Contents

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

141,206 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF: Retirement Mutual Fund) ใช้เป็นค่าลดหย่อน ได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 30% ของ “เงินได้ที่ต้องเสียภาษี”1 (ไม่ว่าจะเอามารวมยื่นภาษีด้วยหรือไม่) และไม่เกิน ฿500,000 สำหรับคนที่ซื้อกองทุน RMF ทั้งนี้ ไม่กำหนดจำนวนกองทุนที่ต้องซื้อขั้นต่ำ2

กำไรจากการขายกองทุน RMF จะได้รับยกเว้นภาษีด้วย3

ทั้งเงินค่าซื้อกองทุน RMF และกำไรจากการขายกองทุน RMF เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


วิธีกรอกค่าลดหย่อนกองทุนรวม RMF บนแอป iTAX

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อน RMF สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ค่าซื้อ RMF’
  3. กรอกจำนวนเงินค่าซื้อ RMF ที่จ่ายตลอดทั้งปี
  4. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนค่าซื้อ RMF แล้วให้อัตโนมัติ


เงื่อนไขการได้รับสิทธิ

การซื้อ RMF “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี คุณจะต้องทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้4

  • ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี5 แต่ถ้าอายุครบ 55 ปีแล้วหรือทุพพลภาพ จะซื้อต่อเนื่องทุกปีต่อไปหรือหยุดซื้อปีใดไปเลยก็ได้ ไม่ผิดเงื่อนไข6
  • ในปีที่ซื้อจะต้องซื้อกองทุนรวม RMF กองเดียวหรือหลายกองก็ได้ (จะซื้อกองเดิมเหมือนปีก่อนๆ หรือซื้อต่างกองก็ได้) เช่น ปีนี้ซื้อ RMF ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ แล้วปีต่อไปจะเปลี่ยนไปซื้อ RMF ของ บลจ.กรุงศรี ก็ได้7
  • ถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปี และไม่ขายจนกว่าตัวเองจะอายุครบ 55 ปี, เสียชีวิต หรือทุพพลภาพก่อน8
  • ไม่ได้รับเงินปันผลจากการถือกองทุนรวม RMF9 และไม่กู้ยืมหรือเบิกเงินจากกองทุนรวม RMF ระหว่างที่ถือ10
  • สำหรับปี 2565 เป็นต้นไป ผู้ซื้อต้องแจ้งความประสงค์ต้องการสิทธิลดหย่อนให้ บลจ. ทราบด้วย11 » ตรวจสอบช่องทางแจ้งสิทธิลดหย่อนภาษี RMF

อนึ่ง หากทำผิดเงื่อนไข เช่น ขายก่อนอายุครบ 55 ปี และขายก่อนถือครบ 5 ปี จะต้องคืนสิทธิ์ยกเว้นภาษีที่เคยใช้ลดหย่อน RMF ตั้งแต่ตอนซื้อครั้งแรกพร้อมเงินเพิ่ม และเสียภาษีกำไรที่ได้รับจากการขาย RMF นั้นด้วย

อนึ่ง ในปีที่ไม่มีเงินได้ คุณจะไม่ซื้อ RMF ก็ได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด

วิธีนับระยะเวลา

การนับระยะเวลา 5 ปีของ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” (RMF) จะเป็นการนับระยะเวลาแบบวันชนวัน ปีชนปี เช่น ถ้าซื้อ RMF เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2556 วันที่ครบ 5 ปีคือวันที่ 1 ก.พ. 2561 และจะขายโดยไม่ผิดเงื่อนไข 5 ปีได้ในวันรุ่งขึ้น คือ 2 ก.พ. 2561

ตัวอย่าง

ถ้าคุณซื้อ RMF ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2556 และลงทุนต่อเนื่องมาทุกปี โดยคุณจะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 15 ม.ค. 2561 ในกรณีนี้ คุณจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดได้ถูกต้องตามเงื่อนไขได้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2561 เป็นต้นไป (พ้นกำหนด 55 ปีบริบูรณ์ และถือครบ 5 ปี)

ถ้าคุณซื้อ RMF ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2556 และลงทุนต่อเนื่องมาทุกปี โดยคุณจะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 13 ก.พ. 2561 ในกรณีนี้ คุณจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดได้ถูกต้องตามเงื่อนไขได้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2561 เป็นต้นไป (พ้นกำหนดถือครบ 5 ปี และ 55 ปีบริบูรณ์)

เริ่มนับระยะเวลาเมื่อซื้อ RMF ครั้งแรก

การนับระยะเวลาของ RMF จะเริ่มตั้งแต่วันที่เริ่มซื้อหน่วยลงทุนวันแรกครบเป็นสำคัญ ดังนั้น แม้ว่าจะซื้อ RMF เพิ่มเติมหลังจากนั้น ก็ไม่มีผลให้กองทุน RMF ที่ซื้อมาทีหลังมีปัญหาแต่อย่างใด เช่น ซื้อ RMF กองแรกเมื่อปี 2556 แล้วซื้อต่อเนื่องมาทุกปีตั้งแต่ 2557, 2558, 2559, 2560 และ 2561 เมื่อพ้นกำหนดแล้วคุณสามารถขาย RMF ทุกกองที่ซื้อมาตั้งแต่ 2556-2561 ได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีจากกำไร เพราะกฎหมายมองว่า RMF ทั้งชุดนี้ถือต่อเนื่องมาครบ 5 ปีแล้ว

ข้อยกเว้นกรณีโอนสลับกองทุนไปถือ RMF กองใหม่

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ถือ RMF อยู่นั้น กฎหมายเปิดช่องให้คุณสามารถสลับไปถือ RMF กองอื่นแทนกองที่ถืออยู่เดิมได้ (ศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า ‘Switch’ หรือ ‘Swap’) เพื่อเปลี่ยนไปถือ RMF กองที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีกว่าได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขการนับระยะเวลาและไม่ถือว่าเป็นการขายก่อนเวลาแต่อย่างใด12

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ค่าลดหย่อน

คนที่ซื้อกองทุน RMF สามารถนำเงินนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ไม่เกินจำนวนที่น้อยกว่าระหว่าง 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปี หรือ ฿500,000 ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่าก็ให้หักลดหย่อนตามนั้น

แต่ค่าลดหย่อนที่ได้รับสิทธิจากการซื้อกองทุน RMF นี้เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ , กบข. หรือ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน แล้วจะต้องไม่เกิน ฿500,000 ด้วย

เช่น ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน ฿1,000,000 แล้วซื้อกองทุน RMF ไป ฿400,000 จะหักได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน ฿300,000 เท่านั้น (30% x ฿1,000,000)

แต่ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน ฿4,000,000 และจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วปีละ ฿400,000 แล้วซื้อกองทุน RMF ไป ฿200,000

แม้ว่าจะซื้อกองทุน RMF ไว้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่เนื่องจากคุณจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปแล้วถึง ฿400,000 ทำให้คุณมีสิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อกองทุน RMF ตามจริงได้อีกไม่เกิน ฿100,000 เท่านั้น เพราะติดเพดานหักลดหย่อนสูงสุด ฿500,000 ไปแล้ว

แต่ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน ฿1,000,000 และเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีอีก ฿500,000 แล้วซื้อกองทุน RMF ไป ฿400,000 ก็ยังคงหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน ฿300,000 อยู่ดี เพราะกฎหมายให้ใช้เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเท่านั้นเป็นฐานสำหรับคำนวณสิทธิประโยชน์ (30% x ฿1,000,000)

เงินได้ที่ต้องเสียภาษีนี้ กรมสรรพากร เปิดโอกาสให้รวมทั้งที่ยื่นเสียภาษีตามปกติและเลือกไม่ยื่นภาษีด้วย เช่น มีรายได้จากเงินเดือน ฿1,000,000 และเงินได้จากดอกเบี้ย ฿1,000,000 (ที่ปล่อยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว)

กรณีนี้ เงินได้ที่ต้องเสียภาษีคือ ฿2,000,000 (เงินเดือนที่ต้องยื่นภาษีตามปกติ ฿1,000,000 + ดอกเบี้ยที่เลือกไม่ยื่นภาษีก็ได้ ฿1,000,000) ซึ่งจะใช้เป็นฐานสำหรับคำนวณสิทธิประโยชน์ต่อไป13)

กำไรได้รับยกเว้นภาษี

กำไรจากการขายกองทุน RMF ที่ถือไว้จนครบเงื่อนไขจะได้รับยกเว้นภาษี

แต่ถ้าทำผิดเงื่อนไข เช่น ขายก่อนจะถืออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และขายก่อนถือครบ 5 ปี กำไรจากการขายกองทุน RMF จะต้องเอาไปเสียภาษีด้วยในฐานะเงินได้ประเภทที่ 814

อย่างไรก็ดี ถ้าถือกองทุน RMF จนครบ 5 ปีแล้ว แม้จะขายก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ กำไรจากการขายกองทุน RMF ดังกล่าวก็ยังได้รับยกเว้นภาษีอยู่ แต่ยังคงต้องคืนสิทธิ์ยกเว้นภาษีที่เคยใช้ลดหย่อน RMF ตั้งแต่ตอนซื้อครั้งแรกพร้อมเงินเพิ่ม

อนึ่ง การนับปีของกองทุน RMF จะนับครบปีเมื่อครบวันที่ซื้อจริงในปีถัดไป ไม่ได้ใช้การนับปีแบบปีปฏิทิน

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • การคำนวณเพดานสิทธิ์ลดหย่อน RMF และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

หลายคนเข้าใจผิดว่าการคำนวณเพดานสิทธิ์ลดหย่อนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ RMF เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เช่น ถ้ามีเงินได้ ฿1,000,000 และเพดานสิทธิ์ 30% ของเงินได้แปลว่า สิทธิลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ RMF รวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน ฿300,000 ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

เพราะที่ถูกต้องคือกฎหมายให้คำนวณเพียงว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องไม่เกิน 15% ของเงินเดือนและ RMF ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี โดยทั้ง 2 รายการรวมกันแล้วต้องไม่เกิน ฿500,000 ไม่ใช่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแบบที่เข้าใจผิดกันแต่อย่างใด

  • ซื้อ RMF แล้วไม่ใช้สิทธิ์ลดหย่อน ตอนขายไม่มีผลกับภาษี?

หลายคนเข้าใจผิดว่าถ้าซื้อ RMF แล้วถือไว้โดยไม่ใช่สิทธิ์ลดหย่อนเลย ตอนขายก็ไม่น่าจะมีผลทางภาษีอะไร เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะแม้คุณจะไม่ได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเลย แต่ตอนขายหากมีกำไรก็ต้องเสียภาษีจากกำไรอยู่ดี ดังนั้น หากเลี่ยงไปซื้อกองทุนรวมทั่วไปเลยจะเหมาะสมกว่าเพราะไม่ต้องเสียภาษีจากกำไรเมื่อขายอย่างแน่นอน

  • ซื้อ RMF กับ บลจ. ไหนแล้ว ต้องซื้อที่เดิมตลอดไปทุกปี ไม่งั้นผิดเงื่อนไข?

หลายคนเข้าใจผิดว่าถ้าซื้อ RMF แล้วต้องซื้อที่เดิมกองเดิมอีกทุกปี เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมายเงื่อนไขเพียงให้ซื้อ RMF ต่อเนื่องทุกปี (หรือปีเว้นปี) เท่านั้น แต่ไม่ได้บังคับไปถึงว่าต้องซื้อกองเดิม หรือ บลจ. เดิมด้วย ดังนั้น ในปีต่อไปคุณจะซื้อ RMF กองใหม่ หรือกองเดิม ซื้อจาก บลจ. ใหม่ หรือ บลจ. เดิม ย่อมเป็นสิทธิของคุณที่สามารถเลือกได้อย่างอิสระ หากต้องการเปิดบัญชีซื้อกองทุน RMF ได้หลาย บลจ. เพื่อโอกาสการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากขึ้น สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาฟรีได้ที่ iTAX invest

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


ให้ iTAX วางแผนภาษีด้วย RMF เพื่อเงินคืนภาษีสูงสุด!

นอกจากบริการคำนวณภาษีและวางแผนภาษีกับ แอป iTAX คุณยังสามารถเปิดบัญชีซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้ที่ iTAX invest เรามีครบทั้ง RMF, LTF, และกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี ที่จะช่วยให้คุณสามารถค้นหารูปแบบการลงทุนที่คุณต้องการ พร้อมที่ปรึกษากองทุนมืออาชีพที่จะช่วยให้การลงทุนของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น


อ้างอิง

  1. ^

    ข้อ 5 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401)

  2. ^

    ข้อ 2(55) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  3. ^

    ข้อ 2(56) และ (65) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  4. ^

    ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401)

  5. ^

    ข้อ 2 (1) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401)

  6. ^

    ข้อ 4 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401)

  7. ^

    ข้อ 3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401)

  8. ^

    ข้อ 2 (2) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401)

  9. ^

    ข้อ 2 (3) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401)

  10. ^

    ข้อ 2 (4) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401)

  11. ^

    ข้อ 8 (1) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401)

  12. ^

    ข้อ 6 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
    เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) 

  13. ^

    คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF), 11 ม.ค. 2559

  14. ^

    ข้อ 2(55) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)