Contents

เกณฑ์สิทธิ์ (Accrual Basis)

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เกณฑ์สิทธิ์ (Accrual basis) เป็นหลักเกณฑ์ทางบัญชีภาษีอากรในการรับรู้รายได้และรายจ่ายเพื่อคำนวณภาษีรูปแบบหนึ่ง ใช้สำหรับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมีหลักการสำคัญคือ ให้ผู้เสียภาษีนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้นั้นแม้จะยังไม่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น กล่าวคือ ผู้เสียภาษีอาจต้องรับรู้รายได้หรือรายจ่ายในทางภาษีแล้ว แม้ว่ากิจการจะยังไม่ได้รับเงินเข้าบัญชีหรือยังไม่ได้ชำระรายจ่ายที่เกิดขึ้นก็ตาม

การใช้เกณฑ์สิทธิ์จึงแตกต่างจากเกณฑ์เงินสด (Cash basis) ตรงที่เกณฑ์เงินสดจะรับรู้เป็นรายได้หรือรายจ่ายก็ต่อเมื่อรายการเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงแล้วเท่านั้น เกณฑ์สิทธิ์จึงมีความซับซ้อนกว่าเกณฑ์เงินสด

เกณฑ์สิทธิ์ สำหรับคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

ประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้ผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้นั้นแม้จะยังไม่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น 1

เช่น หาก บริษัท A รับงานในปี 2566 และได้ส่งมอบงานในปีนี้จนครบถ้วนแล้ว แต่ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างในปี 2567 ซึ่งเป็นปีถัดไป กรณีนี้ ค่าจ้างของ บริษัท A จะเป็นเงินได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ได้ส่งมอบงานครบถ้วนและมีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญา ไม่ใช่ปี 2567 ซึ่งเป็นเวลาที่ได้รับโอนเงินจริง

ส่วนกรณีรายจ่ายตามเกณฑ์สิทธิ์ก็จะดูตามรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้นั้นแม้จะยังไม่ได้จ่าย เช่น หากมีค่าไฟฟ้าของเดือนธันวาคม 2566 แต่ชำระค่าไฟฟ้าตามบิลดังกล่าวในเดือนมกราคม 2567 ค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2566 แม้ว่าจะชำระจริงในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2567 ก็ตาม


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 65 ประมวลรัษฎากร