ยกฟ้องคดี “บ้านป่าแหว่ง” ศาลปกครองชี้สร้างถูกกฎหมาย

ทั่วไป

ศาลปกครองเชียงใหม่ พิพากษายกฟ้องคดี “บ้านป่าแหว่ง” ชี้พื้นที่สร้างบ้านพักตุลาการบนดอยไม่รุกล้ำพื้นที่ป่าสงวน-อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ กรมธนารักษ์ อนุญาตสำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

27 กรกฎาคม 2565 – ศาลปกครองเชียงใหม่ ได้อ่านคำพิพากษาคดี “บ้านป่าแหว่ง” (คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 148/2561 คดีหมายเลขแดงที่ 152/2561) โดยได้มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” โดยให้เหตุผลว่าพื้นที่สร้างบ้านพักตุลาการบนดอยดังกล่าวเป็นของกรมธนารักษ์ และได้อนุญาตสำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้รุกล้ำพื้นที่ป่าสงวน-อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ และไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

ศาลปกครองเชียงใหม่ – “คดี บ้านป่าแหว่ง” คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 148/2561 คดีหมายเลขแดงที่ 152/2561

ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 148/2561 คดีหมายเลขแดงที่ 152/2561 ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (กรมธนารักษ์) มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอด (สำนักงานศาลยุติธรรม) ใช้พื้นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ชม. 1723 (บางส่วน) ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 147 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาล บ้านพักตุลาการและข้าราชการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่า บางส่วนทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดอยสุเทพ มีความสวยงามตามธรรมชาติของผืนป่าดอยสุเทพ อำนาจอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่เป็นอำนาจของอธิบดีกรมป่าไม้ไม่ใช่อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดี

อีกทั้งไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อนการพิจารณาอนุญาต เพราะผลจากที่ได้รับอนุญาตในการก่อสร้างอาคารดังกล่าวของผู้ร้องสอดจะต้องมีการตัดโค่นต้นไม้ทำลายป่าทำให้เกิดสภาพป่าแหว่ง ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติป่าดอยสุเทพเสียสิทธิที่จะได้ชื่นชมความงดงามตามธรรมชาติของผืนป่าดอยสุเทพจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนและให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและปรับปรุงพื้นที่ให้กลับมามีสภาพดังเดิม

คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. 1723 (บางส่วน) ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 147 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพักตุลาการและข้าราชการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 เป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ หากเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องรับผิดดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ อย่างไร โดยมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุแปลงพิพาทเพื่อก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุแปลงพิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาททั้งแปลงอยู่นอกแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ และนอกแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย อำนาจอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุแปลงพิพาทเป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดี

คดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า การพิจารณาอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงพิพาทก่อสร้างอาคารที่ทำการศาล บ้านพักตุลาการและข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เห็นว่า กฎหมายกำหนดขั้นตอนว่าก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงพิพาท ผู้ร้องสอดจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 46 แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ประกอบประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2535 และรายงานการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท เสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดี

เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าที่ราชพัสดุแปลงพิพาท แม้มีสภาพเป็นป่าที่ลาดเชิงเขา บางส่วนเป็นที่สูงชันอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ (ลุ่มน้ำปิง-วัง) แต่เมื่อพื้นดังกล่าวมิได้มีพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาทจึงไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แล้วแต่กรณี อีกทั้ง พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาทอยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ชั้น 3 และชั้น 4 ผู้ร้องสอดจึงได้รับยกเว้นไม่จำต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตาประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ฉบับดังกล่าว และไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อนเริ่มโครงการตามข้อ 14 (1) ของระเบียบสำนัก

นายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2549 ดังนั้น การพิจารณาอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ที่ราชพัสดุแปลงพิพาทจึงเป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่า การพิจารณาอนุญาตของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ที่ใช้บังคับในขณะนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้

คดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงพิพาทเพื่อใช้ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพักตุลาการและบ้านพักข้าราชการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบหรือไม่

เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงพิพาทเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบแต่อย่างใด เมื่อผู้ร้องสอดได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงพิพาทเพื่อก่อสร้างอาคารดังกล่าวผู้ร้องสอดจึงชอบที่จะดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อให้การก่อสร้างอาคารดังกล่าวสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่าการก่อสร้างอาคารของผู้ร้องสอดดังกล่าวเป็นเหตุให้มีการโค่นต้นไม้ ทำลายป่า ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ป่าแหว่ง อันเป็นการทำลายระบบนิเวศของพื้นที่ป่าไม้ที่สวยงามตามธรรมชาติและมีผลกระทบต่อลำห้วยแม่ชะเยือง จึงไม่อาจรับฟังได้

เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงพิพาท เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพักตุลาการและบ้านพักข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดี

พิพากษายกฟ้อง

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)