โครงสร้างราคาน้ำมัน มีภาษีอะไรบ้าง? ทำไมน้ำมันแพง?

ภาษี

7,815 VIEWS

โครงสร้างราคาน้ำมัน ประกอบด้วย ราคาหน้าโรงกลั่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และค่าการตลาด

โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง มีภาษีอะไรบ้าง? ประชาชนอาจสงสัยว่า “ทำไมน้ำมันแพง” ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล ที่ขายในราคาปลีกหน้าปั๊มประกอบด้วยภาษีและต้นทุนต่างๆ หลายรายการ ดังนี้

โครงสร้างราคาน้ำมัน ของประเทศไทยประกอบด้วยต้นทุนอะไรบ้าง?

  • ราคาหน้าโรงกลั่น – ประเทศไทยอ้างอิงจากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นของตลาดสิงคโปร์ ซึ่งมาจากต้นทุนน้ำมันดิบ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของโรงกลั่น
  • ภาษีสรรพสามิต – เป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงโดยกรมสรรพสามิต โดยอัตราภาษีจะเป็นไปตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันแต่ละชนิด
  • ภาษีบำรุงเทศบาล – เป็นภาษีที่ต้องจ่ายให้หน่วยงานท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร เทศบาล ตามที่หน่วยงานท้องถิ่นนั้นประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 ซึ่งโดยปกติจะคิดในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต
  • กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง – มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น น้ำมันบางชนิดอาจถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราสูง ในขณะที่น้ำมันบางชนิดนอกจากจะไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ แล้ว ยังอาจได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ ด้วย
  • กองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน – มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งโดยปกติจะจัดเก็บในอัตราลิตรละ 0.0050 บาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) – เป็นภาษีการบริโภคที่จัดเก็บเมื่อมีการขายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยกรมสรรพากร ซึ่งในโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีการเรียกเก็บ VAT 7% จากราคาขายส่งครั้งแรกและเรียกเก็บ VAT เพิ่มเติมอีกครั้งตอนขายปลีกจากโดยจะคำนวณ VAT 7% จากค่าการตลาด
  • ค่าการตลาด – กำไรของผู้ประกอบการธุรกิจค้าน้ำมัน

ตัวอย่างการคำนวณ โครงสร้างราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ โครงสร้างราคาน้ำมันอาจเปลี่ยนแปลงได้เป็นรายวันเนื่องจากปัจจัยต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
  • การปรับอัตรากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
  • การอุดหนุนชดเชยโดยภาครัฐ
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่สามารถเปลี่ยนแปลงตามราคาขายส่ง-ปลีก เป็นต้น

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จะเผยแพร่โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงรายวัน ซึ่งจัดทำขึ้นเผยแพร่ให้สาธารณะใช้เพื่อการอ้างอิง โดยสามารถยกตัวอย่างโครงสร้างราคาน้ำมันจนเป็นราคาขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันได้ดังนี้

ตัวอย่างวิธีคำนวณราคาขายปลีก: ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ขายปลีก 41.28 บาท/ลิตร (8 กรกฎาคม 2565)

ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ขายปลีก 41.28 บาทต่อลิตร ประกอบด้วยต้นทุนดังต่อไปนี้

  1. ราคาหน้าโรงกลั่น 27.1242 บาท
  2. ภาษีสรรพสามิต 5.8500 บาท
  3. ภาษีบำรุงเทศบาล 0.5850 บาท
  4. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 0.0900 บาท
  5. กองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.0050 บาท
  6. ภาษี VAT ขายส่ง 2.3558 บาท
  7. ค่าการตลาด 4.9253 บาท
  8. ภาษี VAT ขายปลีก 0.3448 บาท

ข้อสังเกต

  • ต้นทุนจาก 1 – 5 รวมแล้วจะคำนวณเป็นราคาขายส่ง 33.6542 บาท ซึ่งจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากราคาขายส่ง คำนวณได้ 2.3558 บาท ดังนั้น ราคาขายส่งแบบรวม VAT แล้ว กลายเป็น 36.0100 บาท
  • ค่าการตลาด 4.9253 บาท เป็นฐานสำหรับคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตอนขายปลีก ซึ่งจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากค่าการตลาด คำนวณได้ 0.3448 บาท ซึ่งทั้งค่าการตลาดและภาษี VAT ขายปลีก จะนำไปรวมกับราคาขายส่งแบบรวม VAT แล้ว กลายเป็น ราคาขายปลีก 41.28 บาทต่อลิตร

ตัวอย่างวิธีคำนวณราคาขายปลีกแบบได้รับการอุดหนุนราคาน้ำมัน: ราคาน้ำมันดีเซล ขายปลีก 34.94 บาท/ลิตร (8 กรกฎาคม 2565)

ราคาน้ำมันดีเซล ขายปลีก 34.94 บาทต่อลิตร ประกอบด้วยต้นทุนดังต่อไปนี้

  1. ราคาหน้าโรงกลั่น 32.8258 บาท
  2. ภาษีสรรพสามิต 1.3400 บาท
  3. ภาษีบำรุงเทศบาล 0.1340 บาท
  4. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง -5.5600 บาท (ได้รับการชดเชยราคาน้ำมัน)
  5. กองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.0050 บาท
  6. ภาษี VAT ขายส่ง 2.0121 บาท
  7. ค่าการตลาด 3.9094 บาท
  8. ภาษี VAT ขายปลีก 0.2737 บาท

ข้อสังเกต

  • ต้นทุนจาก 1 – 5 รวมแล้วจะคำนวณเป็นราคาขายส่ง 28.7448 บาท ซึ่งจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากราคาขายส่ง คำนวณได้ 2.0121 ดังนั้น ราคาขายส่งแบบรวม VAT แล้ว กลายเป็น 30.7570 บาท
  • ค่าการตลาด 3.9094 บาท เป็นฐานสำหรับคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตอนขายปลีก ซึ่งจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากค่าการตลาด คำนวณได้ 0.2737 บาท ซึ่งทั้งค่าการตลาดและภาษี VAT ขายปลีก จะนำไปรวมกับราคาขายส่งแบบรวม VAT แล้ว กลายเป็น ราคาขายปลีก 34.94 บาทต่อลิตร
  • แม้ว่าต้นทุนน้ำมันดิบของน้ำมันดีเซลแพงกว่าน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ แต่เนื่องจากได้รับการชดเชยราคาน้ำมัน ประกอบกับมีค่าการตลาดที่ต่ำกว่า ทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลถูกกว่าน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)