ไรเดอร์ Grab LINEMAN Robinhood ยื่นภาษี อย่างไร?

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

11,194 VIEWS

กรมสรรพากรเผยแพร่ เอกสารแนะนำ ภาษีไรเดอร์ เพื่อให้ผู้เสียภาษีที่ประกอบอาชีพ ไรเดอร์ สามารถ ยื่นภาษี ได้อย่างถูกต้องและรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ภาษีน่ารู้ของ Rider เมื่อทุกอาชีพมีหน้าที่เสียภาษีเหมือนกัน

วิกฤต COVID-19 ทำให้หลายคนต้อง work from home และต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันใหม่ และเริ่มหันมาใช้บริการเดลิเวอรี่กันมากขึ้น

Rider หรือคนส่งอาหารเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่แบรนด์ต่างๆ ซึ่งโดยปกติ Rider คือการรับทํางานให้เป็นเงินได้ตามสัญญาจ้างทําของ ประเภทหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยบุคคลสองฝ่ายคือ “ผู้ว่าจ้าง และ ผู้รับจ้าง” โดยผู้ว่าจ้างสัญญาว่าจะจ่าย “สินจ้าง” ให้ตามส่วนของงานที่ทำเสร็จ โดยคำนึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก และผู้รับจ้าง สัญญาว่าจะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา จากการรับทำงานให้นั้นต้องอาศัยแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญ มิได้มีการจัดหาสัมภาระ และมีค่าใช้จ่ายจำนวนน้อยถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

Rider ได้รับค่าตอบแทนหลายแบบ เช่น ค่าบริการส่งอาหาร ค่าส่งเพิ่มตามระยะทาง โบนัสพิเศษ ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์ม ให้ค่าตอบแทนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ โดยปกติค่าตอบแทนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งสามารถยื่นขอคืนภาษี ณ ที่จ่ายได้ในการยื่นภาษีประจำปี

ไรเดอร์ ยื่นภาษี อย่างไร?

Rider จะต้องขอหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ จากนายจ้างด้วยเพื่อนำมาเป็นหลักฐานในการยื่นแบบฯ และขอคืนภาษี

กำหนดการยื่นภาษีประจำปี

  • ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 กำหนดยื่นแบบ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี

รายได้ที่ต้องนำมายื่นภาษี

  • รายได้จากการทำงานเป็น Rider ซึ่งโดยปกติจะเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นรายได้จากการรับทํางานให้ ค่าจ้าง ค่าคอมมิชชั่น ค่าตอบแทน รับจ้างอิสระ ของพนักงานส่งอาหาร (Rider) โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายให้เหมา 50% ไม่เกิน 100,000 บาท

ข้อยกเว้นไม่ต้องยื่นภาษี

  • หาก Rider มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำคือ 60,000 บาทต่อปี และไม่ต้องการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย สามารถเลือกไม่ยื่นภาษีก็ได้ แต่จะต้องเสียสิทธิ์รับเงินคืนภาษีของตัวเองไปด้วย

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ขอได้ที่ไหน?

 

ใบ 50 ทวิ

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือที่มักเรียกกันว่า ใบ 50 ทวิ เป็นหลักฐานที่ผู้มีเงินได้จะได้รับเพื่อแสดงว่าผู้รับเงินได้ถูก หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะได้รับใบ 50 ทวิ จำนวน 2 ใบที่มีข้อความตรงกันไว้เป็นหลักฐานสำหรับการยื่นภาษีในปีภาษีที่ได้รับ เงินได้ ก้อนนั้นๆ ต่อไป โดยผู้จ่ายเงินเป็นผู้มีหน้าที่ออกหลักฐานดังกล่าวให้แก่ผู้รับเงิน

ดังนั้น Rider จึงสามารถขอได้จาก Grab, LINEMAN, Robinhood, Food Panda, Shopee Food เป็นต้น

การนำไปใช้งาน

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) เป็นเอกสารสำคัญที่คนมีรายได้ทุกคนจะต้องใช้เพื่อยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลประจำปี (ภ.ง.ด. 91/90) เมื่อคุณได้รับใบรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) จากที่ทำงาน ก็ให้นำข้อมูลในเอกสารดังกล่าวมาใช้ใน คำนวณภาษี และกรอกยื่นแบบภาษีต่อไป

การจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) สามารถอยู่ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (เช่น PDF) ส่งให้ผู้รับได้ หรือจะให้ผู้รับเข้าไปโหลดในช่องทางออนไลน์ที่ผู้จ่ายเงินกำหนดก็ได้ แต่ไฟล์เอกสารดังกล่าวต้องมีข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง สร้างและเก็บรักษาด้วยมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เชื่อถือได้ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)