ศาล รธน. ชี้โทษหนีภาษีเข้าลักษณะฟอกเงิน มาตรา 37 ตรี ประมวลรัษฎากร ขัด รธน.

กฎหมายออกใหม่

2,484 VIEWS

มาตรา 37 ตรี ประมวลรัษฎากร ขัด รธน. โดย ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติให้การหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีเป็นความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 37 ตรี นั้น เป็นบทบัญญัติที่ขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเรื่อง “ประมวลรัษฎากรมาตรา 37 ตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาตรา 29 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 7/2563)” โดยปรากฏตาม ข่าวที่ 13/2564 โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา – ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลแพ่งส่งคําโต้แย้งของนายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก รวม 22 คน (ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 13 ถึงที่ 25) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 37 หรือไม่ 

ผลการพิจารณา – ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากเห็นว่า ประมวลรัษฎากรมาตรา 37 ตรี ขัดรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

เหตุขัดรัฐธรรมนูญเพราะเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพทางด้านทรัพย์สินของบุคคล

มาตรา 37 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เป็นบทบัญญัติที่เพิ่มเข้าไปในประมวลรัษฎากรและมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2560 เป็นต้นมา โดยมีสาระสำคัญคือ หากผู้เสียภาษีโกงภาษีหรือหลีกเลี่ยงภาษีตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อปีภาษี หรือทำเรื่องขอคืนภาษีตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อปีภาษี ด้วยกลอุบายใดๆ และมีการทำเป็นขบวนการเพื่อปกปิดการกระทำดังกล่าว ให้กรมสรรพากรมีอำนาจดำเนินคดีฐานฟอกเงินได้

เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จึงหมายความว่าเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพทางด้านทรัพย์สินของบุคคล จึงไม่สามารถใช้บังคับได้อีกต่อไป

ข้อกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญจะใช้บังคับต่อไม่ได้

มาตรา 37 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อถูกวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้ว บทบัญญัติดังกล่าวย่อมตกไป ไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้อีก ดังนั้น จึงไม่สามารถเอาผิดผู้ที่หลีกเลี่ยงหรือหนีภาษีตามเงื่อนไขที่กำหนดด้วยความผิดฐานฟอกเงินได้อีก

รู้จักประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี

ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี บัญญัติว่า

“มาตรา 37 ตรี ความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ หรือมาตรา 90/4 ที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร และเป็นความผิดที่เกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่สิบล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือจำนวนภาษีอากรที่ขอคืนโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ตั้งแต่สองล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป และผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรดังกล่าวได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่าย โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร และมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้ ให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เมื่ออธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่าย ความผิดมูลฐานส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป

คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยอธิบดี รองอธิบดีและที่ปรึกษากรมสรรพากรทุกคน”

รู้จักรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 26 และมาตรา 37

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 26 บัญญัติว่า

“มาตรา 26 การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 37 บัญญัติว่า

“มาตรา 37 บุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก

ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)