Contents

กองทุนรวมเพื่อการออม (กองทุน SSF)

88,087 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) ใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 30% ของ “เงินได้ที่ต้องเสียภาษี”1 (ไม่ว่าจะเอามารวมยื่นภาษีด้วยหรือไม่) และไม่เกิน ฿200,000 โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องถือ ครบ 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 25672

กองทุน SSF เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นอกจากนี้ ยังมี SSF แบบพิเศษ เรียกว่า Super Savings Fund Extra หรือ SSFX คือ กองทุน SSF ที่มีนโยบายการลงทุนอย่างน้อย 65% ในหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ค่าซื้อที่เกิดขึ้นระหว่าง 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2563 จะสามารถนำไปเป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน ฿200,000 (ไม่กำหนดเรื่อง 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี) โดยเพดานสิทธิ SSFX นี้จะแยกต่างหากจากการใช้สิทธิลดหย่อน SSF ปกติ อ่านรายละเอียด SSFX


วิธีกรอกค่าลดหย่อนกองทุนรวม SSF บนแอป iTAX

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อน SSF สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ค่าซื้อ SSF’
  3. กรอกจำนวนเงินค่าซื้อ SSF ที่จ่ายตลอดทั้งปี
  4. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนค่าซื้อ SSF แล้วให้อัตโนมัติ


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ค่าลดหย่อน

คนที่ซื้อ กองทุน SSF สามารถนำเงินนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ไม่เกินจำนวนที่น้อยกว่าระหว่าง 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปี หรือ ฿200,000 ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่าก็ให้หักลดหย่อนตามนั้น

แต่ค่าลดหย่อนที่ได้รับสิทธิจากการซื้อกองทุน SSF นี้เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกบข. หรือ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน รวมถึง กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ และ กองทุนการออมแห่งชาติ แล้วจะต้องไม่เกิน ฿500,000 ด้วย

เช่น ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน ฿1,000,000 แล้วซื้อกองทุน SSF ไป ฿400,000 จะหักได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน ฿200,000 เท่านั้น

แต่ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน ฿4,000,000 และจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วปีละ ฿400,000 แล้วซื้อกองทุน SSF ไป ฿200,000 แม้ว่าจะซื้อกองทุน SSF ไว้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่เนื่องจากคุณจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปแล้วถึง ฿400,000 ทำให้คุณมีสิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อกองทุน SSF ตามจริงได้อีกไม่เกิน ฿100,000 เท่านั้น เพราะติดเพดานหักลดหย่อนสูงสุด ฿500,000 ไปแล้ว

แต่ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน ฿500,000 และเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีอีก ฿300,000 แล้วซื้อกองทุน SSF ไป ฿400,000 จะหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน ฿150,000 เท่านั้น (30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ฿500,000) เพราะกฎหมายให้ใช้เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเท่านั้นเป็นฐานสำหรับคำนวณสิทธิประโยชน์ ไม่สามารถนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีอีก ฿300,000 มาใช้เป็นฐานคำนวณสิทธิเพิ่มได้


กำไรได้รับยกเว้นภาษี

กำไรจากการขายกองทุน SSF ที่ถือไว้จนครบเงื่อนไขจะได้รับยกเว้นภาษี

แต่ถ้าทำผิดเงื่อนไข เช่น ขายก่อนถือครบ 10 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน กำไรจากการขายกองทุน SSF จะต้องเอาไปเสียภาษีด้วยในฐานะ เงินได้ประเภทที่ 43

อนึ่ง การนับปีของกองทุน SSF จะนับครบปีเมื่อครบวันที่ซื้อจริงในปีถัดไป


เงื่อนไขการได้รับสิทธิ

การซื้อกองทุน SSF เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จะต้องถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 10 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน และไม่ขายจนกว่าตัวเองจะถือจนครบ 10 ปี หรือเสียชีวิต หรือทุพพลภาพก่อน

อนึ่ง หากทำผิดเงื่อนไข เช่น ขายก่อนถือครบ 10 ปี จะต้องคืนสิทธิ์ยกเว้นภาษีที่เคยใช้ลดหย่อน SSF ตั้งแต่ตอนซื้อครั้งแรกพร้อม เงินเพิ่ม และเสียภาษีกำไรที่ได้รับจากการขาย SSF นั้นด้วย

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ผู้เสียภาษีต้องแจ้งความประสงค์ต้องการใช้สิทธิลดหย่อน SSF ให้ บลจ. ทราบด้วย 4 » ตรวจสอบช่องทางแจ้งสิทธิลดหย่อนภาษี SSF

วิธีนับระยะเวลา

การนับระยะเวลา 10 ปีของ SSF จะเป็นการนับระยะเวลาแบบวันชนวัน ปีชนปี เช่น ถ้าซื้อ SSF เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2563 วันที่ครบ 10 ปีคือวันที่ 1 ก.พ. 2573 และจะขายโดยไม่ผิดเงื่อนไข 10 ปีได้ในวันรุ่งขึ้น คือ 2 ก.พ. 2573

ทั้งนี้ การนับระยะเวลา 10 ปีจะนับแยกเป็นกองที่ซื้อแต่ละปี

ข้อยกเว้นกรณีโอนสลับกองทุนไปถือ SSF กองใหม่

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ถือ SSF อยู่นั้น กฎหมายเปิดช่องให้คุณสามารถสลับไปถือ SSF กองอื่นแทนกองที่ถืออยู่เดิมได้ (ศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า ‘Switch’ หรือ ‘Swap’) เพื่อเปลี่ยนไปถือ SSF กองที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีกว่าได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขการนับระยะเวลาและไม่ถือว่าเป็นการขายก่อนเวลาแต่อย่างใด5


อ้างอิง

  1. ^

    ข้อ 3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 369)

  2. ^

    ข้อ 2 (102) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  3. ^

    ข้อ 2 (102) วรรคสี่ กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  4. ^

    ข้อ 5 (1) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 369) แก้ไขเพิ่มเติมตาม ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 415) 

  5. ^

    ข้อ 6 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 369)