โหลดแอป ThaID ยืนยันตัวตน ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ

ทั่วไป

โหลดแอป ThaID ยืนยันตัวตนผ่านระบบ Digital ID ของกรมการปกครอง ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ โหลดได้ทั้งใน Google Play Store และ Apple App Store

แอป ThaID บัตรประชาชนดิจิทัล ระบบ Digital ID ของกรมการปกครอง รวมถึงใช้ยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ โหลดได้ทั้งบน Play Store / App Store ลงทะเบียนบัตรประชาชนดิจิทัล ผ่าน ThaID ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) เพื่อสร้างระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศรองรับการใช้งานบริการภาครัฐ ไม่ต้องไปแจ้งเขต-อำเภอ

ช่องทางโหลดแอป ThaID ยืนยันตัวตน ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ

ขั้นตอนการพิสูจน์และยืนยันตัวผ่านแอป ThaID

  1. โหลดแอป ThaIDA
  2. เลือกหัวข้อลงทะเบียนด้วยตนเอง
  3. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียนสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล
  4. ถ่ายรูปหน้าบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเสร็จแล้วให้ตรวจสอบความชัดเจนและกดปุ่มยืนยันหรือถ่ายใหม่
  5. ถ่ายรูปหลังบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเสร็จแล้วให้ตรวจสอบความชัดเจนและกดปุ่มยืนยันหรือถ่ายใหม่
  6. ตรวจสอบข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน หากถูกต้องให้กดยืนยัน
  7. ถ่ายรูปภาพใบหน้าตนเอง
  8. ตั้งค่ารหัสผ่านเหมือนกัน 2 ครั้งโดยต้องไม่เรียงกัน และไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว เช่น 1234, 1111
  9. ระบบแจ้งเตือนขอความยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชันครั้งแรก
  10. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงรูปบัตรประจำตัวประชาชน

ขั้นตอนการ ลงทะเบียนยืนยันตัวตน ผ่านเจ้าหน้าที่

ในกรณีไม่สะดวกลงทะเบียนยืนยันตัวตน ผ่านแอปด้วยตัวเอง คุณสามารถเลือก ‘ลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่’ ตามขั้นตอน ดังนี้

  1. โหลดแอป ThaID
  2. เลือกหัวข้อลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่
  3. นำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียน
  4. เปิดแอปพลิเคชัน ThaID พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของเครื่องโทรศัพท์มือถือ
  5. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียนสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล
  6. ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้ถูกต้อง
  7. แสกนลายพิมพ์นิ้วชี้กับเจ้าหน้าที่
  8. แสกน QR code บนหน้าจอของเจ้าหน้าที่ ด้วยแอพพลิเคชั่น ThaID
  9. ตั้งค่ารหัสผ่านเหมือนกัน 2 ครั้งโดยต้องไม่เรียงกัน และไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว เช่น 1234, 1111
  10. ระบบแจ้งเตือนขอความยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชันครั้งแรก
  11. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงรูปบัตรประจำตัวประชาชน

หมายเหตุ: กรณีลืมรหัสผ่าน สามารถรีเซ็ตรหัสผ่านได้ โดยการถ่ายรูปภาพใบหน้าตนเองเพื่อขอสร้างรหัสผ่านใหม่

ขั้นตอนการลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ

ประชาชนที่มีความประสงค์ต้องการลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ สามารถดำเนินการผ่านแอป ThaID โดยทำตามขั้นตอนดังนี้

  1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ThaID ติดตั้งบนสมาร์ทโฟน
  2. ไปที่เว็บไซต์ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ https://debt.dopa.go.th
  3. ใช้แอปพลิเคชั่น ThaID สแกน QR Code เพื่อยืนยันตัวตนตามขั้นตอน
  4. เมื่อยืนยันตัวตนแล้วให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลตามแบบฟอร์มการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
  5. กระทรวงมหาดไทยจะประสานงานท่านเพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้สินในลำดับถัดไป โดยสามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนได้ที่เมนู ตรวจสอบสถานะการลงทะเบียน
  6. กรณีไม่สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ให้ติดต่อที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตเพื่อให้เจ้าหน้าดำเนินการลงทะเบียนให้ได้

วันเวลาที่เปิดให้ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ

  • ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ระหว่างเวลา 06.00 น. – 23.00 น.

เช็คสถานะ ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ผ่านเว็บไซต์กรมการปกครอง

  • ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่เมนูตรวจสอบสถานะผ่านทางเว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th

ช่องทางการติดต่อ

  • สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โทร. 02-356-9556

วาระแห่งชาติ “แก้หนี้นอกระบบ” ห้ามเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี จ่ายเกินไปแล้วให้จบกันไป

28 พฤศจิกายน 2566 – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตั้งโต๊ะแถลงเรื่องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเปิดเผยว่า ตนได้ตั้งเรื่องแก้หนี้นอกระบบให้เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ จะร่วมมือกับฝ่ายการปกครอง ตำรวจ เพื่อทำงานร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนในระดับชุมชน จากนั้น จะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ให้กลับไปก่อหนี้สินเพิ่มเติมอีก

สำหรับกลไกทางปกครองและอำนาจตามกฎหมายในการช่วยไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาท หากกรณีใดอยู่นอกเหนืออำนาจฝ่ายปกครอง ก็จะรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อรัฐบาลเข้าไปเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย จะต้องมีการคิดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี อย่างไรก็ตาม หากลูกหนี้รายใดจ่ายเกินยอดหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไปแล้วให้ถือว่าเป็นอันจบกัน

“หนี้นอกระบบเป็น Modern slavery เป็นการค้าทาสในยุคใหม่ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝันไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้ โดยปัญหานี้เรื้อรังและใหญ่เกินกว่าจะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง จึงจำเป็นต้องประสานเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ระหว่างเจ้าหนี้ลูกหนี้ ไปจนถึงการทำสัญญาที่เคยไม่เป็นธรรมให้เป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมายมากขึ้น ไปจนถึงการการทวงหนี้โหด”

คาดมูลค่าหนี้นอกระบบสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท มอบ ก.คลัง ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยประชาชนใช้หนี้อย่างมีศักดิ์ศรี

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลัง เช่น ระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี และตรงกับความสามารถของลูกหนี้ ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นจะทำให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงระบบสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้น

“มูลค่าหนี้นอกระบบที่มีอยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าจะมีมากกว่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลกระทบกับทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจประชาชนส่วนใหญ่ต้องเจอกับความเปราะบางของหนี้สินที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด จนไม่สามารถทำตาม passion ปิดโอกาส ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปทุกภาคส่วน”

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังพร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านสินเชื่อธนาคารของรัฐ หลังผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เช่น 

  • ธนาคารออมสิน มีโครงการสินเชื่อให้กู้ รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เป็นเวลา 2 ปี หรือสินเชื่อเพื่ออาชีพอิสระ ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 8 ปี โดยคิดดอกเบี้ยตามความสามารถของลูกหนี้
  • ธ.ก.ส. มีวงเงินสำหรับเกษตรกร 2.5 ล้านบาทต่อรายสำหรับกลุ่มที่นำที่ทำกินไปขายฝาก

ด้านผู้ประกอบการปล่อยเงินกู้ หากต้องการทำให้ถูกกฎหมาย แนะนำให้เข้าโครงการพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งมีกำหนดทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยมีหลักการคือไม่ให้มีการฝากเงิน แต่ให้ปล่อยกู้รายย่อยได้เท่านั้น

‘มหาดไทย’ เปิดระบบลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ เริ่ม 1 ธันวาคม 2566

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยเปิดระบบลงทะเบียนให้ลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบได้ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 66 เป็นต้นไป โดยจะทำควบคู่กับการเปิดให้ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือแก้หนี้นอกระบบที่ ‘ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ’ ทั่วประเทศ

พร้อมกันนี้ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ทุกจังหวัด อำเภอ และสำนักงานเขต ดำเนินการตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ” ประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือ หรือให้ทางราชการแก้ไขปัญหา และให้รายงานผลการลงทะเบียนของลูกหนี้นอกระบบที่ขอรับความช่วยเหลือให้กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ทราบ ตามแบบฟอร์มการรายงานผลการลงทะเบียนของลูกหนี้นอกระบบเป็นประจำทุกเดือน

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถลงทะเบียนด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th หากไม่สามารถดำเนินการได้เองทางระบบออนไลน์ดังกล่าว ก็สามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเองได้เช่นกัน ในกรณีอยู่ในพื้นที่อำเภอให้ลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ และหากอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ลงทะเบียนที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)