พี่บิณฑ์ รับเงินบริจาคต้องเสียภาษีมั้ย? (วิเคราะห์แบบไม่ดราม่า)

ทั่วไป

5,998 VIEWS

นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จักพี่บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ในฐานะนักแสดงจิตอาสาจากการลงพื้นที่น้ำท่วมภาคอีสานจนยอดรับบริจาคผ่านบัญชีส่วนตัวกว่า 422 ล้านบาท จึงนำมาสู่ประเด็นที่พี่บิณฑ์ให้ข่าวว่า
 
“เพราะผมไม่รู้อนาคตข้างหน้า เรื่องสรรพากรจะมาเล่นผมไหม ผมกลัวมาก มีคนขู่ผมเยอะเหลือเกิน ว่าระวังนะ เขาบอกว่าระวังนะ เขาพูดปากเปล่าว่ารับรองไม่เสียภาษี เงินรายได้ เงินนี้ไม่ใช่รายได้ แต่เป็นเงินทำบุญ ปิดบัญชีแล้ว แต่มีคนบอกว่า ไม่แน่อีก 2-3 ปี อาจจะโดนภาษีย้อนกลับมาหาเรา คือมันอาจจะเกิดขึ้นได้ ผมกราบละครับ ขอไหว้ละครับ อย่าทำอย่างนั้นกับผมเลย”
 
ที่มา ข่าวสด https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_2954133
 
จากประเด็นดังกล่าวจุดชนวนดราม่าในโซเชียลมีเดียต่างๆ นานาว่าสุดท้ายเงินบริจาคที่รับโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของพี่บิณฑ์ต้องเสียภาษีหรือไม่ iTAX จึงขอสรุปทุกประเด็นที่ชาวโซเชียลสงสัยเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับทุกฝ่าย

1. เงินบริจาคเป็นรายได้ของพี่บิณฑ์ไหม?

ไม่เป็น โดยหลักกฎหมายแล้ว เงินได้ที่ต้องเสียภาษีต้องเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้รับรวยขึ้น เช่น ค่าจ้าง ค่าเช่า รายได้จากการทำธุรกิจ หรือเงินให้เปล่าจำนวนสูงๆ แต่ในกรณีนี้ หากข้อเท็จจริงยืนยันว่าเงินบริจาคเหล่านี้พี่บิณฑ์ไม่ได้นำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว บัญชีส่วนตัวของพี่บิณฑ์ก็จะมีสถานะเป็นเพียงกระเป๋าบุญสำหรับส่งต่อเงินบริจาคนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเท่านั้น ไม่เป็นรายได้ที่พี่บิณฑ์ต้องนำไปเสียภาษีแต่อย่างใด

2. แล้วพี่บิณฑ์จะกลัวเรื่องภาษีไปทำไม ในเมื่อไม่ได้ทำอะไรผิด?

จริงอยู่ว่าตามข้อเท็จจริงที่รับรู้กัน เงินบริจาคนั้นไม่ใช่และไม่ควรถือว่าเป็นรายได้ของพี่บิณฑ์ด้วย แต่ด้วยความที่เป็นการโอนเข้าบัญชีส่วนตัวอาจทำให้แยกตัวเลขส่วนที่เป็นรายได้และเงินบริจาคไม่ออก ถ้าพี่บิณฑ์พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เจ้าหน้าที่เชื่อไม่ได้ เงินบริจาคที่โอนเข้าบัญชีส่วนตัวอาจจะกลายเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีของพี่บิณฑ์ทั้งจำนวนเลยก็ได้
 
ซึ่งจะนำมาสู่ภาระภาษีจำนวนมาก หากได้เงินบริจาค 422 ล้านบาทตามข่าวแล้วต้องนำไปเสียภาษีจริงๆ แล้วเสียภาษีในอัตราภาษีสูงสุด 35% ค่าภาษีอาจจะสูงถึง 147.7 ล้านบาทได้เลย

3. แล้วถ้าโดนภาษีย้อนหลังจริง จะเกิดอะไรขึ้นกับพี่บิณฑ์?

พี่บิณฑ์จะถูกเรียก ค่าปรับภาษี (เบี้ยปรับ) อีกอย่างน้อย 1 เท่าของค่าภาษี อันอาจเกิดขึ้นได้หากยื่นภาษีไม่ครบถ้วน ซึ่งถ้าค่าภาษีส่วนนี้เป็นเงิน 147.7 ล้านบาท พี่บิณฑ์จะถูกประเมินเบี้ยปรับอีก 147.7 ล้านบาท รวมเป็นเงินเกือบๆ 300 ล้านบาทเลยทีเดียว (นี่ยังไม่รวมดอกเบี้ย (เงินเพิ่ม) อีก 1.5% ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปีจนกว่าจะชำระค่าภาษีเรียบร้อยด้วย)
 
มีกรณีศึกษาใกล้เคียงกันที่แกนนำกิจกรรมทางการเมืองเปิดบัญชีส่วนตัวรับเงินบริจาคเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองแล้วคนเปิดบัญชีถูกประเมินภาษีย้อนหลังเป็นเงิน 572 ล้านบาทจนถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย (ที่มา https://www.naewna.com/politic/444938)

4. ภาษีย้อนหลังนี่ย้อนหลังได้ไกลแค่ไหน

ถ้าเป็นกรณี ยื่นภาษีไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่สามารถประเมินย้อนหลังได้ 2 ปี แต่ถ้าเป็นกรณีหลีกเลี่ยงภาษีอาจขยายระยะเวลาได้สูงสุด 5 ปี

5. ถ้าเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเงินทั้ง 422 ล้านบาทเป็นเงินบริจาคช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมจริงๆ พี่บิณฑ์ก็จะไม่โดนอะไรใช่ไหม?

ไม่โดน ถ้าพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ตามข่าว ยอดเงินบริจาคที่โอนเข้าบัญชีก็จะไม่เป็นรายได้ของพี่บิณฑ์ จึงไม่มีหน้าที่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีแต่อย่างใด
 

6. แต่สมมติว่าพี่บิณฑ์โดนภาษีย้อนหลังจริงๆ เดี๋ยวพวกเราช่วยกันโอนเงินช่วยค่าภาษีให้พี่บิณฑ์ได้ไหม?

คราวนี้เงินค่าภาษีที่ช่วยจ่ายให้พี่บิณฑ์ก็จะกลายเป็นรายได้ของพี่บิณฑ์ที่ต้องเอาเสียภาษีแน่นอน เพราะภาษีเงินได้เป็นภาษีทางตรงที่ผู้เสียภาษีไม่สามารถผลักภาระการเสียภาษีไปให้คนอื่นรับผิดชอบแทนได้
 
ดังนั้น เงินค่าภาษีที่มีคนออกให้พี่บิณฑ์เป็นเงินที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนเลยว่าต้องนำมาเสียภาษีด้วยเพราะพี่บิณฑ์ได้รับประโยชน์จากเงินก้อนนี้เป็นการส่วนตัวอย่างชัดเจน

สมมติว่า

พี่บิณฑ์โดนประเมินภาษีเป็นเงิน 300 ล้านบาท แล้วทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันโอนเงินช่วยค่าภาษีให้พี่บิณฑ์ 300 ล้านบาท พี่บิณฑ์จะต้องนำเงิน 300 ล้านบาทไปเสียภาษีอีกรอบ ถ้าเสียภาษีในอัตรา 35% ก็จะโดนภาษีอีก 105 ล้านบาท
 
แล้วถ้าทุกคนยังคงร่วมแรงร่วมใจกันโอนเงินช่วยค่าภาษีให้พี่บิณฑ์อีก 105 ล้านบาท ถ้าเสียภาษีในอัตรา 35% พี่บิณฑ์ก็จะโดนภาษีอีก 36.75 ล้านบาท และจะคำนวณภาษีแบบนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีคนช่วยพี่บิณฑ์ออกค่าภาษีแทนให้จนกว่าทุกคนจะหยุดจ่ายภาษีแทนพี่บิณฑ์

7. เคยได้ยินว่ามีกฎหมายใหม่ที่ว่าเงินโอนเข้าบัญชี 3,000 ครั้งอะไรนี่จะถูกสรรพากรเรียกประเมินภาษีหรืออะไรเนี่ยแหละ มีความเสี่ยงอะไรกับพี่บิณฑ์ไหม?

ไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด การมีเงินโอนเข้าบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี หรือตั้งแต่ 400 ครั้งและมียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาท กฎหมายเรียกว่าเป็น “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” ซึ่งจะอยู่ในเกณฑ์ที่ธนาคารและสถาบันการเงินต้องรายงานธุรกรรมลักษณะเฉพาะดังกล่าวให้กรมสรรพากรรับทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการเสียภาษีของเจ้าของบัญชีต่อไป
 
แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเป็นธุรกรรมลักษณะเฉพาะแล้วจะต้องโดนประเมินภาษีเสมอไป
 
เพราะเจ้าหน้าที่อาจจะไม่เรียกประเมินภาษีเลยก็ได้หากเห็นว่าเสียภาษีถูกต้องเรียบร้อยแล้ว หรือหากเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือให้ชี้แจงที่มาที่ไปแล้วสามารถพิสูจน์ให้เชื่อได้ว่าเป็นเงินบริจาคช่วยผู้ประสบภัยจริงๆ ไม่ใช่รายได้ของตัวเอง ต่อให้เข้าข่ายเป็นธุรกรรมลักษณะเฉพาะก็ไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด

ดังนั้น

สำหรับกรณีพี่บิณฑ์คาดว่าเงินบริจาคเข้าระดับ 422 ล้านน่าจะเข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะแน่นอน แต่จะถูกเรียกประเมินภาษีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีเหตุอันควรสงสัยอะไรหรือไม่ ถ้าไม่มีเหตุให้สงสัยหรือต่อให้มีแต่พี่บิณฑ์สามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ว่าเงินบริจาคดังกล่าวไม่ใช่รายได้ของพี่บิณฑ์ ก็จะไม่เรื่องประเมินภาษีย้อนหลังให้กังวลใจแน่นอน

8. เพื่อความสบายใจ iTAX มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง?

ถ้าเป็นไปได้ในระยะยาว หากพี่บิณฑ์สามารถตั้งมูลนิธิที่เป็นองค์กรการกุศลสาธารณะได้ มูลนิธิก็จะมีบัญชีธนาคารเป็นของตัวเองซึ่งจะแยกขาดจากบัญชีส่วนตัวของพี่บิณฑ์อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ผู้บริจาคยังสามารถนำเงินบริจาคเข้ามูลนิธิของพี่บิณฑ์ไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
 
แต่ถ้าเป็นกรณีเร่งด่วนจริงๆ เมื่อเสร็จจากภารกิจกู้ภัยแล้ว อาจจะต้องดึงรายงานเดินบัญชีย้อนหลังมาดูว่ารายการไหนบ้างที่เป็นเงินบริจาคและรายการไหนบ้างที่เป็นรายได้ส่วนตัว
ซึ่งวิธีนี้อาจจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าวิธีแรก เพราะต้องลุ้นกันต่อว่าเจ้าหน้าที่จะเชื่อตามที่ชี้แจงทุกรายการหรือไม่เนื่องจากบัญชีส่วนตัวนี้อาจจะมีรายได้ส่วนตัวปะปนอยู่ด้วย
 
อย่างไรก็ดี การเปิดเป็นบัญชีที่แยกต่างหากเพื่อวัตถุประสงค์ในการรับเงินบริจาคโดยเฉพาะแล้วปิดบัญชีไปเลยเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็อาจพอช่วยแยกเงินรายได้ส่วนตัวและเงินบริจาคออกจากกันได้อย่างชัดเจนขึ้น และเห็นได้ว่าเงินทุกบาทที่เข้าบัญชีนี้ออกไปหาใครบ้าง ซึ่งจะช่วยให้การชี้แจงง่ายขึ้น

สรุป

ความกังวลเรื่องถูกประเมินภาษีเป็นเรื่องปกติที่พี่บิณฑ์อาจจะกังวลได้เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉิน แต่การถูกประเมินภาษีก็เป็นเรื่องที่สามารถควบคุมได้เช่นกันถ้าสามารถชี้แจงที่มาที่ไปของเงินที่เข้าบัญชีได้อย่างถูกต้อง หากบริหารจัดการดีๆ เชื่อว่าต่อให้มีการประเมินภาษีย้อนหลังจริง พี่บิณฑ์ก็จะสามารถชี้แจงได้อย่างแน่นอน
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)