Contents

กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thai ESGX) (รอประกาศเป็นกฎหมาย)

ดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thai ESG Extra หรือ Thai ESGX) ใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 30% ของ “เงินได้ที่ต้องเสียภาษี” (ไม่ว่าจะเอามารวมยื่นภาษีด้วยหรือไม่) และไม่เกิน ฿300,000 โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องถือครบ 5 ปีนับจากวันที่ซื้อ โดยเริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2568 (รอประกาศเป็นกฎหมาย)

ทั้งนี้ เพดานสิทธิ Thai ESGX นี้จะแยกต่างหากจากการใช้สิทธิลดหย่อน Thai ESG ปกติ

นอกจากนี้ สำหรับผู้เสียภาษีที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ไว้อยู่ในวันที่ 11 มีนาคม 2568 และเลือกสับเปลี่ยนจาก LTF ทั้งหมดไปเป็น Thai ESGX ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2568 (รอประกาศเป็นกฎหมาย) จะได้สิทธิลดหย่อนเพิ่มตามมูลค่ากองทุนแต่ไม่เกิน ฿500,000 บาท โดยแบ่งเป็นค่าลดหย่อนส่วนแรกสำหรับปีภาษี 2568 ตามมูลค่ากองทุน LTF ที่สับเปลี่ยนเป็น Thai ESGX แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน ฿300,000 โดยส่วนเกินมูลค่า ฿300,000 แต่ไม่เกิน ฿500,000 บาทนั้นจะใช้เป็นค่าลดหย่อนสำหรับปีภาษี 2569 – 2572 โดยจะแบ่งลดหย่อนได้เท่าๆ กันปีละไม่เกิน ฿50,000 

Thai ESGX เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ค่าลดหย่อน

คนที่ซื้อกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ หรือ กองทุน Thai ESGX สามารถนำเงินนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ไม่เกินจำนวนที่น้อยกว่าระหว่าง 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปี หรือ ฿300,000 ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่าก็ให้หักลดหย่อนตามนั้น โดยไม่กระทบต่อเพดานสิทธิลดหย่อน ฿500,000 ร่วมกับกองทุนการเกษียณอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ คนที่ซื้อกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ หรือ กองทุน Thai ESGX สามารถนำเงินนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ได้สูงสุด ฿300,000 แยกต่างหากจากเพดานสิทธิลดหย่อนของกองทุน Thai ESG ปกติด้วย

เช่น ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน ฿1,000,000 แล้วซื้อกองทุน Thai ESG ไป ฿300,000 และ Thai ESGX อีก ฿300,000 จะหักได้ตามที่จ่ายจริง ฿600,000 เลย

ค่าลดหย่อนเพิ่มสำหรับผู้ที่ยังถือหน่วยลงทุน LTF ในวันที่ 11 มี.ค. 2568

สำหรับผู้เสียภาษีที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ไว้อยู่ในวันที่ 11 มีนาคม 2568 และเลือกสับเปลี่ยนจาก LTF ทั้งหมดไปเป็น Thai ESGX ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2568 (รอประกาศเป็นกฎหมาย) จะได้สิทธิลดหย่อนเพิ่มตามมูลค่ากองทุนแต่ไม่เกิน ฿500,000 บาท โดยแบ่งเป็นค่าลดหย่อน 2 ส่วน ดังนี้

  1. มูลค่าส่วนที่ไม่เกิน ฿300,000 แรก – ใช้เป็นค่าลดหย่อนปีภาษี 2568 ได้ตามมูลค่ากองทุน LTF ที่สับเปลี่ยนเป็น Thai ESGX แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน ฿300,000
  2. มูลค่าส่วนที่เกิน ฿300,000 แต่ไม่เกิน ฿500,000 – ใช้เป็นค่าลดหย่อนปีภาษี 2569 ถึง 2571 ได้โดยแบ่งใช้สิทธิลดหย่อนเท่าๆ กันปีละไม่เกิน ฿50,000

กำไรได้รับยกเว้นภาษี

กำไรจากการขายกองทุน Thai ESGX ที่ถือไว้จนครบเงื่อนไขจะได้รับยกเว้นภาษี

แต่ถ้าทำผิดเงื่อนไข เช่น ขายก่อนถือครบ 5 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน กำไรจากการขายกองทุน Thai ESGX จะต้องเอาไปเสียภาษีด้วยในฐานะ เงินได้ประเภทที่ 4 (รอประกาศเป็นกฎหมาย)


เงื่อนไขการได้รับสิทธิ

การซื้อกองทุน Thai ESGX เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จะต้องถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน (ในกรณีสับเปลี่ยนกองทุน LTF มาเป็น Thai ESGX ให้นับแต่วันที่สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน) และไม่ขายจนกว่าตัวเองจะถือจนครบ 5 ปี หรือเสียชีวิต หรือทุพพลภาพก่อน

อนึ่ง หากทำผิดเงื่อนไข เช่น ขายก่อนถือครบ 5 ปี จะต้องคืนสิทธิ์ยกเว้นภาษีที่เคยใช้ลดหย่อน Thai ESGX ตั้งแต่ตอนซื้อครั้งแรกพร้อม เงินเพิ่ม และเสียภาษีกำไรที่ได้รับจากการขาย Thai ESGX นั้นด้วย

วิธีนับระยะเวลา

การนับระยะเวลา 5 ปีของ Thai ESGX จะเป็นการนับระยะเวลาแบบวันชนวัน ปีชนปี เช่น ถ้าซื้อ Thai ESGX เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2568 วันที่ครบ 5 ปีคือวันที่ 1 มิ.ย. 2573 และจะขายโดยไม่ผิดเงื่อนไข 5 ปีได้ในวันรุ่งขึ้น คือ 2 มิ.ย. 2573