Contents

แนวทางลดหย่อนภาษี

1,194 views

โดย TAXBugnoms จาก หนังสือ คนไทยฉลาดการเงิน

มีอีกหนึ่งคำถามที่ผมได้รับอยู่เสมอๆ คือ แล้วเราจะ คำนวณภาษี ยังไง หรือใช้ รายการค่าลดหย่อน แบบไหนดีล่ะเนี่ย หรือจะวางแผนยังไงเพื่อให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด

คำตอบที่ผมกำลังจะตอบต่อไปนี้ อาจจะฟังดูแล้วขัดหูและขัดใจหลายๆคนไม่มากก็น้อยครับว่า

…เราไม่ควรวางแผนประหยัดภาษีให้มากที่สุด

อะไรนะ ไอ้หนอม เอ็งกำลังจะบอกว่าการประหยัดภาษีเป็นเรื่องที่ผิดงั้นหรอ!! (เอิ่ม เดี๋ยวก่อนนะครับ อย่าเพิ่งขึ้นไปขนาดนั้น) เพราะที่ผมพูดแบบนี้ เพราะอยากจะให้ทุกคนมองว่า การวางแผนประหยัดภาษีนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ทั้งหมดของการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตของเรา

วางแผนผิดชีวิตลำบาก

จากประสบการณ์ทำงานและทำเพจ TAXBugnoms ของผม ทำให้ผมเห็นหลายๆคนที่พยายามวางแผนภาษีจนชีวิตลำบาก หรือไปรบกวนเงินในกระเป๋าด้านอื่นๆ หรือแม้แต่ทำให้รายจ่ายส่วนอื่นเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น เช่น

การซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีโดยที่ไม่รู้เลยว่า LTF นั้นคืออะไร หนำซ้ำยังหนักกว่านั้นตรงที่ซื้อ LTF ไปโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองไม่เสียภาษี หรือเสียในอัตราที่น้อยมาก แต่แบกรับความเสี่ยงในการลงทุนไม่ไหว ได้แต่ซื้อๆไปเพื่อหวังว่าจะทำให้ประหยัดภาษีอย่างเดียว

การซื้อประกันหลายๆกรมธรรม์เพื่อลดภาษี โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าอายุกรมธรรม์นั้นมีกี่ปีและต้องจ่ายไปจนถึงเมื่อไร และไม่รู้เลยว่าตัวเองมีกระแสเงินสดพอเพียงที่จะจ่ายหรือไม่ สุดท้ายก็ต้องเวนคืนกรมธรรม์และเสียสิทธิในการลดหย่อนภาษี

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่ออกมา โดยจูงใจด้วยการให้คุณค่าด้านลดภาษี เช่น ค่าลดหย่อนจากการท่องเที่ยว จากการช้อปปิ้ง รวมถึงนโยบายกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัว โดยที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองนั้นไม่เสียภาษี และไม่จำเป็นต้องประหยัดภาษีด้วยซ้ำ

อย่าลืมถามตัวเองนะครับว่า เราต้องการอะไรมากกว่าในชีวิต ระหว่างการประหยัดภาษีให้มากที่สุด โดยที่ไม่สนใจ ต้นทุนอื่นๆที่อาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมของเราเพิ่มขึ้น (เน้นสะใจเข้าว่า ที่ชั้นไม่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐ เชอะ!) กับประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวม

วัตถุประสงค์ของการใช้ชีวิตต้องมาก่อนเรื่องภาษี

หลังๆที่ผมได้รับคำถามเรื่องการวางแผนภาษี ผมจึงมักจะถามวัตถุประสงค์ของการใช้ชีวิตก่อนว่า จริงๆแล้วเราต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ หลังจากนั้นค่อยไล่เรียงไปตามความสำคัญของสิ่งที่เราต้องการ แล้วค่อยมองหาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยเราได้อีกทอดหนึ่งครับ ยกตัวอย่างเช่น

1. เรามีการลงทุนเพื่อวัยเกษียณหรือยัง

หนึ่งในเป้าหมายการเงินที่สำคัญของคนทุกคนคือ การเกษียณอย่างเป็นสุข ดังนั้นคำถามที่เราควรจะถามตัวเองคือ เรามีช่องทางในการวางแผนเกษียณแล้วหรือยัง เช่น เงินออม เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม และสิ่งที่เรามีนั้นมันเพียงพอหรือไม่ ถ้ายังไม่พอ เราค่อยมาดูแต่ละตัวเลือกที่ได้ทั้งประโยชน์กับชีวิตและวางแผนภาษีไปพร้อมกัน

การลงทุนในกองทุนรวมอย่าง RMF อาจจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่นำมาใช้ในการวางแผนเกษียณ ผ่านการลงทุนต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานานจนอายุครบ 55 ปีเพื่อสร้างวินัยให้กับเราอีกทางหนึ่ง

การซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อสร้างผลตอบแทนต่อเนื่องทุกเดือนเหมือนการมีบำนาญเมื่อเราเกษียณ และการสร้างรายได้ที่ปลอดภัยให้กับชีวิตเราในช่วงเวลานั้น

2. เรามีการป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสมหรือยัง

ถามตัวเองก่อนว่า เราต้องการอะไรจากการทำประกัน และเรามีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องทำประกัน เพราะบางทีเราอาจจะไม่จำเป็นที่ต้องทำประกันเพื่อให้ได้สิทธิประหยัดภาษีเสียด้วยซ้ำ

3. เรามีการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงบ้างไหม

เช่น การลงทุนในหุ้น หรือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้น ถ้าหากเราประเมินว่าตัวเราเองสามารถรับความเสี่ยงได้ดี เราอาจจะใช้วิธีการลงทุนใน LTF ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้น เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้มากขึ้น พร้อมกับได้รับสิทธิประหยัดภาษ๊ไปด้วย

ถ้าสังเกตให้ดี จาก 3 ข้อที่ถามมานี้ ผมจะพูดถึงวัตถุประสงค์ก่อนการประหยัดภาษีใช่ไหมครับ? ใช่ครับ เพราะผมเชื่อว่า การลงทุนที่ดีนั้น ต้องสนใจที่วัตถุประสงค์ในการลงทุน และมองผลตอบแทนที่ได้รับจากการประหยัดภาษีเป็นเรื่องรองลงมา ไม่ใช่เรามองหาแต่ การลดภาษี จนลืมไปว่าวัตถุประสงค์ของการลงทุนที่แท้จริงของเราคืออะไร และแบบนั้นคงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องในการลงทุนอย่างแน่นอนครับ

สรุป

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะอยากวางแผนภาษี หรือประหยัดภาษีแค่ไหนก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึง คือ การเลือกใช้เครื่องมือในการประหยัดภาษีให้สอดคล้องกับความต้องการของเรา และที่สำคัญคือเราต้องมั่นใจด้วยว่า เราสามารถลงทุนตามวัตถุประสงค์ได้จริง เพื่อไม่ให้มีปัญหาชีวิตและปัญหาภาษีย้อนหลังครับ

คุณมีสิทธิลดหย่อนอะไรบ้าง?

ให้ iTAX shop ช่วยเปรียบเทียบตัวเลือกลดหย่อนภาษีที่ดีที่สุดให้คุณได้เลย!

ค้นหาตัวเลือกประหยัดภาษี