ภาษีขายของออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เสียภาษีอย่างไร?

วิเคราะห์

26,953 VIEWS

ภาษีขายของออนไลน์ เป็นเรื่องที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ควรทำความเข้าใจ ทั้ง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อจะได้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง และไม่มีปัญหาถูกประเมินภาษีย้อนหลัง

ภาษีขายของออนไลน์ สำหรับบุคคลทั่วไป

โดยปกติแล้วเมื่อบุคคลทั่วไปเริ่มทำธุรกิจขายของออนไลน์จะมีภาษี 2 ตัวที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งสามารถลงรายละเอียดได้ดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เกี่ยวข้องกับการขายของออนไลน์

โดยปกติ รายได้ที่ได้รับจากการขายของออนไลน์ มักจะอยู่ในรูปแบบการขายของแบบซื้อมาขายไป (กระเป๋า, รองเท้า, เครื่องสำอาง เป็นต้น) ซึ่งจัดเป็น เงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้ 40 (8)) และเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี หมายความว่า คุณจะต้องยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

แต่ถึงอย่างนั้น สรรพากรและภาษีก็ไม่ได้ใจร้ายกับพ่อค้าแม่ค้าอย่างที่คิด เพราะคุณสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 ช่องทาง (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น) ไม่ว่าจะเป็น การหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง

  • หากเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายเพราะกฎหมายให้สิทธิเหมาค่าใช้จ่ายตามยอดขายที่เกิดขึ้นในอัตรา 60% ของยอดขาย
  • หากเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง จะต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายในการยื่นภาษีด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีซื้อมาขายไป กฎหมายยังได้กำหนดวิธีคำนวณภาษีแบบเหมาจากยอดขายในอัตรา 0.5% อีกวิธีด้วย ซึ่งจะต้องนำมาใช้ก็ต่อเมื่อคำนวณแบบเหมาได้ค่าภาษีเกิน 5,000 บาท และค่าภาษีแบบเหมา 0.5% นั้นสูงกว่าวิธีปกติ

วิธีคำนวณภาษี จะคิดจากรายได้สุทธิ ไม่ใช่รายได้ที่ได้รับตลอดทั้งปี

พ่อค้าแม่ค้าหลายคน (ที่ทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา) มักจะเข้าใจผิดว่า การคำนวณภาษีสำหรับคนขายของคือ เมื่อมีรายได้เท่าไหร่ ให้นำเงินที่ได้นั้นมาคูณอัตราภาษีได้ทันที จึงทำให้หลายๆ คนเห็นจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายผิดไป ซึ่งในความจริงแล้ว อัตราภาษีที่คุณต้องจ่าย จะสามารถคำนวณได้จากเงินได้สุทธิ นั่นคือ

เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี

นั่นหมายความว่า คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนด และหากคุณมีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเหมาะสม ภาษีที่คุณจะต้องจ่ายก็จะลดน้อยลงไปด้วย

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ขายของต้องยื่นภาษีทั้ง ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วย

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายคนมักจะไม่รู้ว่า รายได้จากการค้าขายตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน ของทุกปี มากกว่า 60,000 บาท (กรณีโสด) หรือ รายได้รวมกับคู่สมรสแล้วเกิน 120,000 บาท คุณจะต้องทำการ ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ด้วย หมายความว่า ใน 1 ปี คุณจะต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี ควบคู่ไปกับการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ด้วยนั่นเอง โดยอาจจะต้องยื่นภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง (ประจำปี 1 ครั้ง และครึ่งปีอีก 1 ครั้งด้วย)

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เกี่ยวข้องกับ “ภาษีขายของออนไลน์”

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็น ภาษีขายของออนไลน์ ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะต้องเจอเมื่อยอดขายตลอดทั้งปีเกิน 1,800,000 บาท โดยกฎหมายจะบังคับให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ยอดขายเกิน 1,800,000 บาท (แต่จะเลือกเข้าระบบ VAT ก่อนยอดขายเกิน 1.8 ล้านก็สามารถทำได้เช่นกัน)

เมื่อจด VAT แล้วพ่อค้าแม่ค้าจะต้องจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากผู้บริโภค โดยคำนวณจากมูลค่าสินค้า แล้วนำส่งให้กรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บอีกที โดยต้องยื่นภาษีเป็นรายเดือน ซึ่งเรียกว่า “ภ.พ.30”

ดังนั้น เมื่อขายสินค้าจะต้องเรียกเก็บเงินจากลูกค้าเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 107 บาท (ค่าสินค้า 100 บาท + VAT 7 บาท) โดยค่าสินค้าจะทำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ส่วน VAT 7 บาท จะต้องนำส่งให้กรมสรรพากรในเดือนถัดไปโดยไม่ต้องนำไปคำนวณเป็นเงินได้ของกิจการ โดยภาษีที่เรียกเก็บจากตอนขายจะเรียกสั้นๆ ว่า ภาษีขาย

ในทางกลับกัน ถ้าซื้อสินค้ามาในราคา 107 บาท แสดงว่าสินค้านั้นจริงๆ ราคาเพียง 100 บาท แต่อีก 7 บาทนั้นคือ VAT ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จด VAT แล้วได้จ่ายตอนซื้อสินค้า ซึ่งค่าภาษี 7 บาทที่จ่ายไปตอนซื้อสินค้าเข้ามา เรียกสั้นๆ ว่า ภาษีซื้อ

การยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จด VAT แล้วจะมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน (เดือนภาษี) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องนำส่งหรือไม่ก็ตาม ซึ่งในแต่ละเดือนอาจเกิดผลลัพธ์แตกต่างกันดังต่อไปนี้

1. ภาษีขาย มากกว่า ภาษีซื้อ

กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมียอดขายมากกว่ายอดซื้อ ดังนั้น จึงมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) มากกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนจ่ายออกไป (ภาษีซื้อ) ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องนำส่วนต่างนี้มานำส่งให้กรมสรรพากรพร้อมกับการยื่นภาษีรายเดือน((มาตรา 82/3 วรรคสอง ประมวลรัษฎากร))

2. ภาษีขาย เท่ากับ ภาษีซื้อ

กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมียอดขายเท่ากับยอดซื้อ ดังนั้น จึงมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนจ่ายออกไป เช่นนี้ ผู้ประกอบการจึงไม่มีภาระต้องนำส่วนต่างนี้ แต่ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีรายเดือนอยู่ดี

3. ภาษีขาย น้อยกว่า ภาษีซื้อ

กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมียอดขายน้อยยอดซื้อ ดังนั้น จึงมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนจ่ายออกไป เช่นนี้ ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษี เพราะตนจ่ายออกไปมากกว่าที่เรียกเก็บได้

ภาษีซื้อที่เหลืออยู่เนื่องจากหักออกจากภาษีขายไม่หมดนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถเลือกใช้ประโยชน์เป็นเครดิตภาษีสำหรับการยื่นภาษีครั้งต่อไป หรือขอเงินคืนภาษีก็ได้

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในกรณีที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จด VAT แล้ว จะได้ประโยชน์จากการซื้อขายสินค้าและบริการ คือ สามารถนำ VAT ที่ตัวเองจ่ายไปในฐานะภาษีซื้อมาหักกลบกับภาษีขาย ทำให้ภาระต้นทุนต่ำลงได้

เช่น จากเดิมต้นทุน 107 บาทจะเหลือเพียง 100 บาท เพราะลูกค้าของผู้ประกอบการจะเป็นผู้แบกรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 บาทให้แทน

อย่างไรก็ดี แม้ต้นทุนเรื่องสินค้าหรือบริการจะลดลง แต่การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะมีต้นทุนค่าทำบัญชีเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

หากคุณไม่แน่ใจว่า ธุรกิจของคุณจะต้องปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์และอยากทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถติดต่อสอบถามค่าบริการวางแผนภาษีที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณกับ iTAX sme สอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)