“ภาษีลาภลอย” คืออะไร? “คลัง” พิจารณาแนวทางจัดเก็บอีกครั้ง

ข่าวภาษี

2,703 VIEWS

กระทรวงการคลัง กำลังศึกษาแนวคิดจัดเก็บ “ภาษีลาภลอย” หรือ Windfall Tax โดยคิดจากมูลค่าที่ดินที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามแนวก่อสร้างโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานของรัฐในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร

20 มิถุนายน 2565 – นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษาและพิจารณาการนำแนวคิด ภาษีลาภลอย (Windfall Tax) ในจัดเก็บในประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากเคยได้มีการยกร่างขึ้นแล้วในอดีตซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการสานต่อ

โดยขณะนี้กระทรวงการคลังได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาและพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพื่อนำกลับมาผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป

“ภาษีลาภลอย” คืออะไร? ใครเสียภาษีลาภลอย?

การจัดเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Tax) เกิดจากแนวคิดว่าการพัฒนาโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานของรัฐ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ทางด่วน สนามบิน เป็นต้น ทำให้ที่ดินถูกตัดผ่านหรือที่ดินบริเวณใกล้เคียงมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นการได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนของรัฐรูปแบบหนึ่ง แต่รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ภาษีลาภลอยจึงเกิดขึ้นเพื่อจัดเก็บภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อเป็นแบ่งผลประโยชน์ส่วนหนึ่งให้รัฐ รวมถึงสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ดังกล่าวด้วย

“เป็นเพียงแนวคิดที่จะนำภาษีลาภลอย มาศึกษาใหม่ เพื่อให้รัฐมีรายได้เพิ่ม แต่การประกาศใช้นั้น ต้องพิจารณาความเหมาะสมและเวลาที่เหมาะสมด้วย ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนด้วย” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว

แนวทางจัดเก็บ “ภาษีลาภลอย” ในไทย

เมื่อปี พ.ศ. 2561 กระทรวงการคลังได้เปิดเผยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ โดยนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

โดยกระทรวงการคลังมองว่ารัฐบาลได้ดำเนินการลงทุนจัดทำโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐจำนวนมาก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่ง มวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว

ดังนั้น เมื่อโครงการพัฒนาโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานเหล่านี้เริ่มดำเนินการจนแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ที่ดินและห้องชุดบริเวณรอบโครงการฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ดังกล่าว จึงเห็นควรให้มีการจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดิน หรือห้องชุดที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดอันเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการฯ และนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย ฉบับปี 2561

1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษี

  1. บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และ
  2. ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่ายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

2. โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี

โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่นๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

3. การจัดเก็บภาษี

แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

  1. ในระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการฯ จะจัดเก็บภาษีจากการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดซึ่งตั้งอยู่รอบพื้นที่โครงการฯ ในรัศมีที่กำหนด
  2. เมื่อการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จจะจัดเก็บภาษีเพียงครั้งเดียวจาก
    • ที่ดินหรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท (ยกเว้นภาษีให้แก่ที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้เพื่อพักอาศัยและที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม)
    • ห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

4. พื้นที่จัดเก็บภาษี

กำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตรรอบพื้นท่ีโครงการฯ 

ทั้งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะจัดเก็บภาษีในแต่ละโครงการฯ

5. หน่วยงานจัดเก็บภาษี

กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโครงการฯ ตั้งอยู่

6. ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี

ให้คำนวณจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้นระหว่างวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างโครงการฯ และมูลค่าในวันที่การก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ

สำหรับโครงการฯ ที่ยังก่อสร้างอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ ให้ใช้วันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้เป็นวันเริ่มต้นในการคำนวณฐานภาษี

ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่าที่ดินและห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์กำหนดเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ

ในกรณีห้องชุดไม่สามารถคำนวณส่วนต่างของมูลค่าห้องชุดได้ เนื่องจากไม่มีราคาประเมินห้องชุดให้คำนวณส่วนต่างดังกล่าวเท่ากับ 20% ของมูลค่าห้องชุด

7. สูตรการคำนวณภาษี

ฐานภาษีของที่ดินหรือห้องชุดที่คำนวณได้ x อัตราภาษี

8. อัตราภาษี

กำหนดเพดานอัตราสูงสุดของภาษีที่กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บได้ไม่เกิน 5% ของฐานภาษี

ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดในพระราชกฤษฎีกา

9. ภาษีที่จัดเก็บได้

ภาษีที่จัดเก็บได้ให้นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน

10. โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี

โครงการฯ ที่ยังก่อสร้างอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ หรือโครงการฯ ที่จะก่อสร้างภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้

7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 ยังมีรายได้เกินเป้า 3.7%

อนึ่ง การจัดเก็บรายได้ของรัฐในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2565 (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึง เดือนเมษายน 2565) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.27 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 45,804 ล้านบาท หรือ 3.7% และตลอดปีงบประมาณจะจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมาย 2.4 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)