Contents

ค่าลดหย่อนสงกรานต์ (หมดอายุแล้ว)

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ค่าลดหย่อนกิน-เที่ยวสงกรานต์ ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุด ฿15,000 สำหรับค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร (แต่ไม่รวมสุรา เบียร์ ไวน์) และรวมถึงค่าที่พักโรงแรมและค่าบริการทัวร์ เฉพาะระหว่างวันที่ 9 – 17 เมษายน 25591

ค่าลดหย่อนกิน-เที่ยว ฿15,000 นี้เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ผู้ที่จ่ายเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร (แต่ไม่รวมสุรา เบียร์ ไวน์) และรวมถึงค่าที่พักโรงแรมใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน ฿15,000

เงื่อนไขการรับสิทธิ

คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนค่าลดหย่อนสงกรานต์สูงสุด ฿15,000 ได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้

  • เป็นค่าอาหาร ค่าโรงแรม หรือค่าบริการทัวร์ ที่เกิดขึ้นระหว่าง 9 – 17 เมษายน 2559
  • เป็นอาหาร/บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อยู่แล้ว
  • ซื้อกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
  • ได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป (ไม่สามารถใช้สลิปใบเสร็จ/ใบกำกับภาษีอย่างย่อได้)
  • ไม่เป็นสินค้า/บริการที่ไม่ได้รับสิทธิลดหย่อน

หลักฐานที่ต้องใช้

  • ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ที่ระบุชื่อคุณ วันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย (ส่วนเลขประจำตัวประชาชนไม่จำเป็นต้องระบุก็ได้ถ้าคุณไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)2

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • หลายคนเข้าใจผิดว่าค่าลดหย่อนสงกรานต์สามารถขอรับเป็นเงินสดคืนได้ที่ร้านค้าเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการขอใช้สิทธิลดหย่อนสงกรานต์จะต้องทำโดยการ ยื่นภาษี ของปี 2559 ได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น
  • หลายคนเข้าใจผิดว่าค่าลดหย่อนสงกรานต์ ฿15,000 คือเงินคืนภาษีจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (VAT 7% Refund) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะค่าลดหย่อนสงกรานต์ ฿15,000 นี้เป็นสิทธิที่นำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • ถ้าคุณมีรายได้เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน ฿20,000 (หรือเงินได้สุทธิทั้งปีไม่เกิน ฿150,000) คุณไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวเพื่อขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปก็ได้ เพราะคุณอยู่ในเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ต่อให้ใช้สิทธิลดหย่อนสงกรานต์ก็ไม่ช่วยให้ประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น
  • หลายคนเข้าใจผิดว่าค่าลดหย่อนสงกรานต์ ฿15,000 คือเงินคืนภาษีจากรัฐ ฿15,000 เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินได้ และ อัตราภาษี ของแต่ละคนด้วย
เงินได้สุทธิ อัตราภาษี สิทธิได้เงินคืนภาษีสูงสุด
≤ ฿150,000 ยกเว้น ฿0
> ฿150,000 – ฿300,000 5% ฿750
> ฿300,000 – ฿500,000 10% ฿1,500
> ฿500,000 – ฿750,000 15% ฿2,250
> ฿750,000 – ฿1,000,000 20% ฿3,000
> ฿1,000,000 – ฿2,000,000 25% ฿3,750
> ฿2,000,000 – ฿4,000,000 30% ฿4,500
> ฿4,000,000 35% อย่างน้อย ฿5,250

อ้างอิง

  1. ^

    กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2559)

  2. ^

    ข่าวกรมสรรพากร เลขที่ ปชส. 14/2559 (30 มีนาคม 2559), www.rd.go.th