การผ่อนจ่ายภาษี กับเรื่องที่ผู้เสียภาษีต้องรู้

ทั่วไป

50,575 VIEWS

สรรพากรยุคใหม่ไม่ใช่แค่ช่วยให้ผู้เสียภาษีสามารถยื่นภาษีเงินได้ประจำปีและจ่ายภาษีได้สะดวกมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มสามารถผ่อนจ่ายภาษีได้ 3 งวดแบบไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย ส่วนเงื่อนไขของการผ่อนจ่ายภาษีมีอะไรบ้างไปดูกัน

เงื่อนไขของ การผ่อนจ่ายภาษี

ในกรณีที่ยื่นภาษีแล้วมีค่าภาษีต้องจ่ายเพิ่ม กรมสรรพากรเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีผ่อนชำระภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ก็สามารถผ่อนชำระภาษีได้ โดยมีเงื่อนไขหลักๆ ได้แก่

  • ภาษีที่ผ่อนชำระได้ต้องมียอดเงินตั้งแต่ 3,000 บาท ขึ้นไป
  • สามารถผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวดเท่าๆ กัน โดยไม่มีดอกเบี้ย และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • สามารถขอรับสิทธิ์ตอนยื่นภาษีได้ทั้งบนเว็บไซต์สรรพากร www.rd.go.th (กรณียื่นภาษีออนไลน์) และสำนักงานสรรพากรท้องที่ (กรณียื่นแบบกระดาษ)

วิธีการผ่อนจ่ายภาษี

กรมสรรพากรได้กำหนดการผ่อนจ่ายภาษีไว้เป็น 2 กรณี ดังนี้

1. ยื่นภาษีแบบกระดาษ

หากคุณเลือกยื่นภาษีแบบกระดาษ และมีความประสงค์ต้องการแบ่งชำระค่าภาษีก็สามารถทำได้ติดต่อสำนักงานสรรพากรท้องที่ และสามารถขอเอกสาร บ.ช. 35 จากเจ้าหน้าที่สรรพากรท้องที่ได้เลย และจำให้ขึ้นใจว่า คุณจะต้อง

  • จ่ายภาษีงวดที่ 1 พร้อมกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี
  • จ่ายภาษีงวดที่ 2 ภายในวันที่ 30 เมษายน
  • จ่ายภาษีงวดที่ 3 ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม

2. ยื่นภาษีออนไลน์

หากคุณเลือกยื่นภาษีออนไลน์ นอกจากจะยืดกำหนดเวลายื่นภาษีออกไปได้อีก 8 วันแล้ว ยังสามารถเลือกทำรายการแบ่งจ่ายภาษีได้บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้เลย (คุณสามารถเลือกได้ด้วยตัวเองว่าต้องการผ่อนจ่ายภาษีหรือไม่

เมื่อผู้เสียภาษียืนยันแบบแสดงรายการภาษีแล้ว หากมียอดภาษีที่ต้องจ่ายตั้งแต่ 3,000 บาท ระบบของกรมสรรพากรจะแจ้งข้อความอัตโนมัติว่า ประสงค์ที่จะผ่อนชำระภาษีหรือไม่? หากไม่ต้องการผ่อนจ่ายภาษีก็สามารถเลือก ไม่ประสงค์ผ่อนชำระ ได้) โดยกำหนดการผ่อนจ่ายภาษีออนไลน์ แบ่งเป็น

  • จ่ายภาษีงวดที่ 1 ภายในวันที่ 8 เมษายน (วันสุดท้ายที่กรมสรรพากรกำหนดให้ยื่นภาษีออนไลน์)
  • จ่ายภาษีงวดที่ 2 ภายในวันที่ 8 พฤษภาคม ( 1เดือนหลังจากวันที่จ่ายภาษีงวดที่ 1)
  • จ่ายภาษีงวดที่ 3 ภายในวันที่ 8 มิถุนายน (1 เดือนหลังจากวันที่จ่ายภาษีงวดที่ 2)

ผ่อนชำระภาษีได้ผ่านทางไหนบ้าง?

1. จ่ายภาษีผ่าน E-Payment

คุณสามารถจ่ายภาษีผ่านช่องทาง E-Payment ได้ไม่ว่าจะเป็น Internet Credit Card, ATM on Internet โดยสามารถทำรายการผ่านจากระบบของกรมสรรพากรไปสู่ระบบของธนาคารได้

2. จ่ายภาษีผ่านช่องทางอื่น

ไม่ว่าจะเป็น ATM, Phone Banking, Internet Banking, Mobile Banking, Counter Service โดยการปริ๊นท์ Pay In Slip ที่ระบุรายละเอียดเลขประจำตัวประชาชน หรือ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13  หลัก, รหัสควบคุม (15 หลัก) และจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ไปจ่ายภาษีตามช่องทางที่คุณสะดวกได้

3. จ่ายภาษีที่สำนักงานสรรพากรท้องที่

โดยสามารถจ่ายภาษีได้ทั้ง เงินสด, บัตรเครดิต, บัตรเดบิต, Tax Smart Card และสามารถจ่ายภาษีทั้งหมดที่ระบุใน Pay In Slip ได้

การผ่อนจ่ายภาษี กับเรื่องที่ผู้เสียภาษีต้องรู้

1. ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าต้องการผ่อนภาษีหรือไม่

หากคุณไม่อยากเสียเวลา เราแนะนำให้คุณคิดให้ดีๆ ว่าต้องการที่จะผ่อนจ่ายภาษีหรือพร้อมที่จะจ่ายภาษีเต็มจำนวน เพราะเมื่อคุณตัดสินใจไปผ่อนจ่ายภาษี (หรือจ่ายภาษีเต็มๆ) ไปแล้ว หากต้องการเปลี่ยนแปลงภายหลังจะต้องเริ่มต้นดำเนินการยื่นภาษีใหม่ตั้งแต่ต้น และที่สำคัญ คุณจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อยังไม่ได้ทำการชำระเงินภาษีเท่านั้น

นั่นหมายความว่า หากคุณเลือกจ่ายภาษีเต็มจำนวนไปแล้ว และได้จ่ายภาษีเสร็จเรียบร้อย คุณจะไม่สามารถกลับมาเลือกขอผ่อนชำระได้อีก ในทางกลับกันหากคุณเลือกผ่อนจ่ายภาษี 3 งวด และได้ทำการจ่ายภาษีงวดแรกเสร็จเรียบร้อย แต่เกิดเปลี่ยนใจต้องการจ่ายภาษีทั้งหมดในภายหลัง คุณจะไม่สามารถเลือกจากภาษีแบบเต็มจำนวนได้อีกแล้ว

2. ช่องทางการจ่ายภาษีก็สำคัญ

เราอยากให้คุณตัดสินใจให้ดีๆ ว่าสะดวกผ่อนจ่ายภาษีผ่านช่องทางใด โดยเฉพาะกรณีที่เลือกจ่ายผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา เพราะถ้าเลือกจ่ายงวดนึงผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแล้ว การผ่อนจ่ายภาษีงวดต่อๆ ไป (เช่น งวดที่ 2 หรือ งวดที่ 3) ก็จะต้องทำการจ่ายภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนมาผ่อนจ่ายภาษีผ่านช่องทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

3. สรรพากรพื้นที่ก็รับบัตรเครดิต

สำหรับใครที่อ่านข้อ 2 จบและเป็นกังวลว่า หากเลือกผ่อนชำระภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาไปแล้วจะต้องจ่ายภาษีงวดต่อๆ ไปด้วยเงินสดอย่างเดียวหรือไม่ เราขอบอกเลยว่า ไม่ต้องกังวลไป เพราะไม่ว่าคุณจะสะดวกจ่ายภาษีด้วย เงินสด, บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ก็ไม่เป็นปัญหา สำนักงานสรรพากรพื้นที่รับได้ทั้งหมด

4. ผ่อนจ่ายภาษีต้องตรงเวลา

หากคุณเลือกที่จะผ่อนชำระภาษี คุณจะต้องทำการจ่ายภาษีให้ตรงเวลา และหยุดจ่ายภาษีกลางทางไม่ได้เด็ดขาด เพราะเมื่อคุณลืม หรือไม่ได้จ่ายภาษีงวดใดงวดหนึ่ง สิทธิ์ในการผ่อนจ่ายภาษีของคุณจะหยุดลงทันที และคุณจะต้องจ่ายภาษีที่เหลือค้างอยู่ทั้งหมด และจะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือด้วย

5. สรรพากรกับระบบแจ้งเตือน เมื่อครบกำหนดต้องจ่ายภาษี

ในกรณีที่คุณเลือกผ่อนจ่ายภาษี 3 งวด ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมจ่ายภาษีในงวดถัดไป เพราะกรมสรรพากรมีบริการแจ้งเตือนผู้เสียภาษีเมื่อครบกำหนดเวลาชำระภาษีผ่านทาง SMS

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าคุณจะเลือกจ่ายภาษีแบบเต็มจำนวน หรือผ่อนจ่ายภาษีจะต้องตัดสินใจและวางแผนทางการเงินให้ดี ไม่อย่างนั้น คุณอาจจะต้องจ่ายภาษีพร้อมเงินเพิ่ม หรือค่าปรับโดยไม่จำเป็นก็ได้ iTAX เป็นห่วง

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)