‘สรรพากร’ เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็น ‘ภาษีคริปโต’ แล้ว

ทั่วไป

‘สรรพากร’ จับมือ ‘สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย’ เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นแนวทางการจัดเก็บ ‘ภาษีคริปโต’ ตั้งคณะทำงานร่วมกัน ฟังผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงรับความเห็นจากนักวิชาการด้านภาษีอากร

12 มกราคม 2565 – กรมสรรพากรได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าประเด็น “ภาษีคริปโต” ว่ากรมสรรพากรได้จับมือสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโตเคอเรนซีแล้ว

‘สรรพากร’ จับมือ ‘สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย’ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญภาษีอากร ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย รับฟังความคิดเห็นภาษีคริปโต

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะตัวแทนจากกรมสรรพากรในคณะทำงาน 3 ฝ่าย เปิดเผยว่า “กรมสรรพากรได้มีการประชุมหารือร่วมกับนายศุภกฤษฏ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ประเด็นเรื่องของการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัสในทางปฏิบัติที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร

โดยมีข้อสรุปจากที่ประชุม คือ จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กรมสรรพากร และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย พร้อมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ครอบคลุมผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักเทรด นักขุด ผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่มีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต รวมถึงรับความเห็นจากนักวิชาการด้านภาษีอากร

โดยในเรื่องของการรับฟังความเห็นนั้น ทางกรมสรรพากรเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือและสรุปร่วมกันว่าจะมีการเผยแพร่แบบสอบถามที่มาจากการทำงานร่วมกันของคณะทำงานในรูปแบบของตัวเลือกในการปฏิบัติ (Options) แทนที่จะเป็นคำถามปลายเปิด เพื่อสะดวกต่อการนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งแบบสอบถามดังกล่าวทางสมาคมฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลทำการจัดส่งให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในชุมชนของสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ช่วยกันเสนอแนวทางก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่อีกครั้งภายในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะมีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการหาข้อสรุปเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ดี สำหรับแนวทางปฏิบัตินั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนประกอบด้วย

  1. การสร้างแนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความชัดเจน และเป็นแนวทางการปฏิบัติที่มาจากการสรุปร่วมกันจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้มีการเปิดรับฟัง
  2. การผ่อนปรนกฎระเบียบบางข้อ หากสามารถทำได้ที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ และ
  3. การร่วมกันสร้างแนวทางที่จะส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในอนาคต โดยการดำเนินการทั้งหมดจะเกิดความชัดเจนและไม่กระทบต่อการยื่นภาษีของปี 2564″

นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย หวังทุกฝ่ายมองประโยชน์ส่วนรวม ร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรม digital asset เติบโต

นายศุภกฤษฏ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เปิดเผยว่า “ประเด็น เรื่องของภาษีเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อวงการสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างมาก อยากให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันสร้างแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมนี้ให้สามารถเติบโตไปได้แม้อาจจะไม่สามารถตอบความต้องการของทุกคนได้ทั้งหมด แต่อยากให้ทุกฝ่ายมองถึงประโยชน์ส่วนรวมซึ่งเชื่อว่าหากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือก็จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้”

สรรพากร สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ภาษีคริปโต

ย้อนร้อยประเด็น สรรพากร กับ ภาษีคริปโต ในไทย เริ่มจากโฆษกสรรพากรชี้แจง ต้องเสียภาษีจากกำไรเป็นรายธุรกรรม

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 คุณสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และโฆษกกรมสรรพากร ได้ออกมาชี้แจงประเด็น “ภาษีคริปโต” ในนามกรมสรรพากรในรายการ Morning Wealth ของ The Standard Wealth สำหรับข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับภาษีคริปโต เป็นเวลา 30 นาที (ช่วงครึ่งหลังตั้งแต่นาทีที่ 30 เป็นต้นไป)

จากคำชี้แจงของโฆษกกรมสรรพากรภายในรายการ จึงนำมาสู่สถานการณ์ภาษีคริปโตของไทยซึ่งสรุปได้เป็น 10  ประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. กำไรจากการขายคริปโตตามกฎหมายไทย คิดเป็น “รายธุรกรรม” กล่าวคือ หากธุรกรรมแรกมีกำไร 100 บาท ธุรกรรมที่สองขาดทุน 100 บาท ผู้เสียภาษีจะต้องนำกำไร 100 บาทจากธุรกรรมแรกมายื่นภาษี ส่วนธุรกรรมที่สองซึ่งขาดทุน 100 บาท ไม่สามารถนำมาหักกลบจากกำไรของธุรกรรมแรกได้
  2. ถ้าซื้อขายผ่านกระดานเทรด (Exchange) แล้วเก็บเงินเอาไว้ในกระดานเทรดโดยไม่ได้ถอนเงินสดออกมา ก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้เกณฑ์เงินสด (cash basis) คือ เกิดรายได้เมื่อไหร่เป็นรายได้เมื่อนั้น ดังนั้น หากขายคริปโตแล้วได้กำไร ย่อมเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แม้ว่าเงินนั้นจะยังไม่ได้ถอนออกมา แต่ยังไม่มีคำชี้แจงกรณีนำเหรียญนึงไปแลกกับคู่เหรียญอื่นๆ ว่าจะเกิดกำไรได้หรือไม่ และยังไม่ได้ชี้แจงในกรณีนำเหรียญไปแลกกับ stable coin ว่าถือว่ามีกำไรแล้วหรือไม่
  3. เหรียญที่ได้จากการ Locked Staking ก็ต้องเสียภาษีเหมือนกัน มองเหมือนดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร แต่ยังไม่มีคำชี้แจงว่าหากเหรียญที่ได้รับมูลค่า 5 บาทนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าระหว่างปี จะให้ใช้มูลค่าใดนำแสดงเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี
  4. กรมสรรพากรได้พูดคุยกับกระดานเทรดในประเด็นภาษีคริปโตแล้วเพื่อหาทางอำนวยความสะดวกสำหรับการส่งธุรกรรมที่เกิดขึ้นของผู้เสียภาษีให้กรมสรรพากร ซึ่งเป็นเรื่องความร่วมมือในอนาคต
  5. รายได้จากการขุด (Mining) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง แต่ยังไม่ได้ชี้แจงว่าใช้มูลค่า ณ เวลาใดสำหรับแสดงเป็นรายได้ (เช่น อ้างอิงมูลค่า ณ เวลาที่ขุดได้?)
  6. โฆษกกรมสรรพากรยืนยันว่ากรมสรรพากรมี big data และมีการทำ data analytics เพื่อวิเคราะห์ว่าผู้เสียภาษีรายใดจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มไม่เสี่ยง หากเจ้าหน้าที่สรรพากรมีข้อสงสัยว่าแสดงรายได้ไม่ครบถ้วน ก็สามารถขอเชิญให้ผู้เสียภาษีชี้แจงได้ หากพิสูจน์ได้ว่าแสดงรายได้ครบถ้วนแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าพบว่าผู้เสียภาษีแสดงรายได้ต่ำกว่าข้อมูลที่กรมสรรพากรมี ทางกรมจะขอให้ผู้เสียเสียภาษียื่นและชำระภาษีเพิ่มเติมจากส่วนที่ขาด ซึ่งหากเป็นการชำระเพิ่มเติมหลังจากหมดเวลายื่นภาษีประจำปีแล้ว จะต้องชำระเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ยเนื่องจากชำระภาษีล่าช้า) โดยคำนวณจากเฉพาะภาษีที่ชำระไว้ขาด ในอัตรา 1.5% ต่อเดือน แต่ไม่มีค่าปรับอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจากยื่นภาษีแล้ว เพียงแต่แสดงรายได้ไม่ครบถ้วน
  7. กรมสรรพากรยอมรับว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องให้ผู้ขายแจ้งผู้ซื้อว่าตนมีกำไรเท่าไหร่จากธุรกรรมดังกล่าว แต่ถ้าผู้ขายไม่แจ้งผู้ซื้อว่าตนมีกำไรเท่าไหร่ ก็ให้ผู้ซื้อหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากยอดซื้อทั้งจำนวนเลย ดังนั้น ผู้ขายต้องรักษาสิทธิ์ของตนโดยแจ้งผู้ซื้อให้ทราบก่อนว่าตนมีกำไรเท่าไหร่ เพื่อให้หักภาษี ณ ที่จ่ายได้อย่างถูกต้อง
  8. กรมสรรพากรเข้าใจว่าในทางปฏิบัติอาจมีข้อสงสัยว่าการซื้อขายผ่านกระดานเทรด จะเป็นการตั้งราคาเสนอซื้อ-ขาย ซึ่งผู้ซื้อไม่อาจทราบได้ว่าผู้ขายเป็นใคร จะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ผ่านระบบของกระดานเทรดได้อย่างไร รวมถึงจะระบุชื่อผู้ขายและส่งหนังสือรับรองการให้ภาษี ณ ที่จ่ายให้ผู้ขายด้วยวิธีการใด ซึ่งกรมสรรพากรมีความตั้งใจจะอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี โดยกำลังหารือแนวทางดังกล่าวกับกระดานเทรดเพื่อหาความชัดเจนขึ้นในอนาคต
  9. กฎหมายออกมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ที่เพิ่งเริ่มเคลื่อนไหวปี 2565 เพราะกรมสรรพากรพบว่าในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีการเทรดกันอย่างคึกคัก จึงมีความห่วงใยผู้เสียภาษีว่าจะลืมไปว่ารายได้จากการขายคริปโตเคอร์เรนซี่จะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2564 ในช่วงต้นปี 2565 ด้วย จึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้เสียภาษีทราบถึงหน้าที่ดังกล่าว จะได้ไม่หลุดหลงไปจนลืมยื่นภาษีและรับบทลงโทษในภายหลัง ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมกฎหมายภาษีคริปโตเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 ซึ่งสถานการณ์ตลาดคริปโตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ก็มีโอกาสที่กฎหมายภาษีคริปโตอาจเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ เหมือนดังเช่นในอดีตที่ไม่เคยมีกฎหมายกำหนดว่ากำไรจากคริปโตเป็นเงินได้ประเภทใด จนเมื่อปี 2561 จึงกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นเงินได้จากการลงทุนกลุ่มเดียวกับพวกดอกเบี้ย เงินปันผล
  10. แนวปฏิบัติที่ชัดเจนของกรมสรรพากรจะออกมาในรูปแบบ Q&A ภายในเดือนนี้เลย (มกราคม 2565) ซึ่งจะเป็นมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันทั้งผู้เสียภาษีและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นขึ้นในการปฏิบัติจริง
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)