะคุณอยู่ในเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ต่อให้ใช้สิทธิลดหย่อนช้อปปิ้งก็ไม่ช่วยให้ประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น
- ถ้ามีคุณมีคู่สมรสที่ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ คุณทั้งคู่ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนช้อปดีมีคืนได้สูงสุดคนละ ฿30,000 (รวม 2 คนได้สิทธิ ฿60,000) ไม่ว่าจะแยกยื่นภาษีหรือยื่นภาษีร่วมกันก็ตาม
- ถ้าในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีเดียวกันมีรายการทั้งสินค้าที่เข้าเกณฑ์และไม่เข้าเกณฑ์ลดหย่อน คุณจะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเฉพาะค่าสินค้าเข้าเกณฑ์ลดหย่อนเท่านั้น
- หากไม่มั่นใจว่าให้ระบุที่อยู่ผู้ซื้อตามบัตรประชาชนหรือที่อยู่ปัจจุบันดี ให้ระบุที่อยู่ของผู้ซื้อในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ให้ยึดตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ (ทะเบียนบ้าน) ล่าสุด แต่ถึงแม้ในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีจะเขียนชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิดหรือมีการแก้ไขสามารถ ก็ยังสามารถใช้หักลดหย่อนได้อยู่ หากใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีนั้นมีข้อความเกี่ยวกับผู้ขาย รายละเอียดสินค้าหรือบริการ และองค์ประกอบอื่นๆ ครบถ้วนแล้ว
- หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อนช้อปปิ้ง ฿30,000 คือ เงินคืนภาษีจากรัฐ ฿30,000 เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวน เงินได้ และ อัตราภาษี ของแต่ละคนด้วย
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี | สิทธิได้เงินคืนภาษีสูงสุด |
---|---|---|
≤฿150,000 | ยกเว้น | ฿0 |
>฿150,000 – ฿300,000 | 5% | ฿1,500 |
>฿300,000 – ฿500,000 | 10% | ฿3,000 |
>฿500,000 – ฿750,000 | 15% | ฿4,500 |
>฿750,000 – ฿1,000,000 | 20% | ฿6,000 |
>฿1,000,000 – ฿2,000,000 | 25% | ฿7,500 |
>฿2,000,000 – ฿5,000,000 | 30% | ฿9,000 |
>฿5,000,000 | 35% | ฿10,500 หรือมากกว่า |
เช็กสิทธิประโยชน์ เงื่อนไขการรับสิทธิ์ช้อปดีมีคืนลดหย่อนภาษีแล้ว อย่าลืมคำนวณเงินที่จะใช้เพื่อการช้อปปิ้งและเงินที่จะได้จากการลดหย่อนภาษีให้ดี หรือหากคุณรู้สึกว่า มาตรการช้อปดีมีคืน ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการลดหย่อนภาษีของคุณ
คุณสามารถค้นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ iTAX shop
แอป iTAX คำนวณภาษี 2563
ตัวช่วยคำนวณภาษีเพื่อเงินคืนภาษีสูงสุด โหลดฟรี!