Contents

ภาษีการรับมรดก

74,740 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร  feat. TaxBugnoms

ภาษีการรับมรดก หรือที่ทั่วไปเรียกสั้นๆ ว่า ภาษีมรดก เป็นภาษีที่เก็บจากผู้รับมรดกสำหรับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายที่มูลค่าสุทธิรวมเกิน 100 ล้านบาท โดยจัดเก็บภาษีในอัตราสูงสุด 10% สำหรับมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท โดยมี กรมสรรพากร เป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษี1

ภาษีการรับมรดกเป็นภาษีที่มาพร้อมกับ ภาษีการรับการให้ เพื่อจัดเก็บภาษีจากการถ่ายโอนมรดกเมื่อเจ้าของมรดกเสียชีวิต รวมถึงการดักทางไม่ให้เลี่ยงภาษีมรดกโดยการเก็บภาษีการให้สำหรับการถ่ายโอนทรัพย์สินก่อนที่เจ้าของมรดกจะเสียชีวิตด้วย

ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี

ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกมักอยู่ในรูปทรัพย์สินที่มีทะเบียนที่สามารถระบุตัวเจ้าของได้ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ตาม ได้แก่2

  • อสังหาริมทรัพย์
  • หลักทรัพย์
  • เงินฝาก
  • ยานพาหนะ
  • ทรัพย์สินทางการเงินอื่นๆ หากมีการประกาศเพิ่มเติมในอนาคต

อย่างไรก็ดี หากผู้รับมรดกไม่ใช่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยหรือกฎหมายไม่ได้ถือว่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยแล้ว ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกจะเหลือเพียงทรัพย์สินที่อยู่ในไทยเท่านั้น3

อัตราภาษี

ถ้ามรดกที่ผู้เสียภาษีได้รับจากเจ้ามรดกแต่ละรายมีมูลค่าสุทธิ (มูลค่าทรัพย์สิน – หนี้สิน) เกินกว่า 100 ล้านบาท ผู้รับมรดกจะต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท4 ในอัตราคงที่ 10%5

ดังนั้น หากได้มรดกจากเจ้ามรดกรายหนึ่งๆ ไม่เกิน 100 ล้านบาท ก็จะไม่อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีมรดกแต่อย่างใด

แต่ถ้าผู้รับมรดกเป็นบุพการี (พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทวด และสูงขึ้นไป) หรือผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน โหลน ลื้อ และต่ำลงมา) อัตราภาษีจะลดลงเหลือ 5%6

แต่ถ้าผู้รับมรดกเป็นสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องจะได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกแต่อย่างใด7

ผู้เสียภาษี

บุคคลธรรมดา

ผู้รับมรดกที่เป็นบุคคลธรรมดาจะอยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีการรับมรดกหากเข้าเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้

  • เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย8
  • เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย9 หรือ
  • เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย แต่ได้รับมรดกที่อยู่ในไทย10 (แต่กรณีนี้จะเสียภาษีเฉพาะมรดกที่อยู่ในไทยเท่านั้น)

นิติบุคคล

ผู้รับมรดกที่เป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก็อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีการรับมรดกเช่นกันหากเข้าเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้11

  • เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือ
  • ไม่ใช่นิติบุคคลไทย แต่มีผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีสัญชาติไทยเกิน 50% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะที่มีสิทธิรับมรดก หรือ
  • ไม่ใช่นิติบุคคลไทย แต่มีผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีอํานาจบริหารกิจการเกิน 50% ของคณะบุคคลซึ่งมีอํานาจบริหารกิจการทั้งหมด
  • ไม่ใช่นิติบุคคลไทยและไม่ได้มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยหรือผู้บริหารสัญชาติไทยเกิน 50% แต่ได้รับมรดกที่อยู่ในไทย (แต่กรณีนี้จะเสียภาษีเฉพาะมรดกที่อยู่ในไทยเท่านั้น)

การยื่นภาษี

ผู้รับมรดกต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) และชำระภาษีภายใน 150 วัน นับจากวันที่ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกรายนั้นๆ เกิน 100 ล้านบาท12 และสามารถเลือกผ่อนจ่ายภาษีได้สูงสุด 5 ปี

โดยอาจต้องจ่าย เงินเพิ่ม บางส่วน13 (ในอัตรา 0.75% ต่อเดือน)14 แต่ถ้าผ่อนจ่ายครบภายในเวลา 2 ปีได้จะไม่มีภาระเงินเพิ่มแต่อย่างใด

บทลงโทษ

ตัวอย่างบทลงโทษที่เกี่ยวกับภาษีมรดก เช่น

  • ไม่ยื่นภาษีโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท15 และเสีย เบี้ยปรับ อีก 1 เท่าของค่าภาษีที่ต้องชำระ16
  • ยื่นภาษีแต่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องเสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของค่าภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม17
  • เจ้าพนักงานที่รู้ข้อมูลของผู้มีหน้าที่เสียภาษีปล่อยปละละเลยให้ข้อมูลล่วงรู้ไปถึงบุคคลที่ไม่ต้องรู้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท เว้นแต่เป็นการเปิดเผยต่อเจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย18

คำแนะนำสำหรับวางแผนภาษีมรดก

  • Option เสริม คือ การจดสิทธิเก็บกิน
  • ถ้ามีทรัพย์สิน ต้องสำรวจทรัพย์สิน ทำพินัยกรรมให้เรียบร้อย
  • ทำประกันชีวิตไว้ เผื่อมีปัญหา จะได้มีเงินจ่าย
  • บริจาคให้องค์กรสาธารณกุศล ภาครัฐ ไม่เสียภาษีมรดก
  • การจัดเก็บภาษีมรดกจะเก็บจากสินทรัพย์จดทะเบียนเท่านั้น เช่น ที่ดิน หุ้น เงินฝากธนาคาร รถยนต์ ดังนั้นสินทรัพย์ที่ไม่จดทะเบียนจะไม่มีเสียภาษี เช่น ทองคำ เพชรพลอย พระเครื่อง

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • เรามักจะเรียกแบบเหมาว่าภาษีมรดก แต่จริงๆ แล้วภาษีมรดกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทกว้างๆ คือ ภาษีมรดกที่เก็บจากกองมรดก และภาษีมรดกที่เก็บจากผู้รับมรดก แต่ที่กำลังใช้ในประเทศไทย คือ ภาษีมรดกแบบที่เก็บจาก ผู้รับมรดก
  • ถ้ารับมรดกจากเจ้ามรดกหลายคน เราดูมูลค่ามรดกที่เราได้รับจากเจ้ามรดกเฉพาะแต่ละรายเท่านั้น ไม่ได้นำมูลค่าของเจ้ามรดกทุกรายมารวมกัน เช่น ถ้ารับมรดกจากเจ้ามรดกคนแรกมา ฿60 ล้าน และเจ้ามรดกคนที่สอง ฿50 ล้าน เราจะไม่ต้องเสียภาษีมรดกเลย เพราะมรดกที่ได้รับจากแต่ละรายมูลค่าไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีมรดก
  • ถ้ารับมรดกจากเจ้ามรดกรายนึง แม้จะได้รับมรดกมาหลายส่วนหลายครั้งแต่ถ้ามูลค่ามรดกที่ได้รับจากเจ้ามรดกรายนั้นเกิน ฿100 ล้านเมื่อไหร่ คุณจะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมรดกอยู่ดี แม้ว่าการรับมรดกนั้นจะข้ามปีก็ตาม
  • หลายคนเข้าใจผิดว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่เคยมีภาษีมรดกมาก่อน แต่ที่จริงแล้ว ประเทศไทยก็เคยมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมรดกโดยเฉพาะ ชื่อว่า พ.ร.บ. อากรมฤดกและการรับมฤดก พ.ศ. 2476 (1 ปีภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศโดยคณะราษฎร) ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ตามชื่อและเนื้อหาของกฎหมายแล้ว จัดได้ว่าเป็นภาษีมรดกที่จัดเก็บทั้งจากกองมรดกเอง (อากรมฤดก) และจากผู้รับมรดกด้วย (การรับมฤดก) แต่สุดท้ายก็ถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2487 ด้วยเหตุผลว่าเป็นภาษีที่จัดเก็บได้น้อยแต่มีภาระต้องปฏิบัติมากและจัดเก็บได้จำนวนที่ไม่แน่นอนด้วย19 เพราะขึ้นอยู่กับความตายของเจ้ามรดกในแต่ละปี สรุปว่ากฎหมายภาษีมรดกฉบับเก่ามีอายุได้ประมาณ 11 ปี

อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 6 พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  2. ^

    มาตรา 14 พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  3. ^

    มาตรา 14 วรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  4. ^

    มาตรา 12 วรรคแรก และวรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  5. ^

    มาตรา 16 พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  6. ^

    มาตรา 16 พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  7. ^

    มาตรา 3(2) พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  8. ^

    มาตรา 11(1) พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  9. ^

    มาตรา 11(2) พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  10. ^

    มาตรา 11(3) พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  11. ^

    มาตรา 11 วรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  12. ^

    มาตรา 17 พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  13. ^

    มาตรา 23 พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  14. ^

    มาตรา 31 วรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  15. ^

    มาตรา 33 พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  16. ^

    มาตรา 29(1) พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  17. ^

    มาตรา 29(2) พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  18. ^

    มาตรา 36 พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

  19. ^

    ภาษีมรดก(อีกครั้ง?), สรรพากรสาส์น