สรรพากรใช้วิธีไหน ตรวจสอบธุรกิจเรา?

SME

24,634 VIEWS

เพราะการเป็นเจ้าของธุรกิจมีเรื่องราวมากมายให้ต้องกังวล และเราเชื่อว่าเรื่องที่ทำให้ ผู้ประกอบการ SMEs หลายคนเป็นกังวลอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น การทำบัญชี และการจ่ายภาษีธุรกิจให้ถูกต้องและครบถ้วน เพราะมันเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณไม่ต้องเจอกับการถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง แต่คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า กรมสรรพากรใช้วิธีใดในการตรวจสอบและบอกว่าธุรกิจของคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง iTAX จะมาเฉลยให้ฟัง

กรมสรรพากร กับวิธีการประเมินธุรกิจกลุ่มเสี่ยง

ต้องบอกก่อนว่า วิธีที่กรมสรรพากรใช้คัดเลือกว่า ธุรกิจหรือผู้ประกอบการประเภทใดอยู่ในกลุ่มดี หรือ ธุรกิจประเภทไหนอยู่ในกลุ่มเสี่ยง นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีหลักๆ คือ

1. การประเมินสถานะผู้ประกอบการ

การประเมินสถานะผู้ประกอบการนั้น เริ่มต้นจากการที่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้เข้าไปตรวจสอบ ณ สถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น การตรวจแนะนำ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจปฏิบัติ รวมถึง การออกหมายเรียก แต่อาจจะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่ประเมินสถานะทางกายภาพของผู้ประกอบการ เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น

เพราะเจ้าหน้าที่สรรพากรจะต้องนำคะแนนทั้งหมด มาพิจารณาหรือประเมินคู่กับ อัตราส่วนทางการเงิน (financial ratios) และ ผลตรวจสอบย้อนหลัง เพราะสรรพากรต้องการรู้ว่า เมื่อผู้ประกอบการตรวจสอบย้อนหลังไปในอดีตแล้ว ผู้ประกอบการได้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามที่กฎหมายระบุหรือไม่ ซึ่งเกณฑ์การประเมินของกรมสรรพากรจะประกอบไปด้วย 1. ประเมินเรื่องความเชื่อมั่น 2. ประเมินเรื่องความมั่นคง 3.ประเมินโดยการแยกกลุ่มกิจการ

1.1 กลุ่มกิจการซื้อมาขายไป

กลุ่มกิจการซื้อมาขายไป แบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามวิธีการจัดการสินค้าคงคลัง เรียงจากกลุ่มดีไปยังกลุ่มเสี่ยง ดังนี้

  • ใช้โปรแกรมบัญชีควบคุมสินค้าคงคลัง โดยมีผู้ตรวจทานความถูกต้อง และตรวจนับทั้งหมดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • มีพนักงานควบคุมสินค้า โดยมีผู้ตรวจทานความถูกต้อง และตรวจนับทั้งหมดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ใช้โปรแกรมบัญชีควบคุมสินค้าคงคลัง หรือมีพนักงานควบคุมสินค้า และตรวจนับทั้งหมดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ไม่มีการควบคุมสินค้าคงคลัง แต่มีการตรวจนับทั้งหมดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ไม่มีการตรวจนับ

1.2 กลุ่มกิจการผลิต

กลุ่มกิจการผลิต แบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามวิธีการจัดการสูตรการผลิต เรียงจากกลุ่มดีไปยังกลุ่มเสี่ยง ดังนี้

  • มีสูตรการผลิตครบถ้วนทุกประเภท
  • มีสูตรการผลิตที่ไม่ครบถ้วนทุกประเภท
  • ไม่มีสูตรการผลิต

1.3 กลุ่มกิจการให้บริการ จะเน้นเรื่องการจัดทำเอกสารสัญญา

กลุ่มกิจการให้บริการ แบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามวิธีการจัดการเอกสารสัญญา เรียงจากกลุ่มดีไปยังกลุ่มเสี่ยง ดังนี้

  • มีการทำสัญญาทุกราย
  • มีการทำสัญญาบางราย
  • ไม่มีการทำสัญญา

แต่จริงอยู่ที่ กรมสรรพากรใช้เกณฑ์การประเมินกิจการแต่ละประเภทแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ใช้เกณฑ์ประเมินเดียวกันไม่ว่าคุณจะดำเนินธุรกิจประเภทไหนก็ตามคือ วิธีการรับชำระเงิน ซึ่งสรรพากรมองว่า

วิธีการรับชำระเงิน จะสามารถบ่งบอกได้ทันทีว่า การรับชำระเงินหรือระบบบัญชีที่ใช้สำหรับกิจการนั้นๆ มีการจัดทำรายการบัญชีที่มีความสมบูรณ์หรือไม่

2. Data Analytics

Data Analytics คือ ระบบที่ถูกจัดทำเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมความเสี่ยงของกิจการในแต่ละประเภท และสามารถใช้วิเคราะห์ได้ว่า ธุรกิจแต่ละประเภทมีความเสี่ยงอย่างใด และมีพฤติกรรมอะไรบ้างที่สามารถบ่งบอกได้ว่า ผู้ประกอบการอาจจะแสดงรายได้ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง หรือมีการสร้างค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสมต่อกิจการ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว สรรพากรพบว่า จะมีผู้ประกอบการที่มีความผิดปกติอยู่ 2 ประเภท คือ

2.1 ผู้ประกอบการย่องบ

หรือการทำให้รายได้ออกนอกระบบ และนำเอาค่าใช้จ่ายเท่าที่ต้องการใส่เข้ามาแทนที่ เพื่อให้งบมีความสมดุลในแง่ของอัตราส่วนทางการเงิน เช่น กิจการมีรายได้จริงอยู่ที่ 100 ล้านบาท แต่แสดงรายได้จริงเพียง 20 ล้านบาท เป็นต้น

และกรมสรรพากรพบว่า ผู้ประกอบการและนักบัญชีหลายคนมักจะคิดว่า การทำงบประมาณหรือแสดงรายได้ในรูปแบบ จะช่วยให้รอดพ้นจากการตรวจ เกณฑ์ประเมินความเสี่ยงผู้เสียภาษี (Risk Based Audit: RBA) ซึ่งสรรพากรก็ยอมรับว่า RBA ไม่สามารถตรวจได้ในกรณีนี้จริง

แต่!! Data Analytics สามารถทำได้ เพราะกรมสรรพากรตรวจพบว่า มีปัจจัยบางอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า นี่คือกลุ่มธุรกิจที่ย่องบ เช่น มีทรัพย์สินที่ราคาสูงหรือมากผิดปกติ, ธุรกิจมีพนักงานกินเงินเดือนที่ค่อนข้างสูง เป็นต้น กรมสรรพากรยืนยันว่า Data Analytics นั้นไม่ได้ถูกจัดทำขึ้นจากข้อมูลธุรกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีการรวมข้อมูลการจ้างงานในแต่ละปีเข้าเพื่อทำการเปรียบเทียบด้วย

หมายเหตุ : กรมสรรพากรใช้ Data Analytics วิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจและผู้ประกอบการมาเป็นระยะเวลา 1 ปี และพบว่า ข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเที่ยงตรงและแม่นยำ

2.2 ถึงแม้ไม่ย่องบ แต่ผู้ประกอบการมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากค่ามาตรฐาน

กรณีนี้มักจะพบในกลุ่มกิจการผลิตบางรูปแบบ เช่น มีรายได้ต่ำแต่มีสินค้าคงเหลือในกิจการมากผิดปกติ ซึ่งมักจะสอดคล้องกับเงินกู้ยืมกรรมการที่มักจะสูงผิดปกติ (สรรพากรมองว่า ในเมื่อรายได้น้อย ทำไมต้องสต๊อกของเยอะ) เช่นเดียวกันกับธุรกิจบริการบางธุรกิจ เช่น มีรายได้ต่ำ กำไรต่ำ แต่เหลือเงินเยอะ จนมีเงินให้กรรมการกู้

เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไป ที่มักจะเกิดการขาดทุนสะสม แต่มีเงินให้กรรมการกู้ยืม (สรรพากรมองว่า ในเมื่อธุรกิจขาดทุนเยอะ ทำไมไม่เอาเงินมาเจือจุนกิจการให้สามารถทำเงินเพิ่มได้ แต่กลับนำเงินไปให้กรรมการใช้หรือกู้ยืมแทน)

** ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่กรมสรรพากรวิเคราะห์โดยใช้ Data Analytics ในระยะเวลา 6 เดือน – 1 ปี

3. เกณฑ์ประเมินความเสี่ยงผู้เสียภาษี (Risk Based Audit System: RBA)

เกณฑ์ประเมินความเสี่ยงผู้เสียภาษีจำนวน 151 เกณฑ์ จะช่วยในการคัดกรอง ผู้ประกอบการและธุรกิจประเภทใดจัดอยู่ในกลุ่มดีหรือกลุ่มเสี่ยง (กรมสรรพากรเคยใช้ RBA ประเมินผู้ประกอบการ แต่ปัจจุบันกรมสรรพากใช้ Data Analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลแทน)

สรรพากรยังบอกอีกว่า ทุกวันนี้ผู้ประกอบการและกิจการจะมีสมุดพกสำหรับการเสียภาษี หรือที่หลายๆ คนคุ้นหูกันดีในชื่อ Taxpayer Account ซึ่งเป็นการรวมข้อมูลทุกอย่าง  ไม่ว่าจะเป็น

  • ข้อมูลภายใน เช่น แบบ ภ.ง.ด. 50, ภ.พ. 30 แบบภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, อากรสแตมป์
  • ข้อมูลภายนอก เช่น ข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ข้อมูลการซื้อรถ ไม่ว่าจะเป็นการต่อทะเบียนรถยนต์ ล.ย. 1, ล.ย. 2, ล.ย. 6, ข้อมูลไฟฟ้าและประปา เป็นต้น

หลังจากนั้น สรรพากรจะจัดทำอัตราส่วนทางการเงิน โดยมีเกณฑ์ทั้งหมด 151 เกณฑ์ โดยนิติบุคคลหรือผู้ประกอบการทุกคนจะถูกจัดและแบ่งคะแนนออกมา ซึ่งหากธุรกิจของคุณถูกจัดอยู่ในอันดับที่สูง นั่นหมายความว่า ธุรกิจของคุณถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และถึงแม้ว่ากรมสรรพากรอาจจะไม่ได้ใช้เกณฑ์ทั้งหมด 151 เกณฑ์ในการประเมินภาษีในแต่ละปี (แน่นอนว่าจะเลือกเฉพาะเกณฑ์ที่เหมาะสม) แต่สรรพากรยืนยันว่า หากธุรกิจของคุณมีการจัดทำบัญชีให้ถูกต้องก็ไม่จำเป็นต้องกังวลอะไร

รู้แบบนี้แล้ว ผู้ประกอบการและคนทำธุรกิจอาจจะต้องเริ่มต้นตรวจเช็กให้ดีว่า ธุรกิจของคุณมีการจัดทำบัญชีและยื่นภาษีตรงตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดหรือไม่? และหากพบว่ามีการทำบัญชีหรือยื่นภาษีผิดพลาดคุณยังมีโอกาสแก้ตัว เพราะกรมสรรพากรยังให้โอกาสคุณได้ทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เพียงลงทะเบียนที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร newstartup.rd.go.th เพื่อรับสิทธิยกเว้นค่าปรับเงินเพิ่ม และโทษทางอาญาได้ ตั้งแต่ 1 เม.ย. 62 – 30 มิ.ย. 62

กรมสรรพากรมีเครื่องมือและมาตรการที่ตรวจสอบผู้เสียภาษีเข้มข้นขนาดนี้ ผู้ประกอบการเองก็อาจจะต้องปรับตัวและหันมาจัดการภาษีและบัญชีให้ถูกต้องกันมากขึ้น และสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่แน่ใจว่า ต้องเริ่มต้นจัดการบัญชีและวางแผนภาษียังไงให้ถูกตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร สามารถติดต่อสอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787 รับรองว่า เราจะไม่ทำให้คุณต้องโดนตรวจสอบภาษีย้อนหลังแน่นอน!

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)