Contents
ภาษีเงินได้แบบติดลบ – Negative Income Tax
โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
ภาษีเงินได้แบบติดลบ (Negative Income Tax) เป็นนโยบายให้เงินช่วยเหลือบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งโดยปกติจะต้องเข้าระบบภาษีและยื่นภาษีเหมือนผู้มีรายได้ทั่วไปด้วย
Negative Income Tax เป็นเครื่องมือที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นการดำเนินนโยบายที่กลับฟากกับภาษีเงินได้แบบปกติทั่วไปที่เก็บภาษีจากผู้มีรายได้สูงถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเสียภาษี
แนวคิดของ Negative Income Tax ถูกเสนอเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1962 โดยศาสตราจารย์ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยปรากฏอยู่ในหนังสือ Capitalism and Freedom1
จุดเด่นของ Negative Income Tax
Negative Income Tax (NIT) เป็นการให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จึงมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่สมควรได้รับได้ตรงกลุ่มและครอบคลุมที่สุดเพราะเป็นสวัสดิการแบบเจาะจง (Targeting) ช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่าการดำเนินโครงการสวัสดิการแบบถ้วนหน้า (Universal) บางโครงการที่ใช้งบประมาณสูงแต่อาจได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ เพราะงบประมาณถูกจัดสรรให้บุคคลที่ไม่ได้มีรายได้น้อยจริงๆ หรือไม่ได้รับความเดือดร้อนจริง (Inclusion Error)
ในระยะยาว Negative Income Tax สามารถเพิ่มจำนวนคนให้เข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยก็มีแรงจูงใจให้เข้าระบบภาษีและยื่นภาษีเพื่อรับเงินช่วยเหลือ และหากในอนาคตบุคคลเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้นจนถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้ว ก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ทันทีเพราะอยู่ในระบบภาษีแต่แรกอยู่แล้ว
กลไกของ Negative Income Tax
กลไกของ NIT ตามข้อเสนอของ Friedman มีองค์ประกอบ 2 ประการ ได้แก่
- เกณฑ์เงินได้ขันต่ำ (Income Threshold) และ
- อัตราการชดเชย (Rate of Subsidy)
Friedman ใช้เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำ 600 ดอลลาร์สหรัฐ/คน ในปี ค.ศ. 1961 และอัตราการชดเชย 50% ยกตัวอย่างได้ดังนี้2
หากนาย A ไม่มีเงินได้เลย นาย A ก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเป็นจำนวน $600 x 50% = $300
หากนาย B มีเงินได้ $200 นาย B ก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเป็นจำนวน $400 x 50% = $200
หากนาย C มีเงินได้ $600 ซึ่งเท่ากับเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำพอดี นาย C ก็จะไม่ได้รับ เงินชดเชยจากรัฐบาล
หากนาย D มีเงินได้สูงกว่า $600 นาย D ก็จะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดไว้
รายได้ |
เงินได้ส่วนที่ต่ำกว่า เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำ (สมมติว่าเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำคือ $600) |
NIT หรือเงินโอนจากรัฐบาล คำนวณจากส่วนต่างที่ต่ำกว่าเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำ (สมมติว่ารัฐบาลช่วยเหลือในอัตรา 50%) |
รวมรายได้ทั้งหมดทั้งจากที่หาได้เองและจากการช่วยเหลือของรัฐบาล |
$0 | $600 | $300 | $300 |
$200 | $400 | $200 | $400 |
$600 | $0 | $0 | $600 |
ข้อสังเกต
เนื่องจากบุคคลผู้มีรายได้น้อยที่จะรับเงินช่วยเหลือได้ต้องเข้าระบบภาษีด้วย ดังนั้น ในกรณีที่รัฐไม่มีข้อมูลรายได้จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มากเพียงพอ บุคคลเหล่านี้จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ยื่นภาษีเพื่อให้มีข้อมูลในระบบด้วยแม้ว่าจะไม่มีรายได้เลยก็ตาม ซึ่งอาจสร้างภาระให้ผู้มีรายได้น้อยรวมถึงผู้ไม่มีรายได้ต้องยื่นภาษีทุกปีด้วย ทำให้ต้นทุนการคัดกรองสูงขึ้น
นอกจากนี้ การให้เงินช่วยเหลือจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจนำไปสู่การขึ้นภาษีเพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอ ส่งผลให้ผู้เสียภาษีรายอื่นต้องรับภาระภาษีเพิ่มขึ้น
แนวคิด Negative Income Tax ในต่างประเทศ
บางประเทศได้มีการดำเนินนโยบาย Negative Income Tax ไปแล้ว โดยใช้ชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ดังนี้3
- Earned Income Tax Credit (EITC) ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา อิสราเอล เกาหลีใต้ และสวีเดน
- Family Tax Benefit (FTB) ใช้ในประเทศออสเตรเลีย
- Independent Earner Tax Credit (IETC) ใช้ในประเทศนิวซีแลนด์
- Workfare Income Supplement (WIS) ใช้ในประเทศสิงคโปร์
- Working Income Tax Benefit (WITB) ใช้ในประเทศแคนาดา
- Working Tax Credit (WTC) ในประเทศสหราชณาจักร
ความสัมพันธ์กับแนวคิด Universal Basic Income
โดยทั่วไป การดำเนินนโยบาย Negative Income Tax มักถูกพูดถึงควบคู่กับนโยบายรายได้ขั้นต่ำถ้วนหน้า หรือ Universal Basic Income (UBI) ด้วยเนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน แต่จุดแตกต่างสำคัญคือ UBI จะให้เงินเป็นรายได้พื้นฐานขั้นต่ำแก่บุคคลทุกคนโดยไม่สนใจว่าจะเป็นผู้มีรายได้มากหรือน้อย
อ้างอิง
- ^
Friedman, Milton. 1962. Capitalism and Freedom. Chicago: University of Chicago Press.
- ^
ปัณณ์ อนันอภิบุตร, วิธีร์ พานิชวงศ์, สุมาพร ศรีสุนทร, ลลติา ละสอน, เงินโอน แก้จน คนขยัน (Negative Income Tax), งานสัมมนาวิชาการประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง “เศรษฐกิจการคลังไทย: ความท้าทาย การปฏิรูป และความยั่งยืน” วันพุธที่ 6 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ.
- ^
ปัณณ์ อนันอภิบุตร, วิธีร์ พานิชวงศ์, สุมาพร ศรีสุนทร, และ ลลิตา ละสอน, ‘เงินโอน แก้จน คนขยัน (Negative Income Tax)’, งานสัมมนาวิชาการประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง “เศรษฐกิจการคลังไทย: ความท้าทาย การปฏิรูป และความยั่งยืน” (2557)