7 เหตุผลที่ศาล รธน. มีมติ 9:0 ‘ธรรมนัส’ ไม่ขาดคุณสมบัติ รมต.

ทั่วไป

ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2564 ฉบับเต็ม ในคดีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9:0 ให้ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ โดยคำวินิจฉัยดังกล่าวมีความยาว 10 หน้ากระดาษา

ศาล รธน. ชี้โทษหนีภาษีเข้าลักษณะฟอกเงิน มาตรา 37 ตรี ประมวลรัษฎากร ขัด รธน.

สรุป 7 เหตุผลที่ ‘ธรรมนัส’ ยังเป็น รมต. ได้

ทีมงาน iTAX ได้อ่านคำวินิจฉัยดังกล่าวและสรุปเหตุผลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เป็น 7 เหตุผล ดังนี้

  1. สําเนาคําพิพากษาศาลของรัฐนิวเซาท์เวลส์ว่า ร.อ.ธรรมนัส ถูกพิพากษาจำคุกในฐานความผิด “เป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้ายาเสพติด” ไม่ได้มีการรับรองความถูกต้องจากรัฐนิวเซาท์เวลส์ จึงไม่สามารถรับรองความถูกต้องได้ อีกทั้ง ร.อ.ธรรมนัส ไม่รับรองว่าคำพิพากษาในฐานความผิดที่กล่าวอ้างนั้นถูกต้อง และยืนยันว่าตนไม่เคยถูกดำเนินคดีในข้อหา “เป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้ายาเสพติด” ทั้งในประเทศไทยและออสเตรเลีย
  2. ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบเอกสารในสำนวนแล้วพบว่าไม่ใช่คำพิพากษาตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นเพียงสําเนาคําร้องขออนุญาตอุทธรณ์ภายหลังจากพ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของผู้ถูกร้อง และสําเนาคําสั่งศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ที่สั่งไม่รับคําร้องขออนุญาตอุทธรณ์ดังกล่าว แม้ศาลรัฐธรรมนูญใช้วิธีพิจารณาคดีระบบไต่สวน แต่คู่กรณีก็ยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องเสนอพยานหลักฐานประกอบคําร้องในเบื้องต้นต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งเมื่อสอบถาม ร.อ.ธรรมนัส และปลัดกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ทั้งคู่ก็ไม่สามารถจัดหาสำเนาคำพิพากษานั้นมาได้เช่นกัน
  3. ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่าถูกพิพากษาจำคุกในฐานความผิด “รู้เห็นเกี่ยวกับการนําเข้ายาเสพติด” ซึ่งเป็นฐานความผิดตามกฎหมายออสเตรเลีย แต่ฐานความผิด “รู้เห็นเกี่ยวกับการนําเข้ายาเสพติด” ไม่ใช่ฐานความผิดตามกฎหมายไทย
  4. ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า “ความผิดตามกฎหมาย” และ “ต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุด” ย่อมหมายถึงเฉพาะกฎหมายไทยและคําพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลไทยเท่านั้น หากรัฐธรรมนูญต้องการให้หมายความรวมถึงคําพิพากษาของศาลประเทศอื่น จะต้องระบุให้ชัดเจน
  5. โดยปกติ ต่อให้เป็นความผิดฐานเดียวกันกับกฎหมายไทย คําพิพากษาของศาลต่างประเทศที่พิพากษาลงโทษก็ไม่ได้มีผลผูกพันให้ศาลไทยต้องพิพากษาว่าผิดตามด้วย
  6. การสิ้นสภาพความเป็น ส.ส. และรัฐมนตรี ต้องตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพราะเป็นข้อกฎหมายที่จัดกัดสิทธิของบุคคล และไม่สามารถนำมาบังคับใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ได้ เพราะจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่มีผลย้อนหลัง
  7. ประเด็นความเหมาะสมในการดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัส เคยถูกพิพากษาจำคุกในต่างประเทศนั้น ไม่อยู่ในอํานาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยได้

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2564 ฉบับเต็ม (10 หน้า)

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ศาลรัฐธรรมนูญ

คําวินิจฉัยที่ 6/2564

เรื่องพิจารณาที่ 13/2563

วันที่ 5 เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช 2564

ระหว่าง

  • ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร้อง
  • ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ถูกร้อง

เรื่อง ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82

วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่

ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ส่งคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ข้อเท็จจริงตามคําร้อง และเอกสารประกอบคําร้อง สรุปได้ดังนี้

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะ รวม 51 คน เข้าชื่อเสนอคําร้องต่อผู้ร้องว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดพะเยา เขตเลือกตั้งที่ 1 และรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ผู้ถูกร้อง) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) และเป็นเหตุให้ ความเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538 ขณะนั้นผู้ถูกร้องใช้ชื่อว่า “นายมนัส โบพรหม” ต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า ตามคําพิพากษาของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เลขที่ 60449/94 และ 60434/64 (ที่ถูก/94) ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 โดยในการกระทําความผิดดังกล่าว ศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้พิพากษาลงโทษจําคุก “ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า” หรือ “นายมนัส โบพรหม” เป็นระยะเวลาหกปี โดยกําหนดโทษเป็นระยะเวลาขั้นต่ำสี่ปีและระยะเวลาห้ามปล่อยตัวอีกสองปี รายละเอียดปรากฏตามสําเนาคําพิพากษาและคําแปลคําพิพากษาศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ดังกล่าว การที่ผู้ถูกร้องซึ่งเคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุดว่าได้กระทําความผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า ซึ่งยาเสพติด แม้จะเป็นคําพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ตาม ย่อมเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 94 (10) ประกอบมาตรา 101 (6) และเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) ด้วย

ผู้ร้องตรวจสอบลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอคําร้องแล้วเห็นว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันเข้าชื่อเสนอคําร้องจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงส่งคําร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ดังนี้

  1. สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10)
  2. มีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอํานาจรับคําร้องไว้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้องเป็นกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จํานวน 51 คน ซึ่งเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อร้องต่อผู้ร้องขอให้ส่งคําร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) และผู้ร้องยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (5) และ (9) ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคําสั่งรับคําร้องไว้วินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา สําหรับการพิจารณากรณีให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง หรือไม่ นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้องยังไม่มีเหตุอันควรสงสัยที่จะมีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคําสั่งว่าผู้ถูกร้องไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

ผู้ถูกร้องยื่นคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบ สรุปได้ว่า สําเนาคําพิพากษาศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เลขที่ 60449/94 และ 60434/64 (ที่ถูก/94) ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 และคําแปลซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายประกอบคําร้องของผู้เข้าชื่อเสนอคําร้องต่อผู้ร้องนั้นเป็นสําเนาเอกสารที่ไม่ได้รับรองความถูกต้องแท้จริงมาจากศาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ไม่สามารถยืนยัน หรือรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ รวมถึงคําแปลมิได้มีการรับรองการแปลที่ถูกต้องของเอกสารตามกฎหมาย ซึ่งเอกสารดังกล่าวมิใช่คําพิพากษาในคดีที่ผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง หากแต่เป็นเพียงสําเนาคําร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เท่านั้น ผู้ถูกร้องไม่รับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารและคําแปลดังกล่าว ผู้ถูกร้องยืนยันว่าไม่เคยถูกจับกุม คุมขัง ฟ้องร้อง หรือดําเนินคดีในข้อหาหรือฐานความผิดเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า ซึ่งยาเสพติดให้โทษ ไม่ว่าจะเป็นในราชอาณาจักรไทยหรือรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย รวมถึงไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมว่าเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า ซึ่งยาเสพติดให้โทษด้วย ผู้ถูกร้องยืนยันว่าคดีที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ผู้ถูกร้องถูกจับกุม ฟ้องร้องและดําเนินคดีในข้อหาหรือฐานความผิด “รู้เห็นเกี่ยวกับการนําเข้า” ปรากฏตามสําเนาคําพิพากษาของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ย่อหน้าแรก ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายของเครือรัฐออสเตรเลีย และผู้ร้องก็ไม่มีคําพิพากษาของศาลแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่วินิจฉัยตามที่กล่าวหาผู้ถูกร้อง กรณีความผิดตามที่ผู้ถูกร้องถูกกล่าวหา จับกุม และดําเนินคดี คือ รู้เห็นว่ามีการกระทําความผิดร้ายแรงแล้วไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายของเครือรัฐออสเตรเลีย แต่ในความผิดดังกล่าวไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมายไทย ถ้อยคําในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ที่ว่า “ความผิดตามกฎหมาย” และ “ต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุด” ย่อมหมายถึง เฉพาะกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทยและคําพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแห่งราชอาณาจักรไทยเท่านั้น หากรัฐธรรมนูญต้องการจะให้หมายความครอบคลุมคําพิพากษาของศาลในรัฐอื่น จะต้องระบุให้ชัดแจ้ง อีกทั้งคําพิพากษาของศาลต่างประเทศในคดีอาญาจะมีผลต่อการพิจารณาของศาลไทยในความผิดเดียวกันหรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติศาลไทยจะถือว่าคําพิพากษาของศาลต่างประเทศเป็นเพียงพยานเอกสารเท่านั้น มิได้ผูกพันหรือบังคับให้ศาลไทยต้องยึดถือหรือปฏิบัติตามแต่อย่างใด เนื่องจากหลักอธิปไตย และความเป็นอิสระของรัฐแต่ละรัฐ ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) เป็นบทบัญญัติจํากัดสิทธิของบุคคล ต้องตีความอย่างเคร่งครัดและไม่สามารถนํามาบังคับใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ได้ เพราะเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่มีผลย้อนหลัง อย่างไรก็ตาม แม้กรณีของผู้ถูกร้องไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) และผู้ถูกร้องมีสิทธิโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในการดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีต่อไปก็ตาม แต่ผู้ถูกร้องยังมีความรับผิดทางการเมือง เช่น ต้องชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น

เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา อาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 วรรคสาม ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเรียกสําเนาคําพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 31 มีนาคม 2537 และสําเนาคําพิพากษาของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 และเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (เพื่อดําเนินการช่องทางทางการทูต) โดยมีทางราชการรับรองสําเนาถูกต้อง

ผู้ร้องส่งสําเนาคําพิพากษาของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 ที่รับรองสําเนาโดย นายณัฐชา บุญไชยปืนสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล และคําแปลที่รับรองว่าแปลถูกต้องโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. คารินา โชติรวี ส่วนสําเนาคําพิพากษา ของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 31 มีนาคม 2537 ผู้ร้องชี้แจงว่าเป็นเอกสารที่มิได้อยู่ในความครอบครองของผู้ร้อง

ผู้ถูกร้องชี้แจงว่า ผู้ถูกร้องไม่มีสําเนาคําพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 31 มีนาคม 2537 และสําเนาคําพิพากษาของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 เนื่องจากขณะเกิดเหตุฟ้องร้องคดีนั้นผู้ถูกร้องไม่มีความรู้ความเข้าใจในภาษาอังกฤษเกี่ยวกับกฎหมายดีพอและไม่เข้าใจกระบวนพิจารณาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ และศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ประกอบกับระยะเวลาผ่านมากว่า 25 ปี แต่ผู้ถูกร้องเคยมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังปลัดกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ตรวจสอบคําพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์และศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลียดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับสําเนาคําพิพากษาดังกล่าว แต่อย่างใด

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า สําเนาคําพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 31 มีนาคม 2537 และสําเนาคําพิพากษาของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 เป็นข้อมูลของทางการออสเตรเลีย และไม่อยู่ในความครอบครองของกระทรวงการต่างประเทศที่จะจัดส่งให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญได้

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคําร้อง คําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คําชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกําหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้

  • ประเด็นที่หนึ่ง สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด
  • ประเด็นที่สอง ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 บัญญัติว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลง เมื่อ … (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98” และมาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร … (10) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมหรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน …”

คดีนี้ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ว่ากระทําความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด ผู้ถูกร้องโต้แย้งว่าผู้ถูกร้องเคยถูกดําเนินคดีข้อหา “รู้เห็นเกี่ยวกับการนําเข้า” ซึ่งยาเสพติดเท่านั้น ไม่เคยต้องคําพิพากษาในความผิดฐานตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เอกสารประกอบคําร้องไม่ใช่สําเนาคําพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย และไม่ได้รับการรับรองสําเนาถูกต้อง ดังนั้น คําพิพากษา ของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย จึงเป็นสาระสําคัญในการวินิจฉัยคดี แต่ไม่มีคู่กรณีฝ่ายใด เสนอสําเนาคําพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ต่อศาลรัฐธรรมนูญเลย แม้ศาลรัฐธรรมนูญใช้วิธีพิจารณาคดีระบบไต่สวน แต่คู่กรณีก็ยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องเสนอพยานหลักฐาน ประกอบคําร้องหรือคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในเบื้องต้นต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อคู่กรณีมีได้ดําเนินการ ศาลรัฐธรรมนูญจึงดําเนินการไต่สวนโดยมีหนังสือเรียกให้ผู้เกี่ยวข้องจัดส่งสําเนาคําพิพากษาดังกล่าว ที่มีการรับรองสําเนาถูกต้องโดยทางราชการ รวมทั้งให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศดําเนินการช่องทางทางการทูตเพื่อให้ได้มาซึ่งสําเนาคําพิพากษานั้นด้วย จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญตรวจพยานเอกสารทั้งหลายในสํานวนแล้ว ปรากฏว่า เอกสารแนบท้ายคําร้องและเอกสารที่ผู้ร้องจัดส่งตามหนังสือเรียกซึ่งอ้างว่าเป็นสําเนาคําพิพากษา ของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 31 มีนาคม 2537 และสําเนาคําพิพากษาของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 นั้น แท้จริงเป็นเพียงสําเนาคําร้องขออนุญาตอุทธรณ์ภายหลังจากพ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของผู้ถูกร้อง ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 และสําเนาคําสั่งศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 30 มีนาคม 2538 ที่สั่งไม่รับคําร้องขออนุญาตอุทธรณ์ดังกล่าว ซึ่งผู้รับรองสําเนาถูกต้อง คือนิติกรชํานาญการพิเศษของสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย หรือเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย ฝ่ายผู้ถูกร้องเคยขอตรวจสอบคําพิพากษาดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้รับสําเนาคําพิพากษามาส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่สามารถหาสําเนาคําพิพากษาดังกล่าวมาจัดส่งแก่ศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน เมื่อไม่ได้สําเนาคําพิพากษาศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลียที่ศาลนั้นรับรองสําเนาถูกต้อง จึงไม่มีพยานหลักฐานอันเป็นสาระสําคัญ พยานเอกสารเท่าที่มีในสํานวนรับฟังข้อเท็จจริงได้เพียงว่า ผู้ถูกร้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดพะเยา เขตเลือกตั้งที่ 1 และดํารงตําแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนผู้ถูกร้อง สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกร้องรับว่าตนเคยต้องคําพิพากษาว่ากระทําความผิด ตามคําพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ได้ดําเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จริง แต่การดําเนินกระบวนพิจารณาเป็นอย่างไร วินิจฉัยพยานหลักฐานอย่างไร และมีคําพิพากษาในความผิดฐานใดจะตรงตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) บัญญัติหรือไม่ นั้น ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ดี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งรับคําร้องนี้ไว้วินิจฉัยแล้ว จึงมีปัญหาข้อกฎหมายสําคัญ ที่ต้องวินิจฉัยต่อไป

ประเด็นที่หนึ่ง สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด

มีข้อที่ต้องพิจารณาว่า คําว่า “เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุด” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หมายความถึง คําพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นหรือไม่

เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” และวรรคสอง บัญญัติว่า “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม” จากบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง อํานาจอธิปไตยเป็นอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ลักษณะสําคัญของอํานาจอธิปไตย คือมีความเด็ดขาดสมบูรณ์ไม่อยู่ในอาณัติหรืออยู่ภายใต้อํานาจของรัฐอื่น อํานาจอธิปไตยแยกตามลักษณะหน้าที่เป็น 3 ส่วน ได้แก่ อํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหาร และอํานาจตุลาการ โดยการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นการใช้อํานาจตุลาการอันเป็นส่วนหนึ่งของอํานาจอธิปไตย ย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือภายใต้อํานาจตุลาการของรัฐอื่น หลักการปกครองของประเทศที่มีอํานาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ มีหลักการสําคัญคือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตนโดยไม่มีการทําข้อตกลงหรือยินยอม ดังนั้น การบังคับตามคําพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ดี การตีความให้คําพิพากษาของศาลต่างประเทศ มีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับคําพิพากษาของศาลไทยก็ดี จึงไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว

ตามหลักอธิปไตยของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ คําพิพากษาของศาลรัฐใดก็จะมีผลในดินแดน ของรัฐนั้น ในบางกรณีรัฐใดรัฐหนึ่งอาจให้การรับรองคําพิพากษาของศาลอีกรัฐหนึ่งและอาจบังคับให้เป็นไปตามคําพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทําสนธิสัญญารับรองและบังคับตามคําพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีคดีทางแพ่ง คดีครอบครัว และคดีมรดก สําหรับคดีอาญาอาจได้รับการยอมรับพิจารณาบ้าง ในกรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือการโอนนักโทษ โดยมีเงื่อนไขสําคัญตามหลักการต่างตอบแทนในสนธิสัญญาว่ารัฐภาคีต้องผูกพันที่จะเคารพและปฏิบัติตามผลของคําพิพากษาของอีกรัฐภาคีหนึ่งด้วย ดังนั้น ทั้งหลักการและทางปฏิบัติของรัฐเกี่ยวกับการใช้อํานาจทางตุลาการจะได้รับการบัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศเพื่อยืนยันหลักความเป็นอิสระของตุลาการและความศักดิ์สิทธิ์ของคําพิพากษา เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีการกล่าวถึงคําพิพากษา จึงต้องหมายถึงคําพิพากษาของศาลแห่งรัฐหรือประเทศนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงคําพิพากษาของศาลต่างประเทศ

การตรากฎหมายอาญาของแต่ละประเทศกําหนดการกระทําที่เป็นความผิด องค์ประกอบของความผิด ฐานความผิด และเงื่อนไขการลงโทษไว้แตกต่างกัน โดยการกระทําอย่างเดียวกัน กฎหมายของบางประเทศอาจกําหนดให้เป็นความผิด แต่กฎหมายของไทยอาจไม่ได้กําหนดให้เป็นความผิดก็ได้ อีกทั้งหากตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ว่า “เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุด” หมายความรวมถึงคําพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย ก็จะมีความหมายกว้างขวางครอบคลุมถึงคําพิพากษาอันถึงที่สุดในความผิดตามกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับที่มาตรา 98 (10) ระบุ ซึ่งบางฉบับบัญญัติฐานความผิด แต่บางฉบับไม่ได้บัญญัติฐานความผิด เพียงระบุชื่อกฎหมายเท่านั้น เช่น กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นต้น จะทําให้ขอบเขตการยอมรับอํานาจศาลของรัฐอื่นขยายออกไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย ทั้งทําให้ไม่อาจกลั่นกรองหรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว และขัดต่อหลักการต่างตอบแทนดังกล่าวข้างต้น อันทําให้อํานาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสําคัญ

แม้ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเคยต้องคําพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ใช่คําพิพากษาของศาลไทย ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)

ประเด็นที่สอง ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด

รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ … (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 …” มาตรา 160 บัญญัติว่า “รัฐมนตรีต้อง … (6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 …” และมาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร … (10) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน …”

เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งไว้แล้วว่า ผู้ถูกร้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) จึงไม่มีเหตุทําให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ส่วนปัญหาว่าข้อกล่าวอ้างตามคําร้องเป็นเรื่องความเหมาะสมในการดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ไม่อยู่ในอํานาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10)

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายปัญญา อุตชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายจีรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)