Contents

เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

106,693 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

หมายเหตุ : หากคุณหมายถึงสิทธิลดหย่อนประกันสุขภาพตนเอง ฿25,000 ดูที่ เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง

เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา หรือประกันสุขภาพพ่อแม่ ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดปีละ ฿15,000 สำหรับคนที่จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา1

เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดามีหลักเกณฑ์การลดหย่อนแตกต่างจากเบี้ยประกันสุขภาพตนเอง แต่เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่นเดียวกัน

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายให้ทั้งพ่อและแม่นั้นไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง รวมที่จ่ายให้ทุกคนสามารถใช้ลดหย่อนได้สูงสุดปีละไม่เกิน ฿15,000

ถ้าคู่สมรสของคุณไม่มีเงินได้ เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของคู่สมรสก็นำไปใช้หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดปีละไม่เกิน ฿15,000

ในกรณีที่คุณจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาร่วมกันพี่น้องคนอื่น สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะเฉลี่ยตามจำนวนพี่น้องที่จ่ายร่วมกัน เช่น จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาไปจริง ฿15,000 และมีคุณกับพี่น้องคนอื่นร่วมกันจ่ายทั้งหมดรวม 3 คน แต่ละคนจะมีสิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาได้คนละ ฿5,000 (เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ฿15,000 ÷ 3 คน)2

เงื่อนไขการรับสิทธิ

พ่อแม่เรา

คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้

  • คุณเป็นลูกแท้ๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อแม่ (ลูกบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน)
  • พ่อแม่มีรายได้ทั้ง ปีภาษี ไม่เกิน ฿30,000 (ถ้า ฿30,000 พอดีก็ยังไม่ผิดเงื่อนไข)
  • ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเกณฑ์อายุของพ่อแม่ (อายุเท่าไหร่ก็ได้)
  • อย่างน้อยต้องมีเราหรือพ่อแม่เราคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น
  • เป็นความคุ้มครองพ่อแม่อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
  • เป็นประกันภัยคุ้มครองการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ;
  • เป็นประกันภัยอุบัติเหตุที่คุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูกด้วย;
  • เป็นประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses); หรือ
  • เป็นประกันภัยแบบดูแลระยะยาว (Long Term Care)

พ่อแม่คู่สมรส

คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่คู่สมรสได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้

  • คู่สมรสไม่มีรายได้เลยตลอดปีภาษีนั้น
  • คู่สมรสของคุณเป็นลูกแท้ๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อแม่ (ลูกบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน)
  • พ่อแม่มีรายได้ทั้งปีภาษี ไม่เกิน ฿30,000 (฿30,000 พอดีก็ยังไม่ผิดเงื่อนไข)
  • ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเกณฑ์อายุของพ่อแม่ (อายุเท่าไหร่ก็ได้)
  • อย่างน้อยต้องมีเราหรือพ่อแม่เราคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น
  • เป็นความคุ้มครองพ่อแม่อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
  • เป็นประกันภัยคุ้มครองการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ;
  • เป็นประกันภัยอุบัติเหตุที่คุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูกด้วย;
  • เป็นประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses); หรือ
  • เป็นประกันภัยแบบดูแลระยะยาว (Long Term Care)

หลักฐานที่ต้องใช้

  • ใบเสร็จหรือหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันสุขภาพจากบริษัทประกัน

เรื่องที่มักเข้าใจผิดกันบ่อย

  • เบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายสำหรับทำประกันชีวิตให้พ่อแม่ ไม่สามารถใช้หักลดหย่อนภาษีได้ เพราะกฎหมายให้สิทธิที่เกี่ยวกับการทำประกันให้พ่อแม่เฉพาะเบี้ยประกันสุขภาพเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายสำหรับทำประกันชีวิตให้ตัวเองหรือคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้อยู่
  • บางคนเข้าใจผิดว่า ถ้าจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพให้ทั้งพ่อและแม่ก็สามารถลดหย่อนได้สูงสุด ฿30,000 (ลดหย่อน ฿15,000 ต่อพ่อหรือแม่หนึ่งคน) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้เสียภาษี 1 คนสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนนี้ได้ตามที่จ่ายจริงสำหรับ พ่อแม่ทุกคนรวมกัน สูงสุดไม่เกิน ฿15,000 เท่านั้น
  • บางคนเข้าใจผิดว่า ถ้าพ่อมีรายได้ทั้งปีภาษีไม่เกิน ฿30,000 แต่แม่มีรายได้ทั้งปีภาษีเกิน ฿30,000 จะนำเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่มาลดหย่อนภาษีไม่ได้เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะความจริงแล้วมีเพียงเบี้ยประกันสุขภาพของแม่เท่านั้นที่ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ แต่กฎหมายยังอนุญาตให้คุณนำเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อมาลดหย่อนได้อยู่

เช็กเงื่อนไขการใช้สิทธิ์ค่าเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ลดหย่อนภาษีแล้ว คุณสามารถค้นหาแผนประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีพ่อแม่ จากบริษัทประกันชั้นนำในไทยได้ที่ iTAX shop เลือกได้ทั้งความคุ้มครองและงบประมาณ


อ้างอิง

  1. ^

    ข้อ 2(61) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  2. ^

    ข้อ 1(4) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162)