จดทะเบียนหย่าระหว่างปีภาษี ยังใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรส และลดหย่อนบุตร ได้มั้ย?

ลดหย่อนภาษี

20,228 VIEWS

ผู้เสียภาษีน่าจะคุ้นเคยกับสิทธิลดหย่อนภาษีอย่าง ค่าลดหย่อนคู่สมรส และ ค่าลดหย่อนบุตร กันอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นการพูดคุยในกรณีที่ คนทั้งคู่ยังคงเป็นคู่สมรสกันเท่านั้น และสำหรับผู้เสียภาษีที่ตั้งข้อสงสัยว่า ในกรณีที่เราจดทะเบียนหย่าระหว่างปีภาษี เราจะยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคู่สมรส และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้ต่อหรือไม่ เลื่อนลงมาอ่านได้เลย

ทบทวน ค่าลดหย่อนคู่สมรส กันอีกครั้ง

ค่าลดหย่อนคู่สมรส ถือเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งกฎหมายให้หักลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อปี และจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า

  • คู่สมรสต้องไม่มีรายได้ตลอดปีภาษี
  • คู่สมรสหรือตัวเอง จะต้องอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน ในปีภาษีนั้นๆ 
  • จะต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
  • สามารถใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรสได้เพียงคนเดียวเท่านั้น

(เพิ่มเติมที่ ค่าลดหย่อนคู่สมรส)

ทบทวน ค่าลดหย่อนบุตร กันอีกครั้ง

ค่าลดหย่อนบุตร ถือเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้เสียภาษีที่ส่งเสียเลี้ยงดูบุตร สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีลูกได้คนละ 30,000 บาทต่อปี และหากมีลูกตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดภายในปี พ.ศ. 2561 (หรือหลังจากนั้น) จะสามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนลูกคนที่ 2 ได้ 60,000 บาทต่อปี (อ้างอิงประกาศจากกรมสรรพากร www.rd.go.th) และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

  • บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้พ่อแม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้เท่าจำนวนบุตรจริง 
  • ไม่มีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีเพียงบุตรบุญธรรมที่อุปการะเท่านั้น ในกรณีนี้กฎหมายกำหนดให้คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้สูงสุด 3 คน และจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ต่อเมื่อทำการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
  • มีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และรับอุปการะบุตรบุญธรรมด้วย ในกรณีนี้กฎหมายจะนับจากบุตรโดยชอบทางกฎหมายที่ยังมีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุ (นับรวมบุตรที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ลดหย่อนภาษีด้วย) ซึ่งหากใช้สิทธิลดหย่อนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายครบ 3 คนแล้ว คุณจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรบุญธรรมได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากยังใช้สิทธิลดหย่อนบุตรไม่ครบ 3 คน คุณยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนลูกบุญธรรมได้อีก จนกว่าจะใช้สิทธิครบ 3 คน
  • บุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
  • ในกรณีบุตรมีอายุ 20 – 25 ปีจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ก็ต่อเมื่อ ยังเรียนอยู่ในระดับอนุปริญญา (ปวส.) หรือระดับปริญญาตรีขึ้นไป
  • อายุเท่าไหร่ก็ได้ หากถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
  • จะต้องไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท ในปีภาษีนั้น

(เพิ่มเติมที่ ค่าลดหย่อนบุตร)

จดทะเบียนหย่าระหว่างปีภาษี ยังใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรส และลดหย่อนบุตร ได้มั้ย?

สำหรับผู้เสียภาษีที่จดทะเบียนหย่าระหว่างปีภาษี และไม่แน่ใจว่า ตัวเองยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคู่สมรส และยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตร สำหรับการยื่นภาษีได้หรือไม่นั้น อาจจะต้องแยกทำความเข้าใจเป็น 2 กรณีได้ดังนี้

1. สิทธิลดหย่อนคู่สมรส กรณีจดทะเบียนหย่าระหว่างปีภาษี

หากคุณทำการจดทะเบียนหย่าระหว่างปีภาษี คุณจะยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรสในปีภาษีนั้นได้เหมือนเดิม เพราะเคยมีความสัมพันธ์เป็นสามี –  ภรรยา ในปีภาษี และความเป็นคู่สมรสจะมีอยู่ตลอดปีภาษี ไม่ว่าคู่สมรสนั้นจะอยู่ไม่ครบปีภาษีก็ตาม เช่น การจดทะเบียนสมรสระหว่างปีภาษี, จดทะเบียนหย่าระหว่างปีภาษี, คู่สมรสเสียชีวิตระหว่างปีภาษี เป็นต้น

2. สิทธิลดหย่อนบุตร กรณีจดทะเบียนหย่าระหว่างปีภาษี

การใช้สิทธิลดหย่อนบุตรหลังจากจดทะเบียนหย่านั้นจะต้องแบ่งออกเป็น 2 กรณี เพื่อทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ประกอบไปด้วย

2.1 การหักลดหย่อนบุตร กรณีหย่ากันระหว่างปีภาษี ในกรณีที่คู่สมรสจดทะเบียนหย่ากันระหว่างปีภาษี พ่อและแม่ ยังสามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรได้เต็มจำนวนทั้ง 2 ฝ่าย

2.2 หักลดหย่อนบุตร หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว สำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีถัดไปหลังจากจดทะเบียนหย่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีบุตรอยู่ในความดูแลของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่อีกฝ่ายก็มีการส่งเสียเลี้ยงดูบุตรด้วย หรือทั้งสองฝ่ายร่วมกันดูแล ในกรณีนี้กฎหมายจะถือว่า บุตรอยู่ในความดูแลของคุณทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งพ่อและแม่จึงสามารถใช้หักค่าลดหย่อนบุตรได้ทั้งคู่ โดยสามารถหักค่าลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท (หรือ 60,000 บาท แล้วแต่กรณี)

แต่ทั้งนี้ พ่อหรือแม่ฝ่ายที่ไม่ได้มีชื่อเป็นผู้ดูแลหลังใบทะเบียนหย่าอาจต้องมีหลักฐานมาแสดงด้วยว่ามีการก็ร่วมดูแลบุตรเช่นกัน เช่น ใบเสร็จการจ่ายเงิน, หลักฐานการโอนเงิน ค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน ฯลฯ เป็นต้น แต่ถ้าบุตรอยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูของพ่อหรือแม่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ฝ่ายที่ดูแลบุตรนั้นที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรในปีถัดไปได้

ย้ำกันอีกครั้งว่า การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคู่สมรส และ ค่าลดหย่อนบุตรนั้น จะสามารถใช้ได้ก็ต่อเมื่อคู่สมรสและบุตรของคุณนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดเท่านั้น และหากใครยังไม่แน่ใจว่า ค่าลดหย่อนประจำปีภาษี 2562 มีอะไรบ้างนั้น สามารถเช็กลิสต์ได้ที่บทความ ค่าลดหย่อน 2562 และแน่นอนว่า คุณสามารถคำนวณภาษีล่วงหน้า  ได้ที่ iTAX Pro (โหลดฟรีทั้ง iOS และ Android) พร้อมค้นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีได้ที่ iTAX Market แล้วคุณจะรู้ว่า ภาษีน่ะ ประหยัดได้

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)