Contents

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

78,682 views

โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ใช้ลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของ “เงินได้ที่ต้องเสียภาษี”1 (ไม่ว่าจะเอามารวมยื่นภาษีด้วยหรือไม่) และไม่เกิน ฿200,000 ต่อปี สำหรับคนที่ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ2 และอาจจะลดหย่อนได้สูงสุด ฿300,000 ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อน เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งใช้หลักเกณฑ์การลดหย่อนแตกต่างจากเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป

ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญตัวไหนดี?

มาตรวจสอบผลประโยชน์ของประกันชีวิตยี่ห้อต่างๆ กันไหม?

เปรียบเทียบแบบประกัน


วิธีกรอกค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญบนแอป iTAX

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ประกันชีวิตแบบบำนาญ’
  3. กรอกจำนวนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่จ่ายตลอดทั้งปี
  4. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วให้อัตโนมัติ


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

คนที่ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำเบี้ยประกันนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ไม่เกินจำนวนที่น้อยกว่าระหว่าง 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปี หรือ ฿200,000 ต่อปี ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่าก็ให้หักลดหย่อนตามนั้น

แต่ถ้าคุณยังใช้สิทธิ์หักลดหย่อน เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ไม่ครบ ฿100,000 คุณมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญบางส่วนไปหักลดหย่อนในฐานะเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปก่อน ดังนี้3

  • ส่วนแรก – เอาไปหักลดหย่อนแทนเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปจนครบ ฿100,000 ก่อน
  • ส่วนที่เหลือ – เอาไปหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญจนครบ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน ฿200,000

เช่น ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน ฿1,000,000 แล้วจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไป ฿250,000 ที่จริงแล้วจะหักได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน ฿150,000 เท่านั้น (15% x รายได้ ฿1,000,000)

ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป เราสามารถแบ่งเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนแทนเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปก่อนได้ ฿100,000 จากนั้นจึงนำเบี้ยประกันส่วนที่เหลืออีก ฿150,000 ให้นำไปหักลดหย่อนในฐานะเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญจริงๆ

ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนที่ได้รับสิทธิจากการซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญนี้เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้า กองทุน RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข. หรือ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน แล้วจะต้องไม่เกิน ฿500,000 ด้วย

เงื่อนไขการรับสิทธิ

เราจะสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของเรามาหักลดหย่อนได้ ถ้าเข้าครบเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้

  • กรมธรรม์ประกันชีวิตมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  • ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
  • จ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ โดยจะจ่ายเป็นจำนวนเงินเท่ากันทุกงวดหรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้
  • กำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เมื่อเรามีอายุตั้งแต่ 55 – 85 ปี หรือมากกว่านั้น
  • ต้องจ่ายเบี้ยประกันครบก่อนได้รับผลประโยชน์
  • แจ้งบริษัทประกันชีวิตว่าต้องการนำเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี (ดูช่องทางแจ้งขอใช้สิทธิของแต่ละบริษัท)

หลักฐานที่ต้องใช้

  • ใบเสร็จหรือหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกัน

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

โฆษณาประกันชีวิตมักจะบอกว่าคุณสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด ฿300,000 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นไปได้ แต่คุณจะสามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้จริงสูงถึง ฿300,000 ก็ต่อเมื่อคุณมีรายได้ตลอดทั้งปีอย่างน้อยประมาณ ฿1,333,333 หรือตกเดือนละประมาณ ฿111,111 และไม่ได้ซื้อประกันชีวิตแบบทั่วไปเลยแม้แต่บาทเดียว

หากคุณต้องการใช้ประกันชีวิตบำนาญเพื่อลดหย่อนภาษี และยังไม่รู้ว่าจะเลือกประกันบำนาญแบบไหนดี? มาทางนี้ เพราะ iTAX shop จะช่วยให้คุณได้เจอกับแผนประกันบำนาญที่คุณมองหา

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง

  1. ^

    ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 261) พ.ศ. 2558

  2. ^

    ข้อ 2(61) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  3. ^

    ข้อ 2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 194)