ยื่นภาษี 2565 ใช้แอป iTAX ลองกรอกก่อนยื่นภาษีจริง

ทั่วไป

ยื่นภาษี 2565 ในช่วงต้นปี 2566 นี้ ใช้แอป iTAX ลองกรอกก่อนยื่นภาษีจริงได้ฟรี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลการยื่นภาษีก่อนนำไปยื่นจริงที่เว็บไซต์กรมสรรพากรอีกครั้ง

แอป iTAX คืออะไร?

แอป iTAX คือแอปคำนวณและวางแผนภาษีสำหรับบุคคลทั่วไป ใช้ง่าย แค่กรอกรายได้และค่าลดหย่อนให้ครบถ้วนก็จะเห็นผลลัพธ์ว่าถ้ายื่นภาษีประจำปีภาษี 2565 จะได้เงินคืนภาษีกี่บาท หรือได้เงินคืนภาษีกี่บาท รวมถึงใช้สิทธิลดหย่อนไปแล้วกี่ % ของสิทธิที่มีทั้งหมด และสามารถตรวจสอบรายการค่าลดหย่อนประจำปี 2565 ได้ทั้งหมด รวมถึงรองรับการคำนวณภาษีสำหรับรายได้ครบทุกประเภทด้วย

iTAX สามารถโหลดฟรีได้ทั้งผู้ใช้งาน iOS และ Android 

ทำไมถึงควรใช้ iTAX คำนวณภาษีก่อน ยื่นภาษี 2565 จริง?

การกรอกข้อมูลยื่นภาษีจริงบนเว็บกรมสรรพากรจะเป็นการยื่นภาษีแบบเป็นทางการ ดังนั้น หากกดยื่นภาษีแล้วจะเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามกฎหมาย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สรรพากรรับเรื่องต่อไป

แม้ว่าตามกฎหมายแล้วคุณยังมีสิทธิยื่นภาษีใหม่กี่ครั้งก็ได้หากอยู่ภายในกรอบเวลายื่นภาษีประจำปี

  • ยื่นแบบกระดาษ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2566
  • ยื่นภาษีผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 เมษายน 2566

แต่ในความเป็นจริงหากคุณยื่นภาษีผิดแล้วจะยื่นใหม่อีกครั้ง อาจส่งผลให้เงินคืนภาษีช้าลงได้ เพราะเจ้าหน้าที่สรรพากรต้องทำการตรวจสอบแบบภาษีที่คุณยื่นใหม่อีกครั้ง

ดังนั้น หากต้องการยื่นภาษี 2565 ให้ถูกต้องครั้งเดียวจบ การทดลองกรอกข้อมูลภาษีบนแอป iTAX ครั้งนึงก่อนยื่นภาษีจริงจะเหมือนเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนยื่นจริง ซึ่งช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ รวมถึงเช็กว่าแสดงรายได้ครบทุกรายการแล้วด้วยหรือไม่ ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดได้เป็นอย่างมาก

3 สิ่งที่ควรรู้ก่อนยื่นภาษี 2565 จริง

1. ยื่นภาษีทั้งที อย่าลืมตามหา ใบ 50 ทวิ จากผู้จ่ายเงินค่าจ้างให้คุณ

ใบ 50 ทวิ หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย คือ เอกสารที่จะถูกใช้เป็นหลักฐานว่า การรับเงินของคุณนั้นถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบุคคลที่คุณสามารถขอใบ 50 ทวิ หรือ หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายนั้น ก็คือ บริษัท หรือ คนที่จ่ายเงินค่าจ้างให้คุณนั่นเอง

ใบ 50 ทวิ เป็นเอกสารสำคัญที่จะช่วยให้คุณเตรียมภาษี หรือ ยื่นภาษีได้ง่ายขึ้น เพราะคุณสามารถนำตัวเลขที่ระบุในเอกสาร (ทั้งรายได้ที่ได้รับทั้งปีและภาษี ณ ที่จ่ายที่ถูกหักสะสม) มาใช้ในการคำนวณภาษี หรือ ยื่นภาษีได้ทันที

ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะมีรายได้จากการทำงานประจำเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือ เป็นฟรีแลนซ์ หรือประกอบอาชีพอิสระ ทุกครั้งที่ได้รับเงินจากบริษัทหรือผู้ว่าจ้าง จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และต้องได้รับใบ 50 ทวิเหมือนกันทั้งหมด เพราะกฎหมายกำหนดไว้ดังนี้

กรณีทำงานประจำ

  • ถ้าทำงานจนถึงสิ้นปี นายจ้างหรือบริษัทจะต้องออกใบ 50 ทวิให้แก่ลูกจ้างภายในวันที่ 15 ก.พ. ปีถัดไป
  • ถ้าออกจากงานระหว่างปี นายจ้างหรือบริษัทจะต้องออกใบ 50 ทวิ ให้แก่ลูกจ้างภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน

กรณีเป็นคนทำงานอิสระ หรือมีรายได้อื่นๆ

  • กรณีที่เป็นฟรีแลนซ์ ประกอบอาชีพอิสระ หรือรายได้อื่นๆ คุณจะต้องได้รับใบ 50 ทวิทุกครั้งที่มีการรับเงิน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินหรือผู้ว่าจ้าง ต้องออกใบ 50 ทวิ ให้ผู้รับเงิน หรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทันที

เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาแล้ว สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ก่อนยื่นภาษีจริงเพื่อประเมินเงินคืนภาษีปี 2565 ก่อนได้

2. ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปีไปแล้ว ยังต้องยื่นภาษีอยู่

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า เมื่อรายได้ของเราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ก็หมายความว่า เราได้ทำการจ่ายภาษีเสร็จสิ้นแล้ว หรือ เข้าใจว่า ผู้ว่าจ้างได้ทำการจ่ายภาษีให้เราเรียบร้อยแล้ว และไม่ต้อง ยื่นภาษี 2565 อีกแล้ว แต่ความเป็นจริงคือ รายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น เป็นเพียงการจ่ายภาษีล่วงหน้าส่วนหนึ่งเท่านั้น และคุณยังมีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีเหมือนเดิม

การถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ได้เป็นการการันตีว่า คุณจะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หรือ ได้รับเงินคืนภาษี เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่า ตลอดทั้งปีคุณมีรายได้เท่าไหร่? รายได้ของคุณถึงเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดให้จ่ายภาษีหรือไม่? และคุณใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอะไรไปบ้าง เป็นต้น

รู้แบบนี้แล้ว สำหรับการ ยื่นภาษี 2565 (ยื่นต้นปี 2566) เราแนะนำให้คุณเตรียมเอกสารหลักฐานที่แสดงว่า รายได้ของคุณถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้ครบถ้วน แล้วนำมาคำนวณบนแอป iTAX เพื่อประเมินว่าปีภาษี 2565 จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มหรือได้เงินคืนภาษีเท่าไหร่

3. ถ้ามีเงินเดือนถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษี ยังไงก็ต้องยื่นภาษีเมื่อถึงกำหนด

เมื่อคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ยื่นภาษี เมื่อถึงเวลาคุณจะต้องทำการแสดงแบบเงินได้ภาษีบุคคลธรรมดาแม้ว่าคุณอาจจะมีรายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็ตาม และในกรณีที่มีเงินเดือนแต่ไม่ต้องยื่นภาษีนั้น สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อ คุณมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 10,000 บาท หรือ มีรายได้รวมทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท เท่านั้น (อ่านเพิ่ม เงินเดือนเท่าไหร่ไม่ต้องเสียภาษี)

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)