Contents
เกณฑ์เงินสด (Cash basis)
โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
เกณฑ์เงินสด (Cash basis) เป็นหลักเกณฑ์ทางบัญชีภาษีอากรในการรับรู้รายได้และรายจ่ายเพื่อคำนวณภาษีรูปแบบหนึ่ง โดยปกติจะใช้กับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีหลักการสำคัญคือ จะรับรู้เป็นรายได้หรือรายจ่ายเมื่อรายการดังกล่าวเกิดขึ้นจริงแล้วเท่านั้น กล่าวคือ หากผู้เสียภาษีรับเงินปีภาษีใดจะเป็นเงินได้ของปีภาษีนั้น และจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนปีภาษีใด จะเป็นค่าใช้จ่าย/ค่าลดหย่อนของปีภาษีนั้น
การใช้เกณฑ์เงินสดจึงแตกต่างจากเกณฑ์สิทธิ์ (Accrual basis) ตรงที่เกณฑ์สิทธิ์สามารถรับรู้เป็นรายได้หรือรายจ่ายได้แม้ว่ารายการเหล่านั้นจะยังไม่เกิดขึ้นจริงก็ตาม เกณฑ์เงินสดจึงมีความเรียบง่ายกว่าเกณฑ์สิทธิ์
เกณฑ์เงินสด สำหรับคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้บุคคลธรรมดาต้องยื่นภาษีเพื่อแสดงเงินได้ที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว1
ดังนั้น การรับรู้รายได้ตามเกณฑ์เงินสด จึงมีหลักการสำคัญคือ รับเงินปีภาษีใดเป็นเงินได้ของปีภาษีนั้น
เช่น หาก นาย ก. รับงานในปี 2566 และได้ส่งมอบงานในปีนี้จนครบถ้วนแล้ว แต่ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างในปี 2567 ซึ่งเป็นปีถัดไป กรณีนี้ ค่าจ้างของ นาย ก. จะเป็นเงินได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีของปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการรับเงินจริง ไม่ใช่ปี 2566 ซึ่งเป็นเวลาที่ส่งมอบงานเพราะไม่เกิดการรับเงินขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ นาย ก. รับงานในปี 2566 และได้รับเช็คค่าตอบแทนการทำงานโดยลงวันที่ตามเช็คให้สามารถขึ้นเงินได้ภายในปี 2566 ค่าตอบแทนการทำงานดังกล่าวยังคงเป็นเงินได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีของปี 2566 เพราะนาย ก. มีสิทธินำเช็คไปขึ้นเงินได้แล้ว ดังนั้น แม้ นาย ก. จะนำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินในปี 2567 ก็ไม่ทำให้เงินค่าตอบแทนดังกล่าวกลายเป็นเงินได้ของปี 2567 แต่อย่างใด
กล่าวโดยสรุปคือ หากมีรายการใดเกิดขึ้นจริงในปีภาษีนั้นๆ บุคคลธรรมดาก็ย่อมต้องนำมายื่นภาษีด้วย ในทางตรงกันข้าม หากรายการใดไม่ได้เกิดขึ้นในปีภาษีดังกล่าว บุคคลธรรมดาก็ยังไม่มีหน้าที่ต้องนำมายื่นภาษีแต่อย่างใด เนื่องจากเกณฑ์เงินสดจะรับรู้เป็นรายได้หรือรายจ่ายเฉพาะรายการที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น
เกณฑ์เงินสด สำหรับคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
แม้ว่าโดยปกติ การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องใช้เกณฑ์สิทธิเป็นหลัก2 แต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นก็ผู้เสียภาษีก็สามารถขออนุมัติต่ออธิบดีเพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิ และวิธีการทางบัญชีเพื่อคำนวณรายได้และรายจ่ายก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป3