วิเคราะห์ค่าภาษีตามยอดขาย 2566 ขายของได้เท่านี้ ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่?

SME

ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า “เมื่อมีรายได้จะต้องเสียภาษี” จนชินหู แต่สิ่งที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหลายคนไม่ได้ทำการยื่นภาษีให้ถูกต้อง เพราะอาจจะยังไม่แน่ใจว่า รายได้ที่ได้รับ หรือ ยอดขายที่มีในแต่ละเดือนนั้นถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีหรือยัง วันนี้ iTAX จะวิเคราะห์ว่า หากมีรายได้จากการขายของเท่านี้ จะต้องเสียภาษีเท่าไหร่? เริ่ม!

ต้องรู้ก่อนว่า รายได้จากการขายของ เป็นรายได้ประเภทไหน?

รายได้ที่ได้รับจากการขายของ ไม่ว่าจะเป็นการขายของแบบซื้อมาขายไป (กระเป๋า, รองเท้า, เครื่องสำอาง เป็นต้น) หรือการขายของออนไลน์  เป็น เงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้ 40 (8) ตามประมวลรัษฎากร) และเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี หมายความว่า คุณจะต้องยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

แต่ถึงอย่างนั้น สรรพากรและภาษีก็ไม่ได้ใจร้ายกับพ่อค้าแม่ค้าอย่างที่คิด เพราะคุณสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 ช่องทาง (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น) ไม่ว่าจะเป็น การหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง

  • หากเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายเพราะกฎหมายให้สิทธิเหมาค่าใช้จ่ายตามยอดขายที่เกิดขึ้นในอัตรา 60% ของยอดขาย
  • หากเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง จะต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายในการยื่นภาษีด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีซื้อมาขายไป กฎหมายยังได้กำหนดวิธีคำนวณภาษีแบบเหมาจากยอดขายในอัตรา 0.5% อีกวิธีด้วย ซึ่งจะต้องนำมาใช้ก็ต่อเมื่อคำนวณแบบเหมาได้ค่าภาษีเกิน 5,000 บาท และค่าภาษีแบบเหมา 0.5% นั้นสูงกว่าวิธีปกติ

เพิ่มเติมที่ : เงินได้ประเภทที่ 8

วิเคราะห์ค่าภาษีตามยอดขาย 2566

ภาษีตามยอดขาย 2563

หมายเหตุ ตารางการวิเคราะห์ค่าภาษีข้างต้น อยู่บนสมมติฐานว่า ผู้เสียภาษีเป็นบุคคลธรรมดาที่มีเพียง ค่าลดหย่อนส่วนตัว ฿60,000 และไม่มีรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากการซื้อมาขายไปเท่านั้น

ยอดขายเดือนละ ฿40,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿40,000 หรือต่ำกว่านั้น ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษี เนื่องจากกำไรยังไม่มากจนถึงขนาดต้องเสียภาษี

ยอดขายเดือนละ ฿50,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿50,000 จะเริ่มเข้าสู่ขั้นบันไดอัตราภาษี 5% โดยค่าภาษีสูงสุดจะไม่เกิน ฿1,500 หากใช้เหมาค่าใช้จ่ายต้นทุน 60% ของยอดขาย แต่ถ้าต้นทุนสูงกว่านั้นและมีหลักฐานมาแสดงได้ก็อาจไม่ต้องเสียภาษีเลย

ยอดขายเดือนละ ฿60,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿60,000 ยังอยู่ที่ขั้นบันไดอัตราภาษี 5% โดยค่าภาษีสูงสุดจะไม่เกิน ฿3,900 หากใช้เหมาค่าใช้จ่ายต้นทุน 60% ของยอดขาย แต่ถ้าต้นทุนสูงกว่านั้นและมีหลักฐานมาแสดงได้ก็อาจไม่ต้องเสียภาษีเลย

ยอดขายเดือนละ ฿70,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿70,000 จะเริ่มเข้าสู่ขั้นบันไดอัตราภาษี 10% โดยค่าภาษีสูงสุดจะไม่เกิน ฿6,300 หากใช้เหมาค่าใช้จ่ายต้นทุน 60% ของยอดขาย แต่ถ้าต้นทุนสูงกว่านั้นและมีหลักฐานมาแสดงได้ก็อาจไม่ต้องเสียภาษีเลย

ยอดขายเดือนละ ฿80,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿80,000 ยังอยู่ที่ขั้นบันไดอัตราภาษี 10% โดยค่าภาษีสูงสุดจะไม่เกิน ฿9,900 หากใช้เหมาค่าใช้จ่ายต้นทุน 60% ของยอดขาย แต่ถ้าต้นทุนสูงกว่านั้นและมีหลักฐานมาแสดงได้ก็อาจไม่ต้องเสียภาษีเลย

ยอดขายเดือนละ ฿90,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿90,000 ยังอยู่ที่ขั้นบันไดอัตราภาษี 10% แม้ว่ายอดขายรวมตลอดทั้งปีจะทะลุ 1 ล้านบาทแล้วก็ตาม โดยค่าภาษีสูงสุดจะไม่เกิน ฿14,700 หากใช้เหมาค่าใช้จ่ายต้นทุน 60% ของยอดขาย

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ : หากต้นทุนอยู่ที่ 80% หรือสูงกว่า กฎหมายจะเปลี่ยนไปใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา 0.5% ของยอดขายแทนการคำนวณภาษีจากกำไร เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่คำนวณแล้วค่าภาษีมากกว่าวิธีคำนวณภาษีจากกำไรแบบเดิม

ยอดขายเดือนละ ฿100,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿100,000 ยังอยู่ที่ขั้นบันไดอัตราภาษี 10% แม้ว่าจะมียอดขายต่อเดือนหลักแสนแล้วก็ตาม โดยค่าภาษีสูงสุดจะไม่เกิน ฿19,500 หากใช้เหมาค่าใช้จ่ายต้นทุน 60% ของยอดขาย

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ : หากต้นทุนอยู่ที่ 80% หรือสูงกว่า กฎหมายจะเปลี่ยนไปใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา 0.5% ของยอดขายแทนการคำนวณภาษีจากกำไร เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่คำนวณแล้วค่าภาษีมากกว่าวิธีคำนวณภาษีจากกำไรแบบเดิม

ยอดขายเดือนละ ฿120,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿120,000 จะเริ่มเข้าสู่ขั้นบันไดอัตราภาษี 15% โดยค่าภาษีสูงสุดจะไม่เกิน ฿29,900 หากใช้เหมาค่าใช้จ่ายต้นทุน 60% ของยอดขาย

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ : หากต้นทุนอยู่ที่ 80% หรือสูงกว่า กฎหมายจะเปลี่ยนไปใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา 0.5% ของยอดขายแทนการคำนวณภาษีจากกำไร เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่คำนวณแล้วค่าภาษีมากกว่าวิธีคำนวณภาษีจากกำไรแบบเดิม

ยอดขายเดือนละ ฿150,000 

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿150,000 ยังอยู่ที่ขั้นบันไดอัตราภาษี 15%

อนึ่ง กรณีนี้ยอดขายรวมตลอดทั้งปีจะยังไม่เกิน ฿1,800,000 จึงยังไม่ถูกบังคับให้ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้ายอดขายเฉลี่ยเกินเดือนละ ฿150,000 จะส่งผลให้ยอดขายรวมตลอดทั้งปีเกิน ฿1,800,000 ส่งผลให้ต้องรีบไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30วันนับแต่วันที่ยอดขายปีนั้นเกิน ฿1,800,000

ยอดขายเดือนละ ฿200,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿200,000 จะเริ่มเข้าสู่ขั้นบันไดอัตราภาษี 20% โดยค่าภาษีสูงสุดจะไม่เกิน ฿95,000 หากใช้เหมาค่าใช้จ่ายต้นทุน 60% ของยอดขาย ซึ่งน่าสังเกตว่าค่าภาษีที่คำนวณได้ก็ยังไม่ถึงหลักแสนอยู่ดี

หากต้นทุนอยู่ที่ 90% หรือสูงกว่า กฎหมายจะเปลี่ยนไปใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา 0.5% ของยอดขายแทนการคำนวณภาษีจากกำไร เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่คำนวณแล้วค่าภาษีมากกว่าวิธีคำนวณภาษีจากกำไรแบบเดิม

อย่างไรก็ดี หากยอดขายเดือนละ ฿200,000 เท่ากันตลอดทั้งปี ยอดขายจะเริ่มเกิน ฿1,800,000 เมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคม ทำให้ต้องรีบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเดือนตุลาคมเพื่อไม่ให้เลยกำหนด 30 วัน

ยอดขายเดือนละ ฿250,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿250,000 จะเริ่มเข้าสู่ขั้นบันไดอัตราภาษี 25% โดยค่าภาษีสูงสุดจะไม่เกิน ฿150,000 หากใช้เหมาค่าใช้จ่ายต้นทุน 60% ของยอดขาย ซึ่งน่าสังเกตว่าค่าภาษีที่คำนวณได้จะเริ่มถึงหลักแสนแล้ว

อย่างไรก็ดี หากยอดขายเดือนละ ฿250,000 เท่ากันตลอดทั้งปี ยอดขายจะเริ่มเกิน ฿1,800,000 เมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม ทำให้ต้องรีบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน30 วันนับแต่วันที่ยอดขายเกิน ฿1,800,000 ด้วย

หากต้นทุนอยู่ที่ 90% หรือสูงกว่า กฎหมายจะเปลี่ยนไปใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา 0.5% ของยอดขายแทนการคำนวณภาษีจากกำไร เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่คำนวณแล้วค่าภาษีมากกว่าวิธีคำนวณภาษีจากกำไรแบบเดิม

ยอดขายเดือนละ ฿300,000

คนที่ขายของได้เดือนละ ฿300,000 ยังอยู่ที่ขั้นบันไดอัตราภาษี 25%

หากต้นทุนอยู่ที่ 90% หรือสูงกว่า กฎหมายจะเปลี่ยนไปใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา 0.5% ของยอดขายแทนการคำนวณภาษีจากกำไร เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่คำนวณแล้วค่าภาษีมากกว่าวิธีคำนวณภาษีจากกำไรแบบเดิม

ข้อสังเกตบางประการของการคำนวณด้วยวิธีเหมา 0.5% ของยอดขาย คือ เมื่อกฎหมายกำหนดให้คิดค่าภาษีจากยอดขายแล้ว ต่อให้ขายขาดทุนก็ยังต้องเสียภาษีอยู่ดี

ภาษี กับเรื่องที่คนค้าขายอาจเข้าใจผิด

1. ภาษีคิดจากรายได้สุทธิ ไม่ใช่รายได้ที่ได้รับตลอดทั้งปี

พ่อค้าแม่ค้าหลายคน (ที่ทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา) มักจะเข้าใจผิดว่า การคำนวณภาษีสำหรับคนขายของคือ เมื่อมีรายได้เท่าไหร่ ให้นำเงินที่ได้นั้นมาคูณอัตราภาษีได้ทันที จึงทำให้หลายๆ คนเห็นจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายผิดไป ซึ่งในความจริงแล้ว อัตราภาษีที่คุณต้องจ่าย จะสามารถคำนวณได้จากเงินได้สุทธิ นั่นคือ

เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี

นั่นหมายความว่า คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนด และหากคุณมีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเหมาะสม ภาษีที่คุณจะต้องจ่ายก็จะลดน้อยลงไปด้วย

2. ขายของต้องยื่นภาษีทั้ง ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วย

เจ้าของกิจการ หรือ พ่อค้าแม่ค้าหลายคนมักจะไม่รู้ว่า รายได้จากการค้าขายตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน ของทุกปี มากกว่า 60,000 บาท (กรณีโสด) หรือ รายได้รวมกับคู่สมรสแล้วเกิน 120,000 บาท คุณจะต้องทำการ ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ด้วย หมายความว่า

ใน 1 ปี คุณจะต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี ควบคู่ไปกับการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ด้วยนั่นเอง

หรือ หากรายได้ของคุณถึงเกณฑ์ที่จะต้อง จดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือต้องการใช้บริการจดทะเบียนบริษัท คุณสามารถติดต่อสอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787 แล้วคุณจะรู้ว่า ภาษีกับคนค้าขาย ไม่ยากอย่างที่คิด

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)