ฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ เสียหายสิบบาทก็ฟ้องได้ โดยศาลยุติธรรม

ทั่วไป

18,459 VIEWS

ศาลยุติธรรม เปิดตัวระบบ ฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ 24 ชม. โดย ‘แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง’ ไม่จำกัดวงเงินขั้นต่ำ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมถึงการบริโภคของกลุ่มการซื้อขายสินค้าออนไลน์

ขั้นตอนการสมัครใช้งาน e-Filing สำหรับยื่น “ฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์”

  1. ไปที่เว็บไซต์ efiling3.coj.go.th
  2. เลือกประเภทผู้ใช้งานเป็น “ประชาชน-ยื่นฟ้องในฐานะประชาชน”
  3. กด “ลงทะเบียน”
  4. ยอมรับนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสำนักงานศาลยุติธรรมแล้วกด ‘ดำเนินการต่อ’ เพื่อกรอกข้อมูลการลงทะเบียน
  5. กรอกข้อมูลส่วนตัวและที่อยู่
  6. ตั้งรหัสผ่านสำหรับการเข้าสู่ระบบ (รหัสผ่านต้องมีอย่างน้อย 8 ตัวอักษร ประกอบด้วยตัวอักษรใด ๆ และต้องมีอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวพิมพ์เล็ก และตัวเลขอารบิกอย่างน้อยอย่างละ 1 ตัวอักษร)
  7. กรอกอีเมลและเบอร์โทรศัพท์มือถือที่จะใช้เป็นช่องทางการติดต่อรับข้อมูลการยื่นคำฟ้อง/คำร้อง
  8. แนบไฟล์ ‘บัตรประจำตัวประชาชน’ และ ‘ภาพถ่ายสี (หน้าตรงสุภาพ)’ ขนาดไฟล์ต้องไม่เกิน 1 MB
  9. กด ‘ยืนยันการลงทะเบียน’
  10. เมื่อลงทะเบียนสำเร็จแล้วสามารถกลับเข้าสู่ระบบและดำเนินการฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ในฐานะประชาชนเป็นผู้ฟ้องคดีได้

ขั้นตอนการยื่น ฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์

  1. หลังจากลงทะเบียนแล้ว ล็อกอิน (Log in) เข้าสู่ระบบ
  2. กดยอมรับเงื่อนไขการใช้งาน
  3. เลือกเมนูคดีซื้อขายออนไลน์
  4. กรอกรายละเอียดคำฟ้อง
    • ข้อมูลผู้ฟ้อง (โจทก์)
    • ข้อมูลผู้ถูกฟ้อง (จำเลย) ***จำเป็นต้องมีอีเมลผู้ถูกฟ้องเพื่อส่งหมายทางอิเล็กทรอนิกส์***
    • ข้อมูลคำฟ้อง
    • แนบเอกสารหรือหลักฐานการซื้อขายสินค้านั้นๆ
    • มูลเหตุที่เรียกร้อง
    • ข้อมูลความเสียหาย
    • ราคา
    • พยาน (ถ้ามี)
  5. กดยื่นคำฟ้อง
  6. เมื่อยื่นคำฟ้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบส่งจะคำฟ้องไปถึงเจ้าพนักงานคดีในศาลแพ่งเพื่อทำการตรวจสอบว่า การฟ้อง ข้อเท็จจริงนั้นครบถ้วนหรือไม่
  7. หากคำฟ้องตรงตามเงื่อนไขการพิจารณาคดีซื้อขายออนไลน์และข้อมูลถูกต้องครบถ้วนเจ้าพนักงานคดีจะเสนอคำฟ้องเพื่อให้ศาลรับคำฟ้อง และส่งหมายเรียกแก่จำเลยทางอีเมล เมื่ออีเมลถูกส่งไปยังกล่องข้อความ (Inbox) ของอีเมลจำเลยแล้วจะถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียก หรือส่งไปยังทาง SMS หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ อื่น ๆ

กระบวนการเมื่อคดีซื้อขายออนไลน์เข้าสู่ระบบศาล

เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ศาลจะดำเนินการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบวันพิจารณาคดี การสืบพยาน และการไกล่เกลี่ยจะดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ ส่วนกรณีไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จจำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การผ่านระบบออนไลน์และดำเนินการต่อสู้คดีในลำดับต่อไป โดยคดีซื้อขายออนไลน์ จะสามารถยื่นฟ้องคดีได้ 24 ชั่วโมง ทั้งนี้หากยื่นฟ้องทางออนไลน์หลังเวลา 16.30 น. หรือในวันเสาร์-อาทิตย์ จะให้นับวันทำการถัดไปให้ถือเป็นวันฟ้อง

ศาลยุติธรรมเปิด “แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง” พร้อมระบบ ฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ 24 ชั่วโมง

27 มกราคม 2565 – น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา ได้เป็นประธานพิธีเปิด “แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง” โดยมีนายภัฏ วิภูมิรพี อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และคณะผู้บริหารศาลแพ่งร่วมพิธีเปิดงาน

โดยการจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง เกิดขึ้นจากดำริประธานศาลฎีกา ตามแนวนโยบายการบริหารงานศาลยุติธรรมของประธานศาลฎีกา ปี พ.ศ.2564- พ.ศ.2565 ภายใต้สโลแกน “ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย” (Easy Access to Justice) ที่ด้านหนึ่งจะมุ่งส่งเสริมการดำเนินคดีเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมถึงการบริโภควิถีใหม่ เช่น กลุ่มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งถือเป็นของขวัญให้กับผู้บริโภคในปี 2565

น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า ปัจจุบันการบริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลายและขยายตัวอย่างรวดเร็วการซื้อขายออนไลน์จึงเป็นที่นิยมกันอย่างมากเนื่องจากสะดวก รวดเร็ว และยิ่งในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าจากปกติจะเดินทางไปห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าต่าง ๆ ก็เปลี่ยนรูปแบบเน้นเป็นการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์แทนทำให้เกิดข้อพิพาทตามมาเป็นจำนวนมากเช่น สั่งซื้อแล้วพบสินค้าชำรุด ได้รับของไม่ตรงปก ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา สั่งซื้อแล้วไม่ได้สินค้า หรือถูกหลอกลวง เป็นต้น

ให้สิทธิ์ฟ้องคดีได้ ไม่กำหนดวงเงินขั้นต่ำ แม้สินค้าราคาเพียงหลักสิบ

ตามปกติแล้วผู้เสียหายสามารถนำคดีมายื่นฟ้องศาล เพื่อให้มีการชดใช้ได้แต่ในการยื่นฟ้องคดีแพ่งตามหลักจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลในภูมิลำเนาของผู้ขายที่จะเป็นจำเลย หรือที่มูลคดีเกิด ขณะที่การซื้อขายออนไลน์ อาจมีกรณีที่ว่าความเสียหายเป็นเงินจำนวนไม่มาก หลักร้อยหลักพันบาท จึงทำให้คดีเหล่านี้มาไม่ถึงศาล เพราะมองว่าจะต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อาจไม่คุ้มค่าที่จะไปยื่นฟ้องศาล รวมถึงความยุ่งยากในขั้นตอนการดำเนินคดี

แต่เมื่อปัจจุบันข้อพิพาทในการซื้อสินค้าออนไลน์ในสังคมมีมากขึ้นเรื่อย ๆ หากปล่อยปัญหานี้ไปก็จะกระทบถึงความน่าเชื่อถือของระบบการซื้อขายออนไลน์ในประเทศ และผู้บริโภคที่ซื้อของทางออนไลน์มีโอกาสที่จะถูกหลอกโดยที่ไม่ได้รับการเยียวยา ขณะที่ผู้ขายซึ่งก่อให้เกิดปัญหาจะยังคงไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภครายอื่นได้อีก

ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบในทุกขั้นตอน

ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ศาลยุติธรรมจึงได้ดำเนินการการจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง โดยให้ใช้ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบในทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณา เพื่อให้ผู้บริโภคที่คิดว่าจะใช้สิทธิทางศาลฟ้องคดีได้รับความสะดวก ตามสโลแกนความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย ซึ่งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้มีประกาศรองรับการจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง ซึ่งได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564

กรุงไทยอยู่เบื้องหลังผู้พัฒนาระบบฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐพร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของหน่วยงานภาครัฐได้โดยง่ายตามยุทธศาสตร์ X2G2X โดยธนาคารร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม พัฒนาระบบการยื่นคำฟ้องอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) เพื่อเพิ่มช่องทางในการยื่นคำฟ้องและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวกมากขึ้น ตามนโยบายของประธานศาลฎีกา เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนได้ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้น

“ตอบโจทย์สำนักงานศาลยุติธรรม ในการต่อยอดระบบ e-Filing ในการยื่นคำฟ้องคดีผู้บริโภคประเภทซื้อขายออนไลน์ รองรับการยื่นคำฟ้องจากผู้เสียหายทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการให้บริการประชาชนสามารถยื่นคำร้องผ่านเว็บไซต์ด้วยตนเองไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องมีทนายความและไม่ต้องมาศาล” นายผยง ศรีวณิช กล่าว

ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีผ่านระบบออนไลน์ 100% เพิ่มความสะดวกให้ประชาชน ไม่ต้องเดินทางมาที่ศาล ไม่จำกัดราคา และชนิดของสินค้า

นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตรงนี้แม้ดูเหมือนจะเป็นข้อจำกัดอยู่บ้างแต่ระบบออนไลน์นั้นก็ช่วยอำนวยความสะดวกที่ไม่ต้องห่วงเรื่องการเดินทางมาศาลให้ทันเวลาทำการ โดยการยื่นฟ้องสามารถทำที่ไหนก็ได้ ขั้นตอนการยื่นฟ้องของแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่งใช้ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบในทุกขั้นตอน มีขั้นตอนที่สะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ไม่ต้องเดินทางมาศาลไม่ต้องนำกระดาษมายื่นฟ้องศาลเหมือนคดีปกติได้ อีกทั้งผู้เสียหายสามารถติดตามความคืบหน้าได้ใน 12 ชั่วโมง นับแต่ยื่นเรื่องเข้ามา ซึ่งถือว่ารวดเร็วมากในการพิจารณาคดีขณะนี้

คดีซื้อขายออนไลน์หลายคนกังวลเรื่องทุนทรัพย์น้อยเจ้าหน้าที่จะรับเรื่องหรือไม่ ทั้งนี้คดีทั่วไปที่โจทก์ยื่นฟ้องก็ไม่เคยมีศาลไหนมีคำสั่งห้ามมาฟ้อง ดังนั้นจะซื้อสินค้าราคาหลักสิบ หรือหลักร้อย ผู้บริโภคสามารถฟ้องได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวโจทก์เองที่จะตัดสินใจจะมาฟ้องหรือไม่ ศาลจะไม่จำกัดว่าเป็นสินค้าชนิดใด และราคาเท่าไร มีเงื่อนไขแต่เพียงว่าสินค้าที่ซื้อขายนั้นจะต้องเป็นช่องทางออนไลน์แค่นั้น

หลักฐานที่ควรรวบรวมสำหรับฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์

การฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายหากต้องการยื่นฟ้อง ควรพยายามให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ขายและธุรกรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีและการบังคับ ดังนั้นเมื่อสั่งซื้อสินค้าอย่าลืมรวบรวมหลักฐานต่างๆ เช่น

  • ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ขาย
  • หลักฐานการสั่งซื้อสินค้า
  • หลักฐานการชำระเงินจากผู้ขาย
  • หลักฐานอื่นๆ เช่น วิดีโอที่ถ่ายขณะเปิดกล่อง

นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมยังได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคีต่างๆ เพื่อสนับสนุนการให้ข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินคดี อันเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ผู้บริโภค เป็นความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย

“ศาลเราพร้อมเป็นที่พึ่งประชาชนอย่างแท้จริงทุกด้าน และเป็นความยุติธรรมที่ให้ประชาชนเข้าถึงง่ายสอดรับกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ของประชาชน” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวทิ้งท้าย

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์

ผู้ฟ้องจำเป็นต้องมีอีเมลที่ถูกต้องของคู่กรณีเพื่อให้ศาลสามารถส่งหมายไปถึงอีเมลของคู่กรณีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

หากศาลไม่สามารถส่งหมายทางอีเมลได้ จะทำให้ศาลไม่สามารถพิจารณาคดีได้ อาจทำให้ต้องจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะได้อีเมลของคู่กรณี หรือจำหน่ายคดีถาวรซึ่งผู้ฟ้องจำเป็นต้องยื่นคำฟ้องตามกระบวนพิจารณาคดีตามปกติ

การปฏิบัติตนสำหรับการพิจารณาคดีและสืบพยานออนไลน์

  • แต่งกายให้เรียบร้อยและเหมาะสมเช่นเดียวกับการเข้าร่วมพิจารณาในห้องพิจารณาคดี
  • จัดเตรียมสถานที่ให้เรียบร้อย โดยเป็นห้องปิดและมีความเป็นส่วนตัว
  • นั่งเก้าอี้ที่มีความเหมาะสมตลอดการเข้าร่วมพิจารณา ห้ามนั่งหรือนอนบนเตียงหรือพื้นห้อง
  • ห้ามตกแต่งเพิ่มเติมภาพ หรือใช้ภาพจำลองพื้นหลังตลอดการพิจารณาคดี
  • ห้ามรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม และห้ามออกจากห้องเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
  • ห้ามบันทึกภาพและเสียง หรือถ่ายทอด การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีออนไลน์
  • ให้ความร่วมมือแก่ศาลและเจ้าหน้าที่ตลอดเวลาการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีออนไลน์
  • หากไม่ปฏิบัติตามจะไม่ได้รับอนุญาตเข้าพิจารณาคดี

การฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์กรณีผู้ฟ้องอายุไม่ถึง 20 ปี

หากผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เยาว์ คืออายุไม่ถึง 20 ปีและยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในกรณีที่ต้องการฟ้องคดีผ่านแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ก็สามารถทำได้ แต่ต้องปฏิบัติเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

1. ให้ผู้แทนโดยชอบธรรม (พ่อ แม่ ผู้ปกครอง) เป็นผู้ดำเนินคดีแทน

หากผู้เยาว์อายุยังน้อยไม่มีความรับผิดชอบ ย่อมไม่สามารถดำเนินคดีเองได้ “ผู้แทนโดยชอบธรรม” จะต้องเป็นผู้ฟ้องหรือดำเนินคดีแทน ซึ่ง “ผู้แทนโดยชอบธรรม” หมายถึง พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองของผู้เยาว์

ในกรณีนี้ ผู้แทนโดยชอบธรรมจะเป็นผู้จัดการยื่นฟ้องในระบบ e-filing ให้แทน ไม่ใช่ตัวผู้เยาว์

2. ได้รับอนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม (พ่อ แม่ ผู้ปกครอง) ให้ผู้เยาว์ดำเนินคดีด้วยตัวเองได้

หากผู้เยาว์มีอายุพอที่จะรับผิดชอบแล้ว ก็สามารถเลือกให้ใช้วิธีขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นหนังสือให้ฟ้องคดี โดยต้องยื่นหนังสืออนุญาตต่อศาลไปพร้อมกันกับที่ยื่นฟ้องในระบบ e-filing เนื่องจากการฟ้องและดำเนินคดีแพ่งจึงยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม แต่เมื่อได้รับความยินยอมมาแล้วก็สามารถยื่นฟ้องหรือดำเนินคดีด้วยตนเองได้

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)